“เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง” อัพบริการดูแล “ลูกค้ามั่งคั่ง”ลงทุนหลังโควิด-19
“เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง” เร่งพัฒนาคุณภาพบริการด้านดิจิทัล การบริหารจัดการความเสี่ยง พร้อมนำเสนอบริหารสินทรัพย์ครอบครัวและการกู้ยืม รวมถึงมุ่งเป็นผู้นำการเสนอการลงทุนESG สอดรับผลศึกษาร่วมกับ“ลอมบาร์ด โอเดียร์” ตอบโจทย์มุมมองผู้มีความมั่งคั่งสูงต่อชีวิตวิถีใหม่หลังวิกฤติโควิด-19
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ในขณะที่ทั่วโลกกำลังปรับตัวกับโลกในยุคหลังโควิด-19 “เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง” พร้อมด้วยพันธมิตรทางธุรกิจLombard Odier มองว่ามี 4 เรื่องที่ผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ต้องทำเพื่อช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้าในชีวิตวิถีใหม่”
1. เร่งพัฒนาคุณภาพของบริการดิจิทัล ทั้งในด้านการสื่อสาร การส่งมอบบริการ การรายงานข้อมูลทางการเงิน และการทำธุรกรรม ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการให้บริการของไพรเวทแบงเกอร์
2. สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่มีกลไกควบคุมความเสี่ยง และติดตั้งเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้สะดวกขึ้นในทุกๆ ผลิตภัณฑ์
3. เสริมความแข็งแกร่งของบริการที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการลงทุนในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนนอกตลาดและลงทุนโดยตรงในบริษัท หรือบริการให้คำแนะนำด้านอสังหาริมทรัพย์และการวางแผนความมั่งคั่ง
4. เป็นสื่อกลางในการพิสูจน์ให้เห็นถึงผลตอบแทนในระยะกลางและระยะยาวของการลงทุนอย่างยั่งยืน และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด “ลอมบาร์ด โอเดียร์” ร่วมกับ “เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง” และพันธมิตรทางธุรกิจทั้ง 5 รายในภูมิภาคเอเชีย เผยผลสำรวจล่าสุด ‘สานสัมพันธ์ เปลี่ยนผ่าน และพลิกโฉม: การเข้าถึงผู้มีความมั่งคั่งสูงในภูมิภาคเอเชีย ในยุค New Normal’ ซึ่งศึกษามุมมองและข้อกังวลของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง (UHNWIs) และผู้นำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความท้าทาย พร้อมเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนบริการการบริหารความมั่งคั่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลกลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น
พบว่า ผลสำรวจจากรายงานฉบับนี้เป็นการตอกย้ำความต้องการของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงที่เพิ่มขึ้น และซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในหลากหลายมิติท่ามกลางวิกฤติโควิด-19
นายวินเซนต์ มาเนียนาต์ Limited Partner and Chief Executive Officer, Asia ลอมบาร์ด โอเดียร์ เปิดเผยว่า รายงานฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นโดยการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง 150 รายในหลากหลายประเทศได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน ครอบคลุมมุมมองในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเทคโนโลยี การลงทุน ครอบครัว และความยั่งยืน
พบว่า 81% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียกล่าวว่า ‘การติดต่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น และลดการพบปะกันลง’ จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยที่คิดเห็นเช่นนี้มี แต่ยังมีถึง 59% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียและในประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังคงต้องการพบปะพูดคุยที่ธนาคารหรือสถานที่อื่นๆ
ขณะที่ 70% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย ไม่ตกใจกับวิกฤติครั้งนี้มากนัก อาจมีประสบการณ์การลงทุนผ่านวิกกฤติในอดีตมาก่อน ทำให้มีการจัดการความเสี่ยงที่ดี จึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะระยะเวลาของการลงทุน และเชื่อว่าภาวะดอกเบี้ยต่ำอาจจะอยู่ไปนานถึง10ปี มีเพียงการปรับพอร์ตปรับพอร์ตการลงทุนให้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ก็ต้องรับความเสี่ยงสูงขึ้นและสามารถรับความผันผวนมากขึ้น จึงมีความต้องการบริการจากไพรเวทแบงก์กิ้งด้วย และ 87% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย กล่าวว่า การมีบริการพิเศษที่นอกเหนือบริการด้านลงทุนจะส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจในการเลือกธนาคาร
อีกทั้งในวิกฤตในครั้งนี้ก็ได้ส่งผลให้อีก 45% ของครอบครัวที่ยังไม่ได้จัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวสนใจที่จะเริ่มวางแผนในอนาคต ซึ่งจุดนี้รูปแบบการให้บริการของไพรเวทแบงก์กิ้ง จะเริ่มเปลี่ยนไปจากการให้คำปรึกษาเท่านั้นมาให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ
ทั้งนี้ บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Advisory Service) ได้กลายเป็นอีกหนึ่งบริการที่เติบโตสูงที่สุดและเข้ามาตอบโจทย์การบริหารจัดการที่ดินของครอบครัวผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย
สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้ทำการศึกษาและดูแลพอร์ตการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งสูงจำนวน 121 ราย โดยครอบคลุมที่ดินทั้งหมด 940 แปล
นอกจากนี้ กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงเริ่มหันกลับมาตระหนักถึงสิ่งที่มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตหลังวิกฤติโควิด-19 และตัดสินใจเลือกไพรเวทแบงก์ โดย 69% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยได้จัดอันดับให้เทรนด์ด้านความยั่งยืนเป็น 1 ใน 3 ประเด็นที่สำคัญที่สุด โดยประเทศไทยคือประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สอง รองจากประเทศญี่ปุ่น
แม้ว่า 89% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียกล่าวว่า เทรนด์ความยั่งยืนจะยังคงมีบทบาทสำคัญในระยะยาว แต่กลับมีเพียง 61% ที่วางแผนการลงทุนโดยคำนึงถึงมิติด้าน ESG และการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของไพรเวทแบงก์ในการให้คำแนะนำ เพื่อแสดงให้กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงเห็นถึงศักยภาพและแนวทางการสร้างผลกำไรของการลงทุนอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น