'สงครามครั้งที่ 2' ของไทยกับโรค 'โควิด-19'

'สงครามครั้งที่ 2' ของไทยกับโรค 'โควิด-19'

ไทยกำลังเผชิญศัตรูหน้าเดิม "โควิด-19" ที่กลับมาประกาศศึกสงครามครั้งที่ 2 แต่รัฐบาลไม่ได้ออกมาตรการเข้มงวดเท่าการระบาดรอบแรก จึงออกมาในลักษณะล็อกดาวน์ที่ไม่ใช่ล็อกดาวน์ เนื่องจากกังวลต่อเศรษฐกิจไทย และออกมาตรการมาบรรเทาและเยียวยาประชาชน

ปี 2020 ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถประกาศชัยชนะในสงครามระหว่างมนุษยชาติกับโรคโควิด-19 เพราะสามารถคุมการแพร่ระบาดได้ในระดับต้นๆ ของโลก ภายหลังการตัดสินใจล็อกดาวน์และจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. โดยเริ่มทยอยเปิดทีละขั้นตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.และเปิดเต็มรูปแบบให้การดำเนินชีวิตและธุรกิจส่วนใหญ่กลับเข้าใกล้ความเป็นปกติในวันที่ 1 ก.ค. ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 พลิกฟื้นได้ +6.5% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

แต่แล้ว…ในช่วงสองสัปดาห์ก่อนเข้าสู่ปีใหม่ ไทยกลับถูกศัตรูหน้าเดิมอย่างไวรัสอุบัติใหม่เข้าโจมตีได้อีกครั้ง มีรายงานการติดเชื้อในประเทศจำนวนมาก เริ่มจากสมุทรสาครและลามไปใน 60 จังหวัด ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 10,000 ราย (ข้อมูล ณ 12 ม.ค.) โดยการแพร่ระบาดระลอกใหม่ต่างจากรอบแรกที่ศูนย์กลางการติดเชื้ออยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมและแรงงานต่างประเทศ ทำให้แพร่กระจายเร็วกว่าและจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า

แต่กระนั้น รัฐบาลก็ไม่ได้ออกมาตรการเข้มงวดเท่าการระบาดรอบแรก เพราะนอกจากความเป็นห่วงในวิกฤติสาธารณสุขแล้ว รัฐยังมีโจทย์ด้านเศรษฐกิจซึ่งหมายถึงความอยู่รอดของธุรกิจและการทำมาหากินของประชาชน ที่ต้องหาสมดุลว่าการควบคุมแค่ไหนจึงไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข นั่นคือ มีจำนวนเตียงรวมทั้งแพทย์และพยาบาลเพียงพอในการดูแลรักษาผู้ป่วย

ขณะเดียวกันก็ต้องลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้รอบนี้รัฐบาลใช้มาตรการลักษณะ ล็อกดาวน์ที่ไม่ใช่ล็อกดาวน์ คือไม่ปิดเมืองเต็มรูปแบบ แต่ปิดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น สถานบันเทิง สวนสนุก ฟิตเนส เป็นต้น อีกทั้งยังแบ่งโซนตามความเสี่ยงเพื่อดำเนินมาตรการที่เข้มงวดแตกต่างกันไป ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีขอความร่วมมืออย่างสูงสุดจากภาคธุรกิจและประชาชนให้ลดการเดินทางและรักษาสุขอนามัย

แน่นอน เมื่อเกิดการระบาดระลอกสอง แทนที่รัฐบาลจะได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลับต้องออกมาตรการเยียวยาซ้ำ ก่อนหน้านี้ภาครัฐตั้งงบประมาณไว้ 6 แสนล้านบาท และปีที่แล้วใช้เม็ดเงินไปทั้งสิ้นเพียง 2 แสนล้านบาท ผ่านโครงการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น เราไม่ทิ้งกัน เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน เป็นต้น ทำให้ปีนี้รัฐบาลยังมีกระสุนอยู่

นอกจากนี้ มาตรการที่คงต้องเข้าเสริมกำลังคือ การผ่อนคลายด้านการเงิน จึงมีโอกาสที่คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% จากปัจจุบันที่ 0.50% เป็น 0.25% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดอีกครั้ง นอกเหนือนี้ อาจจะมีการใช้มาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูของธนาคารพาณิชย์ แต่คาดว่า ถ้ายังประคับประคองสถานการณ์ได้ ไม่น่าจะมีการลดดอกเบี้ยลงไปต่ำกว่านี้ เพราะดอกเบี้ย 0% หรือติดลบ ยังไม่มีความจำเป็น และไม่เหมาะสมกับผู้ออมในไทย

ทุกการสู้รบย่อมมีบาดแผล และรอยแผลเป็นที่จะตามมาหลังการต่อสู้ในสงครามครั้งนี้ ก็คือ หนี้สิน ปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยใกล้เคียง 60% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับสูงสุดภายใต้กรอบวินัยทางการเงินที่ตั้งไว้ และแม้ในอนาคต ระดับหนี้จะเกินกรอบนี้ไปบ้าง ก็ไม่น่าใช่เรื่องคอขาดบาดตายตราบที่การก่อหนี้นั้นสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ดังที่เห็นในประเทศอื่นๆ ที่หนี้สาธารณะแตะ 100% หรือมากกว่าไปก่อนหน้าแล้วด้วยซ้ำ อีกหนึ่งรอยแผลคือ หนี้ครัวเรือน โดย ณ สิ้นสุดไตรมาส 3/2020 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 86% ของ GDP และอาจขยับขึ้นเกิน 90% ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจหดตัวและมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

หากโยงถึงการลงทุน ในช่วง 1-2 ปีนี้ หุ้นไทยเหมือนจะหมดเสน่ห์ จากการฟื้นตัวในครึ่งหลังของปีที่แล้วก็ด้อยกว่าตลาดอื่น เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากทำให้ฟื้นตัวช้า และองค์ประกอบของหุ้นก็ไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมในความนิยมของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม หุ้นไทยยังไม่เสื่อมมนต์ขลัง เพียงแต่ต้องรอวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่คาดว่าชาวไทยครึ่งประเทศจะได้รับภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ การลงทุนในตลาดหุ้นไทยต้องอาศัยการจัดการเชิงรุก เลือกลงทุนในธุรกิจที่สามารถปรับตัวไปตามกระแสของโลกและมีความยืดหยุ่นต่อความผันผวนต่างๆ ได้