"ยุทธพงศ์" ชี้ "นายกฯ" สร้างมหากาพย์โกง2602 ขยายสัมปทานบีทีเอสขัดรัฐธรรมนูญ - จ่อส่งศาล

"ยุทธพงศ์" ชี้ "นายกฯ" สร้างมหากาพย์โกง2602 ขยายสัมปทานบีทีเอสขัดรัฐธรรมนูญ - จ่อส่งศาล

ยุทธพงศ์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ชี้ "นายกฯ"​สร้างมหากาพย์โกง2602 ต่อสัญญาบีทีเอสเอื้อเจ้าสัว ขัดรัฐธรรมนูญ ด้าน "นายกฯ​"โต้ทำตามเงื่อนไขสัญญา

         เมื่อเวลา 19.25 น. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย   ต่อที่ประชุมสภาฯ​ โดยย้ำเหตุผลเพราะการให้สัมปทานโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย  ให้กับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุน หลีกเลี่ยงการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ) เพราะพบว่า กทม. นั้นได้ให้ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) จ้างบริษัทบีทีเอสฯ เดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวเข้มเหนือและใต้ โดยไม่ผ่านการประมูล ซึ่งถือว่าเป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อหนี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ นอกจากนั้นยังพบกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เมื่อเดือนเมษายน ปี 2562 ดำเนินการเรื่องดังกล่าว เหมือนกับเป็นการนิรโทษกรรมความผิด ทั้งที่การขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสสายสีเขียวนั้นผิดกฎหมาย และทำให้รัฐเสียประโยชน์
 
         นายยุทธพงศ์ อภิปรายด้วยว่า สำหรับการต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัทบีทีเอส นั้น พบว่ามีการจัดฉากสร้างหนี้ โดยล่าสุดพบว่า บริษัทบีทีเอส มีหนังสือทวงหนี้ มูลค่า 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ส่วนของรถ จำนวน 9,000 ล้านบาท และระบบส่วนของการเดินรถ มูลค่า 21,000 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการเจรจาแลกหนี้กับการขยายสัมปทาน ทั้งที่มติ ครม. ระบุให้กระทรวงการคลัง จัดงบประมาณเพื่อให้กทม.นำไปชำระหนี้ อย่างไรก็ดีสัญญาสัปทานรถไฟฟ้าสายหลัก จะสิ้นสุดปี 2572 แต่ล่าสุด กทม. แอบต่อสัญญาให้ถึง ปี 2585
 
         “สัญญาสัปทานรถไฟฟ้าที่ต่อไป 40 ปี มูลค่ารวม 6แสนล้านบาท ซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาตรา 44 ให้ เพื่อไม่ให้เป็นความผิด ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนต้องเสียค่าโดยสารราคาแพง และกรณีนี้ ผมขอตั้งเรื่องว่าเป็นมหากาพย์การโกงข้ามศตวรรษ 2602 รอบที่แล้วนายกรัฐมนตรีโดนบ้านหลวง ส่วนรอบนี้จะต้องเจอศาลรัฐธรรมนูญ ที่ใช้มาตรา 44 ยกสัมปทานให้เจ้าสัว เพราะเป็นการกระทำท่ีขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลายมาตรา อาทิ มาตรา 56 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดสาธารณูปโภคโดยคิดค่าโดยสารไม่เกินสมควร มาตรา 164 การบริหารราชการแผ่นดินต้องยึดกฎหมาย, มาตรา184 และมาตรา 279” นายยุทธพงศ์ อภิปราย
 
 

       ต่อจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อประเด็นการต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัทบีทีเอสฯ​เนื่องจากสัญญาฉบับเดิม เมื่อปี 2535 กำหนดเงื่อนไขว่าหากมีการขยายสัญญาระบบหรือดำเนินการเพิ่มเติมสัญญา ต้องให้สิทธิบริษัทที่ได้รับสัญญาเจรจารายแรก หากไม่ดำเนินการอาจถูกฟ้องว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาได้ อย่างไรก็ดีการใช้มาตรา 44 นั้นไม่ได้ระบุว่าให้ต่ออายุสัญญาสัมปทาน จำนวน 40 ปี แต่ได้กำหนดให้ตั้งกรรมการดูแล ลักษณะเดียวกันกับกรรมการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์และประโยชน์อื่นเพื่อการเดินรถ เจรจาผุ้รับสัมปทานให้การบริหารจัดการโครงการบูรณาการ ต่อเนื่อง เป็นโครงข่ายเดียวกัน หากผลเจรจายุติและร่างสัญญา เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และโปร่งใส ส่วนกรณีที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้น พร้อมพิสูจน์ อย่างไรก็ดีตนไม่ใช่ศาลแต่ก่อนหน้านั้นได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย แล้ว
 
 
         “การใช้มาตรา 44  เพื่อให้การบริหารจัดการสัญญาและการเดินรถเป็นไปอย่างมีเอกภาพ หลังจากที่รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายนั้น กทม.​ได้รับโอนมาจาก รฟม. และมติ ครม.​ปี 2561 นั้นกำหนดให้กทม.​บริหารจัดการและรับภาระหนี้ด้วย ส่วนกรณีที่ไม่ใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ นั้นเพื่อไม่ให้มีผลกระทบการเดินรถที่ไม่ต่อเนื่อง เพราะหากดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุน อาจทำให้การทำงานล่าช้า 2-3ปี” พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจง