"ประยุทธ์" ดันลงทุน “บีซีจี” ยกระดับวาระแห่งชาติ

"ประยุทธ์" ดันลงทุน “บีซีจี”  ยกระดับวาระแห่งชาติ

รัฐบาลมีแผนเร่งผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี โมเดล) ซึ่งเป็นทิศทางการลงทุนในอนาคต โดยจะยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติต่อการไทยแลนด์ 4.0 ที่หวังจะช่วยระดับเศรษฐกิจในระยะยาว

เมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี โมเดล) ครั้งแรกของปี 2564 ที่ประชุมเห็นชอบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วย “บีซีจี โมเดล” ระยะเวลา 5 ปี (2564-2569) โดยตั้งเป้าหมายจะประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติเรื่องที่ 2 ต่อจาก “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติไปก่อนหน้านี้ จึงได้สั่งการในที่ประชุมให้ไปเร่งขับเคลื่อนเรื่องนี้

สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องนี้ จะเน้นการทำเกษตรบีซีจีให้เกิดขึ้นก่อนเป็นลำดับแรก เพราะไทยมีพื้นที่เกษตรและจำนวนประชาชนที่เป็นเกษตรกรเป็นจำนวนมาก สามารถพัฒนาด้านการเกษตรให้เกิดประโยชน์มากขึ้นได้ โดยการนำโมเดลเศรษฐกิจแบบบีซีจีมาใช้ จะทำให้เกิดการทำเกิดการเปลี่ยนแปลภาคเกษตรจากเดิมที่ทำมากได้น้อยมาเป็นการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นได้ สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้มากขึ้น และยังสอดคล้องกับวาระของโลกที่เน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

“กลไกการขับเคลื่อนจะมีอนุกรรมการไปขับเคลื่อนเป้าหมาย มีกลไก กฎหมาย กฎระเบียบ ทุน จะทำแซนด์บ็อกซ์ให้คนมานำเสนอ เพื่อนำไปสู่การลงทุนในประเทศ เพราะตอนนี้เรื่องค่าเงินบาทก็ต้องระวังอย่างที่สุด ไม่ให้แข็งค่าเกินไป ดังนั้นการลงทุนต้องเพิ่มมากขึ้นในกิจกรรมที่ว่านี้ จึงได้เน้นย้ำฝ่ายเศรษฐกิจรับไป โดยตอนนี้มีเงินบาทมากพอสมควรในประเทศไทย แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะมีการลงทุน แต่เมื่อเกิดโควิดขึ้นมีการลงทุนลดลง จึงต้องเตรียมหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ มากขึ้น และรัฐบาลก็พร้อมจะนำร่องในเรื่องนี้”

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า บีซีจีโมเดลถือเป็นอุตสสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศ เป็นส่วนหนึ่งที่เราจะใช้ผลักดันเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางโลก โดยแผนขับเคลื่อนของรัฐบาลจะทำให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ภายใต้บีซีจี 

ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบนี้เพื่อสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อมและช่วยดูแลทรัพยากรให้การใช้มีความคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งเป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนที่สอดคล้องกับทิศทางของโลกที่จะช่วยกันลดภาวะโลกร้อนและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกลงซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะเดินหน้าไป

ในส่วนของโครงการลงทุนในลักษณะ Quick Win เป็นเรื่องที่จะเร่งให้เกิดในปีนี้โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะบีซีจีเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้อุตสาหกรรมต่างๆมีการปรับเปลี่ยนเป็นไปในทิิศทางที่ทำให้เศรษฐกิจโลกสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ประโยชน์ของการมีอุตสาหกรรมใหม่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้โลกสามารถความสมดุลย์ไว้ได้และไม่กระทบกับสิทธิประโยชน์

ทั้งนี้บีซีจีถือว่ามีความสำคัญต่อประเทศสูงทั้งในมิติด้านสังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการจ้างงานมากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนการจ้างงานรวม มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21% ของจีดีพี ครอบคลุม 4 สาขา คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าเป็น 4.4 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น24% ของจีดีพีในอีก 5 ปีข้างหน้า 

161069021426

ทั้ง 4 สาขายุทธศาสตร์ดังกล่าวสามารถพัฒนาอย่างอิสระ แต่การเชื่อมโยงและพัฒนาไปพร้อมกันทั้ง People-Planet-Profit จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีแนวทางในการดำเนินการที่สำคัญในแต่ละสาขา ได้แก่ 

1. การเกษตรและอาหาร โดยมีเป้าหมายผลิตภัณฑ์อาหารมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าจีดีพีจาก 0.6 ล้านล้านบาท เป็น 0.9 ล้านล้านบาท ด้วยการพัฒนาต่อยอดจากพื้นฐานความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการยกระดับคุณภาพ สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารสำหรับแต่ละช่วงวัย หรือการพัฒนาเป็นสารประกอบมูลค่าสูง (Functional Ingredient) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดเติบโตอย่างมาก 

2.สุขภาพและการแพทย์ ให้ความสำคัญกับนโยบายป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพด้านการแพทย์ (Preventive Medicine) มากกว่านโยบายด้านการรักษา การขยายบริการด้านสุขภาพไปสู่การให้บริการทางการแพทย์เฉพาะบุคคล (Precision Medicine) ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรม รวมถึงการสร้างแพล็ตฟอร์มการวิจัยทางคลินิกของประเทศประกอบการสอดประสานการทำงานกับฝ่ายกำกับดูแลของรัฐ (Regulatory Body) ด้วยแนวทางดังกล่าว รัฐจะสามารถเพิ่มมูลค่าจีดีพีในหมวดนี้ เป็น 90,000 ล้านบาท

3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพมูลค่าจีดีพี ของสาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ มีมูลค่ารวมกันประมาณ 9.5 หมื่นล้านบาท ในกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงจากนโยบายภาครัฐ ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 30% และใช้ศักยภาพในการพัฒนาพลังงานทดแทนจากอุตสาหกรรมและครัวเรือให้มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าจีดีพีมากกว่า 2.6 แสนล้านบาท

4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยการท่องเที่ยวเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของประเทศด้วยมูลค่าจีดีพีประมาณ 1 ล้านล้านบาท และมีศักยภาพในสร้างมูลค่าเพิ่มเติม เช่น การกระจายแหล่งท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เน้นตลาดคุณภาพร่วมกับการชูอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าจีดีพีได้เป็น 1.4 ล้านล้านบาท