OR เตรียมชงบอร์ดเคาะดึงกรีนชูจัดสรรรายย่อย

OR เตรียมชงบอร์ดเคาะดึงกรีนชูจัดสรรรายย่อย

โออาร์ เล็งเสนอคณะกรรมการ พิจารณานำหุ้นกรีนชู และหุ้นสถาบัน อีก 51 ล้านหุ้น จัดสรรให้รายย่อยเพิ่ม รองรับความต้องการ จับตาราคาไอพีโอวันนี้ (3ก.พ.)คาดหุ้นละ 18 บาท ขณะประชาชนทะลุล้านคนลุยจองซื้อแล้ว

จากกระแสความสนใจจองซื้อหุ้นบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)หรือ โออาร์ ยังแรงต่อเนื่องตั้งแต่เปิดให้รายย่อยจองซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 24 ม.ค. และปิดให้รายย่อยจองซื้อในตอนเที่ยงวานนี้ (2 ก.พ.)

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) เปิดเผยว่า หลังจากสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อหุ้นโออาร์เมื่อวันที่ 2 ก.พ.นั้น ทางโออาร์ยังคงรอข้อมูลสรุปยอดผู้จองซื้อที่ชัดเจนผ่าน 3 ธนาคาร ว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่เบื้องต้นได้รับรายงานว่า มีผู้สนใจจองซื้อจำนวนมาก

รวมทั้งขณะนี้ทางโออาร์ก็อยู่ระหว่างพิจารณานำหุ้นกรีนชู และ หุ้นสถาบัน อีกจำนวน 51 ล้านหุ้นมาจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการ (COMMITTEE) ก่อน จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ ในวันที่ 3 ก.พ.นี้ จะประกาศราคา IPO ที่ชัดเจน จากที่กำหนดช่วงราคาอยู่ที่ 16-18 บาทต่อหุ้น และจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับจัดสรรหุ้น และจำนวนหุ้นที่ชัดเจนผ่าน 3 ธนาคารที่ได้ยื่นสิทธิจองซื้อ ภายในวันที่ 6 ก.พ. นี้

รายงานข่าวแจ้งว่าประชาชนและนักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อหุ้นโออาร์จำนวนมาก ซึ่งล่าสุดยอดจองซื้อทะลุ 1 ล้านรายแล้ว ซึ่งถือเป็นหุ้นที่มีจำนวนนักลงทุนรายย่อยจองซื้อมากสุดอีกตัวหนึ่ง ซึ่งผู้จองซื้อจะได้หุ้นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านหุ้นต่อคน เพราะ จำนวนหุ้นที่จัดสรรให้กับนักลงทุนรายย่อยอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านหุ้น  ประกอบด้วยหุ้นที่จัดสรรให้ 595.7 ล้านหุ้น  หุ้นกรีนชู 390 ล้านหุ้น และหุ้นจาก4 กองทุน ที่มีการยกเลิกและลดการซื้อหุ้น อีกจำนวน 51 ล้านหุ้น 

ชี้วิธีขายทำรายย่อยเข้าถึงง่าย

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ประชาชนและนักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อหุ้นORจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแผนการกระจายหุ้นให้นักลงทุนทุกคนที่จองซื้อ โดยจะจัดสรรหุ้นโดยวิธี วิธี Small Lot First หรือ ผู้จองซื้อที่จองซื้อจำนวนน้อยจะได้รับการจัดสรรก่อน โดยจะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้จองซื้อรายย่อยแต่ละรายในรอบแรกเป็นจำนวน 300 หุ้น และจะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้จองซื้อรายย่อยแต่รายในรอบถัดไป จำนวนรอบละ 100 หุ้นจนกว่าหุ้นจะหมด ทำให้กระจายหุ้นให้กับนักลงทุนได้จำนวนมาก

รวมถึงผู้ที่ไม่มีบัญชีซื้อขาย(เทรด)หุ้นยังสามารถจองซื้อหุ้นได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเมื่อไม่มีบัญชีเทรดหุ้นจะมีความยุ่งยาก ทำให้อนาคตก็จะต้องมีการเปิดบัญชีเทรดหุ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ทำให้มีฐานนักลงทุนเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์)ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้จากที่ประชาชนและนักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อหุ้นจำนวนมาก นั้น ทำให้คาดว่าราคาหุ้นไอพีโอ ของ OR จะอยู่ที่ 18 บาท จากราคาจองที่ 16-18 บาท และเชื่อว่าวันแรกที่หุ้นORเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 11 ก.พ.2564 จะสามารถสูงกว่าราคาไอพีโอ ได้ เนื่องจาก ราคาหุ้นที่ 18 บาท ถือเป็นราคาเหมาะสมและเป็นราคาที่ไม่สูง แต่จะสามารถปรับตัวขึ้นเหนือราคาจองเท่าไหร่นั้น อาจจะตอบยาก เพราะ มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อราคาหุ้น แต่ในด้านผลการดำเนินงานปีนี้ คาดว่าจะยังคงเติบโต จากการขยายสาขา และยอดขายยังดีอยู่ ขณะที่ธุรกิจปั๊มน้ำมันจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน จากราคาน้ำมันปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้จำนวน 54,000 ล้านบาท จำนวน 3,000 ล้านหุ้น (รวมกรีนชู ราคาหุ้นไอพีโอที่ 18 บาท ) เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 791.46 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะทำให้บริษัทได้รับเงินจากการขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้จำนวน 53,208.53 ล้านบาท เพื่อนำไปขยายธุรกิจในช่วงปี 2564-2568 ดังนี้   คือ 1. การขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน 13,300 ล้านบาท , การขยายธุรกิจสำหรับการตลาดพาณิชย์ 3,800 ล้านบาท ,ลงทุนในคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้าธุรกิจน้ำมัน 8,500 ล้านบาท ,ขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก 9,800 ล้านบาท ,ลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ 5,000 – 9,500 ล้านบาท และใช้เป็น เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และหรือชำระคืนเงินกู้ยืม(ถ้ามี) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการของบริษัทฯ และบริษัทย่อย  679 – 8,309 ล้านบาท 

พิจารณาราคาตามพื้นฐานหุ้น

ก่อนหน้านี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือPTT กล่าวถึงอนาคตการเติบโตของ โออาร์ หลังแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกไปจากปตท.ว่า แนะนำให้นักลงทุนพิจารณาจากพื้นฐานทางธุรกิจของโออาร์เป็นหลัก ก่อนตัดสินใจเป็นเจ้าของหุ้นโออาร์ซึ่งกรณีที่นักลงทุนหลายรายกังวลว่า หลังจากการขายหุ้น IPO ของโออาร์แล้ว อาจส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นไปติดดอย เหมือนกับหุ้น IPO ที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นเมื่อช่วงปลายปี 2563 นั้น ในส่วนของความเคลื่อนไหวราคาหุ้น เชื่อว่าคงเป็นการปรับขึ้นลงตามสภาวะของตลาดที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา

ดังนั้น ปตท.ในฐานะบริษัทแม่ ก็เชื่อมั่นในพื้นฐานการเติบโตทางธุรกิจของอาร์ ที่มีความแข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีกโดยโออาร์ มีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ทั้งในส่วนของธุรกิจน้ำมัน กว่า 40% เป็นอันดับที่ 1 ของตลาด ยังห่างจากอันดับสองที่มีมาร์เก็ตแชร์ กว่า 10% หลายเท่าตัว และมาร์เก็ตแชร์ของธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ก็เป็นอันดับที่ 1 ของตลาด อีกทั้ง สัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) ในส่วนของธุรกิจ Non-Oil อยู่ที่ประมาณ 25% หรือกว่า 3,000 ล้านบาท นับว่ามีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดในตลาดเช่นกัน

สำหรับกลยุทธ์การเติบโตของ “โออาร์” ก็มีชัดเจนจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ ไปขยายการเติบโตใน 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจน้ำมัน ,ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ หรือธุรกิจ Non-Oil และธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งในทั้ง 3 ส่วนของธุรกิจหลักจะยังเติบโตขึ้น แต่ที่จะเห็นการเติบโตมากขึ้น จะเป็นในส่วนของ ธุรกิจ Non-Oil และธุรกิจต่างประเทศ โดยจะใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของโออาร์ เจาะเข้าไปหาโอกาสลงทุนในตลาดอาเซียนและจีน มากขึ้น ซึ่งในส่วนของธุรกิจ Non-Oil ต่อไปก็จะเห็นโอกาสการทำดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A)และการร่วมลงทุน (Joint Venture) กับพันธมิตรท้องถิ่นในต่างประเทศมากขึ้น

ลุยแผนโตต่างประเทศ

ส่วนแผนธุรกิจในต่างประเทศจะเน้นขยายไปยังอาเซียนและจีน ในประเทศที่มีศักยภาพการเติบโต ซึ่งวางเป้า 5 ปีข้างหน้า จะมีสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมัน เป็นกว่า 600 แห่ง จากกว่า 300 แห่งในปัจจุบัน และร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน เพิ่มเป็น 500-600 แห่งจากราว 270 แห่งในปัจจุบัน และยังมองหาโอกาสใหม่จากการทำดีลร่วมทุน (JV) หรือซื้อกิจการ (M&A) เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่ได้ร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล เปิดร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ในเวียดนาม ไปแล้ว 1 สาขา และมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มเติม