'สุพัฒนพงษ์' มั่นใจ 2 เดือนรัฐคุมโควิดอยู่ เตรียมแผนปลุกเศรษฐกิจมี.ค.นี้
"สุพัฒนพงษ์" รายงานความพร้อม "เราชนะ" ให้นายกฯรับทราบ เผยคลังชงเข้าครม.แน่สัปดาห์หน้า มั่นใจ 2 เดือนคุมโควิดอยู่ เตรียมแผนปลุกเศรษฐกิจมี.ค.นี้ เดินหน้าจูงใจนักลงทุนต่างชาติลงทุนไทย พร้อมใช้มาตรการกระตุ้นศก.ในประเทศ ไร้แผนให้สินเชื่อท่องเที่ยวเพิ่ม
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยหลังหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมว่าได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบเกี่ยวกับความพร้อมของโครงการเยียวยาประชาชนในโครงการ "เราชนะ" ซึ่งในสัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังจะเสนอรายละเอียดทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ส่วนข้อเสนอจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และฝ่ายค้านที่ระบุว่าให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้มากกว่า 3 เดือนนั้นนายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า การเยียวยาครั้งนี้จะช่วยเหลือ 2 เดือนก่อนเพราะขณะนี้สถานการณ์การควบคุมโรคระบาดทำได้ดีขึ้น มีจำนวนผู้หายป่วยต่อวันมากกว่าผู้ป่วยใหม่ ซึ่งเชื่อมั่นว่าในครั้งนี้เราสามารถควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นและมั่นใจว่าจะใช้เวลาไม่เกินเดือน ก.พ. - กลางเดือน มี.ค.2564 นี้ซึ่งเป็นผลมาจากความรู้ และความพร้อมทางการแพทย์และการร่วมมือกับประชาชนทำให้สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดีมากกว่าเดิม
สำหรับแผนการบริหารเศรษฐกิจในปีนี้ก็ยังคงเน้นในการชักจูงนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยในช่วงที่ยังมีโควิด-19 ตนก็ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำกิจกรรม VDO Conference กับนักลงทุนและนักธุรกิจในบริษัทต่างๆเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเชิญชวนมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำต่อเนื่องเพื่อจะให้เกิดการลงทุนในทันทีที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น
ในส่วนของการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยใช้โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 - 4 เพิ่มเติมตามข้อเสนอนั้นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานบอกว่าต้องมีการประเมินความจำเป็นอีกครั้ง เพราะขณะนี้มีความไม่แน่นอนสูงในหลายเรื่อง ตอนนี้ต้องขอประเมินสถานการณ์ในช่วงสั้นๆ และออกมาตรการเป็นช่วงเวลาสั้นๆแล้วปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เหมาะสม หากมีความจำเป็นต้องใช้ในช่วงเวลานั้นก็จะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้ง
สำหรับมาตรการท่องเที่ยวในขณะนี้ยังไม่มีการออกมาตรการเพิ่มเติมยังคงใช้มาตรการที่มีอยู่คือเราเที่ยวด้วยกัน และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งสามารถที่จะเข้าถึงได้แต่ต้องไปติดตามพูดคุยกับสถาบันการเงินโดยไม่ได้เป็นการช่วยเหลือเป็นการทั่วไปซึ่งขอให้ผู้ประกอบการแต่ละรายที่ต้องการสินเชื่อไปพบกับสถาบันการเงินต่างๆด้วยตัวเอง