ก.ล.ต.เฮียริ่งเพิ่ม'บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล'
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นการเพิ่ม “บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” เป็นธุรกิจใหม่ และการป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือกระทำความผิด
เพื่อให้มีการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสมและคุ้มครองผู้ลงทุน ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะเพิ่ม “ผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล” เป็นธุรกิจประเภทใหม่ตาม พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ และการป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือกระทำความผิด พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset custodial wallet provider) ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่าตั้งแต่ 15 ล้านบาทขึ้นไป* ต้องใช้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศซึ่งไม่อยู่ภายใต้กฎหมายไทยและการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลของไทย พร้อมกันนี้ จากการหารือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่า สินทรัพย์ดิจิทัลอาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือกระทำความผิดทางกฎหมาย เช่น การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และการฟอกเงิน เป็นต้น เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ทำธุรกรรมได้ รวมทั้งมีสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซีประเภทที่สามารถปกปิดข้อมูลการทำธุรกรรมได้ (privacy coins) ซึ่งอาจนำไปใช้กระทำความผิดได้ง่าย
ดังนั้น เพื่อให้มีการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสมและป้องกันไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด หรือเป็นช่องทางในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและยึดอายัดทรัพย์สินของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะกำหนดแนวทางกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบหลักการในการประชุมครั้งที่ 15/2563 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 ดังนี้
(1) ประกาศเพิ่ม “ธุรกิจผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล” เป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใหม่ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตต่อ ก.ล.ต. ก่อนการให้บริการ โดยต้องมีคุณสมบัติและดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
(2) กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ต้องทำหน้าที่เป็นผู้บริการเปิดกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet provider) และให้บริการแก่ลูกค้าที่เปิดกระเป๋ากับตนเอง หรือที่เปิดกระเป๋ากับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็น wallet provider รายอื่น เพื่อให้สามารถระบุตัวตนลูกค้าที่ทำธุรกรรมในระบบได้
(3) ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการซื้อขาย privacy coins เพื่อให้สามารถติดตามธุรกรรมที่เกิดขึ้นในระบบได้
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางกำกับดูแลดังกล่าว ไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=690 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail : [email protected] [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564
หมายเหตุ : *ก.ล.ต. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่มีมูลค่าไม่ถึง 15 ล้านบาท สามารถเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลเองได้ แต่หากมีมูลค่าตั้งแต่ 15 ล้านบาทขึ้นไป ให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลูกค้าฝากไว้ส่วนใหญ่ไปฝากกับผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset custodian) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564