"เซฟเซ็กส์ งดดื่ม" เกราะป้องกัน รับวาเลนไทน์

"เซฟเซ็กส์ งดดื่ม" เกราะป้องกัน รับวาเลนไทน์

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.)ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาเนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ หัวข้อ “เด็กของเรา...เรื่องเหล้าเรื่องเพศ”

กิจกรรมเนื่องในวันวาเลนไทน์เตือนสติวัยรุ่นเซฟเซ็กส์รักตัวเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวของมึนเมา แนะปลูกฝังเรียนรู้เรื่องเพศสร้างเกราะป้องกันตั้งแต่วัยเด็ก

ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC :United Nations Office on Drugs and Crime) พบว่ากว่า 87% ของคดีการล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน เพื่อหาผู้กระทำผิด หรือให้ทางการรับรู้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 66% ภาคใต้ มีความรุนแรงในครอบครัวถึงร้อยละ 48.1 และกรุงเทพฯ พบความรุนแรงในครอบครัว น้อยที่สุด ร้อยละ 26 ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ รายได้ของครอบครัว และการใช้สารเสพติด เช่น สุรา บุหรี่ เป็นต้น

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ   ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิต13 กรมสุขภาพจิต กล่าวว่าค่านิยมวาเลนไทน์มักจะมีเรื่องเลิฟกับเซ็กส์เข้ามาเกี่ยวข้อง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเซ็กส์เพิ่มมากขึ้นคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้การดูแลตัวเอง การยับยั้งชั่งใจลดลง ทำให้ตกไปอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ เกิดมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผลกระทบตามมามากมาย ทั้งติดเชื้อ ท้องไม่พร้อม จากสถิติพบว่า คนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมักจะดื่มเหล้าตั้งแต่อายุยังน้อย ยิ่งเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีคนดื่มเหล้า ทำให้ได้เห็นพฤติกรรมการดื่ม ยิ่งทำให้เกิดความเคยชิน เมื่ออายุ 18 ปี จะรู้สึกว่าโตแล้ว ดื่มเหล้าได้แล้ว 

 “วัยรุ่นมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นชัดเจน สิ่งที่เขามักใช้แก้ไขปัญหาคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นการจัดการควรทำร่วมกันทุกภาคส่วน ควรให้เด็กมีความเข้มแข็งทางจิตใจ เชื่อมั่นในตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง เวลาเจอปัญหาสามารถจัดการได้ ซึ่งครอบครัวมีส่วนสำคัญในการสนับสนุน การให้เวลาพูดคุย ชื่นชม ปรับทุกข์ ส่วนชุมชน โรงเรียน ต้องเข้มแข็ง มีระบบดูแลช่วยเหลือเฝ้าระวัง สำหรับวาเลนไทน์ปีนี้อยากเตือนวัยรุ่นทุกคนว่า อย่าเอาตัวไปอยู่ในจุดที่เสี่ยง สถานที่ลับตาคน ฝึกปฏิเสธให้เป็น ต้องรู้จักเซฟเซ็กส์และไม่ควรมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปยุ่งเกี่ยว”พญ.วิมลรัตน์กล่าว 

สิรินยา  บิชอฟ  หรือซินดี้ ดารานักแสดง กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นแม่ลูกสองมีประสบการณ์การเลี้ยงลูกให้เข้าใจเรื่องเพศตนเห็นว่าสังคมยังมีสื่อที่สอนเกี่ยวกับเรื่องเพศสำหรับเด็กน้อยมาก จึงได้ศึกษาและเขียนหนังสือเด็กนำเสนอในรูปแบบการ์ตูนที่พูดถึงสิทธิในร่างกายของตัวเอง สอนให้เรียนรู้เรื่องร่างกาย เคารพตัวเอง เข้าใจในสิทธิของร่างกายตัวเองและเคารพสิทธิทางร่างกายของคนอื่นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หนังสือเล่มนี้ถือเป็นเครื่องมือในการพูดคุยกับลูกตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้เขาดูแลความปลอดภัยของเขาได้ ถ้าพ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกเข้าใจการเคารพสิทธิของคนอื่นตั้งแต่เด็ก จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงหรือแก้ปัญหาไปได้ โดยเฉพาะการลดปัญหาการไปทำร้ายคนอื่น 

161287279867

ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันว่าจะพูดคุยอย่างไรให้เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของความเจริญเติบโตของคน หลายคนอาจจะมองว่าอยากให้ลูกปลอดภัย แต่ไม่มีการให้ความรู้ทักษะเบื่องต้นในเรื่องเพศของพวกเขา และถ้าไปรอจนกระทั่งวัยรุ่น อาจจะไม่ทันการณ์ ต้องมีการพูดคุยเรื่องเพศตั้งแต่เด็ก

สิ่งที่พ่อแม่สอนเรื่องเพศ เป็นการสอนเพศศึกษาและอยากให้พ่อแม่ทุกคนพูดคุยกับลูก อย่าอายที่จะพูดคุยเรื่องเพศและเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวทางร่างกาย โดยไม่ต้องรอให้เป็นหน้าที่ของครูหรือหมอ พ่อแม่ต้องปรับตัวเอง ค่อยๆ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัว หากพ่อแม่ไม่รู้ อย่าปัดลูกหรือปฎิเสธว่าลูกไม่ควรรู้ แต่ให้ไปหาข้อมูลมาพูดคุยกับลูกซินดี้ กล่าว 

 

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เรื่องความรัก เรื่องเพศและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีความสัมพันธ์และไปด้วยกัน  ความรุนแรงมีหลายกรณีมาจากการดื่มเหล้า ใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่การถูกคุกคามทางเพศ ถูกข่มขืนโดยผู้ชายที่ใช้อำนาจเหนือกว่าเป็นคนกำหนดสะท้อนจากการรวบรวมข่าวความรุนแรงทางเพศทางปี 62 พบถึง 9 ข่าว กรณีที่แฟน/อดีตแฟน ใช้การบังคับและหลอกไปข่มขืน ปัจจัยกระตุ้นมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น สิ่งที่อยากเสนอให้เป็นทางออกคือ ต้องมีหลักสูตรให้ความรู้ รณรงค์เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้และต้องให้ความสำคัญ ควรมีหลักสูตรทุกระดับ ตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยม มหาวิทยาลัยตลอดจนในครอบครัวก็ต้องสร้างการเรียนรู้ในเรื่องนี้ด้วย 

“การเรียนหลักสูตรเพศศึกษาในระดับประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษายังไม่ได้มีความชัดเจนอย่างจริงจัง อีกทั้งครอบครัวก็มองว่าพูดเรื่องพศไม่ได้ แต่สื่อละครต่างๆ ก็ยังมีการทำมายาคติเกี่ยวกับเรื่องเพศ การข่มขืนเป็นเรื่องปกติ ทำให้เพศชายมีความคิดว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่าและผู้หญิงหากเป็นแฟนใครแล้วต้องยอม ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่และเป็นรากเหง้าของปัญหา ทุกทุกฝ่ายต้องเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด ปรับโครงสร้างต้องไม่ทำให้ชายเป็นใหญ่ ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องเท่ากันทั้งหญิงชาย จะเด็จ กล่าว

ขณะที่ เอ (นามสมมติ) อายุ 32 ปี กล่าวว่าจากประสบการณ์ชีวิตการเป็นคุณแม่วันรุ่นอายุ 18 ปี คบกับแฟนเจอกันในร้านเหล้าเกเรไม่เรียนต่อหางานรับจ้างรายวันทำ พอเลิกงานก็ดื่มเหล้ากับแฟนเมาหลังเลิกงานทุกวันทะเลาะกับคนข้างบ้านประจำใช้ชีวิตแบบนั้นมาตลอด รู้ตัวอีกทีก็ตั้งครรภ์ได้2-3เดือนถึงมาหยุดดื่มส่วนแฟนเริ่มไม่ใส่ใจดูแลไม่ทำงานเอาแต่เมาเหล้าหาเรื่องทะเลาะตบตีทุกวันหลังจากคลอดลูกได้ไม่นาน ก็เลิกลากันไปเพราะทนพฤติกรรมทำร้ายร่างกายไม่ไหว 

“ชีวิตแม่วัยรุ่น กว่าจะผ่านมาได้มันยากลำบากมาก นอนร้องไห้ทุกวันต้องทำงานทุกอย่างทั้งเป็นรปภ.ทำงานกระเป๋ารถเมล์ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกเพราะพฤติกรรมการดื่มทำให้เขาเป็นเด็กสมาธิสั้น พัฒนาการช้า ทุกเดือนต้องไปโรงพยาบาลเพื่อรับยาอย่างต่อเนื่องตอนนี้เราเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ทำทุกอย่างเพื่อลูกอยากฝากถึงวัยรุ่นให้มีสติ รักตัวเอง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหล้า ยา และอบายมุขเพราะมันทำลายชีวิตทำลายอนาคตเราจริงๆเอ(นามสมมติ) กล่าว