'อารยะขัดขืน'เมียนมาต้านอำนาจรัฐประหาร

'อารยะขัดขืน'เมียนมาต้านอำนาจรัฐประหาร

'อารยะขัดขืน'เมียนมาต้านอำนาจรัฐประหาร โดยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ประกาศว่า "เราขอปฏิเสธที่จะกระทำตามคำสั่งใดๆ จากกองทัพที่ก่อการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน"

ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในเมียนมายังคงรุนแรงแต่การรัฐประหารของกองทัพสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนในประเทศ ล่าสุด พนักงานโรงพยาบาล 70 แห่งในเมียนมาพร้อมใจกันหยุดงานเพื่อประท้วงและต่อต้านการรัฐประหาร ทำให้เกิดคำถามว่า การเคลื่อนไหวด้วยสันติวิธีแต่สร้างผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤตสาธารณสุขแบบนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในประเทศนี้หรือไม่

กลุ่ม “Myanmar Civil Disobedience Movement” เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ควานนี้ (3ก.พ.)ว่า พนักงานของโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านการแพทย์ 70 แห่งใน 30 เมืองทั่วเมียนมา พากันนัดหยุดงานเพื่อประท้วงกองทัพที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล และว่า การที่กองทัพได้ก่อรัฐประหารในครั้งนี้ ส่งผลให้ประชาชนชาวเมียนมาเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้นในช่วงที่โรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด

“เราขอปฏิเสธที่จะกระทำตามคำสั่งใดๆ จากกองทัพที่ก่อการรัฐประหาร ซึ่งเรามองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน” แถลงการณ์ระบุ

กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลเมื่อวันจันทร์(1ก.พ.)ที่ผ่านมา พร้อมกับควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำคนอื่นๆ ทั้งยังประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยกองทัพได้มอบอำนาจการปกครองให้กับนายพลมิน อ่อง หล่าย พร้อมทั้งอ้างเหตุผลในการก่อรัฐประหารในครั้งนี้ว่า เกิดจากการทุจริตในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้พรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซูจี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย

นอกจากบุคลากรในวงการแพทย์จะเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอำนาจกองทัพแล้ว นายแบบชื่อดังของเมียนมา "ไป่ ตะขู่น"ก็โพสต์ข้อความต่อต้านการรัฐประหาร พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยซูจี และตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเอ็นแอลดีเป็นแกนนำ ทั้งยังติดแฮชแท็กถึงองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ

เนื่้อหาในเพจเฟซบุ๊คของนายแบบชื่อดัง “ไป๋ ทากุล” (ไป่ ตะขู่น) ของเมียนมาระบุว่า “เราขอประณามอย่างรุนแรงต่อการรัฐประหาร เราเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจี ประธานาธิบดี คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาที่ได้รับการเลือกตั้งในทันที และเราเรียกร้องให้เคารพผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2563 พร้อมทั้งเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่มีพรรคเอ็นแอลดีเป็นแกนนำ”

นอกจากนั้น ท้ายโพสต์ยังติดแฮชแท็กอาทิ #SaveMyanmar , #releaseaungsansuukyi , #US , #UN , #PresidentBiden ฯลฯ

ไป๋ ทากุล เป็นนายแบบชื่อดังของเมียนมา โดยเฉพาะในหมู่สาว ๆ ในประเทศไทย ปีที่แล้วไป๋ ทากุล ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาให้เป็นทูตการท่องเที่ยวของเมียนมาในประเทศไทย ส่วนเพจเฟซบุ๊คของไป๋ ทากุล มีผู้ติดตาม 965,768 คน ส่วนโพสต์ประณามการรัฐประหาร มีคนเข้ามากด Like และแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีชาวเมียนมากว่าล้านคนพากันโหลดแอพพลิเคชั่น “Bridgefy”(บริดจ์ไฟ)เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีฐานอยู่ในเม็กซิโก ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแอพฯฉุกเฉินยอดนิยม ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถสื่อสารกับเพื่อนและครอบครัว ในกรณีที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

โดยใช้ระบบ “Bluetooth Mesh System” ในการค้นหาคนที่เล่นบริดจ์ไฟเหมือนกันในรัศมี 100 เมตร และเชื่อมต่อกันในห้องแชตสาธารณะ โดยไม่ต้องพึ่งอินเทอร์เน็ต หรือสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เช่น กรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และในเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่ฮ่องกง เมื่อปีที่แล้ว

การที่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารทำให้มีการตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตในกรุงเนปิดอว์, ย่างกุ้ง และพื้นที่บางส่วนของประเทศ

“ฮอร์เก ริออส” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริดจ์ไฟ เปิดเผยว่า ในช่วงเย็นวันจันทร์ถึงวันอังคารที่ผ่านมา มีผู้ดาวน์โหลดแอพฯนี้มากกว่า 1.1 ล้านคนในเมียนมา จากจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ราว 22 ล้านคน โดยบริดจ์ไฟทวีตข้อความว่า “หวังว่าประชาชนในเมียนมาจะพบว่า แอพของเรามีประโยชน์ในช่วงเวลาอันยากลำบาก”

แม้ว่าขณะนี้การสื่อสารในเมียนมาจะกลับมาใช้ได้ตามปกติแล้วตั้งแต่เย็นวันจันทร์ แต่นักเคลื่อนไหวก็พากันเรียกร้องให้ดาวน์โหลดแอพฯนี้ไว้ในกรณีที่อาจถูกปิดกั้นสัญญาณอีก

ในส่วนของกองทัพเมียนมา มีการเคลื่อนไหวด้วยการจัดตั้งสภาบริหารแห่งรัฐ นำโดยผู้บัญชาการทหาร ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ทำการตัดสินใจในระดับสูงสุดของประเทศในระหว่างการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี

สภาบริหารแห่งรัฐ จะมีนายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้นำการรัฐประหารเป็นประธาน และสมาชิกคณะมนตรีทั้ง 11 คนจะได้รับมอบหมายให้เลือกคณะกรรมการการเลือกตั้งใหม่และทำภารกิจอื่นๆ ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้เป็นการส่งสัญญาณว่า การปกครองของกองทัพได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว

สภาบริหารที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นพลเรือน 3 ราย ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ซึ่งถูกกักตัวอยู่ในบ้านหลังการก่อรัฐประหาร

ในส่วนของชะตากรรมนางซูจีนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคเอ็นแอลดี ระบุว่า นางซูจี ถูกกองทัพควบคุมตัวเอาไว้ในบ้านอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ นางซูจี เคยถูกควบคุมตัวในบ้านหลังนี้ ในนครย่างกุ้ง นานถึง 15 ปี