สศอ.หวังวัคซีนฟื้นภาคการผลิต หั่น GDP อุตสาหกรรมเหลือ 2.5-3.5%
สศอ.เผย โควิดระบาดรอบ 2 ฉุดดัชนีอุตสาหกรรม ม.ค.หดตัว 2.8% เมื่อเทียบปีก่อน พร้อมปรับลดเป้าหมายจีดีพีอุตสาหกรรม โต 2.5-3.5%
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ในเดือนม.ค. 2564 หดตัว 2.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ในช่วงกลางเดือนธ.ค. 2563 ส่งผลต่อเนื่องมายังเดือนม.ค. 2564 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอย รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศลดลง ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะสั้น
ส่วนของเป้าหมายดัชนีเอ็มพีไอ ในปี 2564 สศอ. คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 2-3% ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4-5% และ จีดีพีอุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายขยายตัว 2.5-3.5% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4-5% เนื่องจากได้ลดเป้าหมายให้สอดคล้องกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ได้ปรับเป้าหมายบการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยสาเหตุหลักมาจากการระบาดของโควิดรอบ 2 ในประเทศไทย และประชาชนยังไม่ค่อยมั่นใจวัคซีนโควิด-19 มากนัก
รวมทั้งหากในช่วงที่เหลือของปีมีการกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทยอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และในต่างประเทศได้มีการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวาง ก็จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลก และไทยปรับตัวดีขึ้น
รวมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวจะกลับมา แต่ทั้งนี้ ภาครัฐควรผลักดันให้มีการทำวัคซีนพาสปอร์ต ที่เป็นเอกสาร หรือบัตรรับรองว่าได้ผ่านการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาแล้ว และเปิดให้ชาวต่างชาติที่ผ่านการฉีดวัคซีนเข้ามาในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมให้การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฐานรากของไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว สศอ.ได้เตรียมที่จะจัดทำแผนยกระดับอุตสาหกรรมเดิมของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมของไทยหลายอุตสาหกรรมสามารถเข้ามาต่อยอดสนับสนุนอุตสาหกรรม S-curve และ New S-curve ของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมถึงอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เป็นพื้นฐานการผลิตที่สำคัญของไทย ที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเสริม และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาต่อยอดทั้งในกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการด้านภาษี คาดว่าจะจัดทำแผนแล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน จากนั้นจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำแผนนี้ไปผลักดันต่อไป
อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งจะนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าไปเสริมเพื่อให้มีฟังชั้นการทำงานที่ดีขึ้น ล่าสุดได้ร่วมกับผู้ประกอบการผลิตสิ่งทอที่เคลือนสารป้องกันเชื่อไวรัสโคโรน่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำไปทดสอบประสิทธิภาพที่ประเทศอังกฤษ หากประสบผลสำเร็จก็จะสร้างมูงค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อักมาก รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล
อุตสาหกรรมสิ่งทอยังมีสินค้าที่สำคัญ คือ แห อวน ที่ไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก แม้ว่าราคาจะสูงกว่าสินค้าของจีน 2 เท่าตัว แต่สินค้าจีนก็ยังสู้ไม่ได้ แต่ในปัจจุบันแห อวนที่จีนผลิตมีคุณภาพสูงขึ้นถึงระดับ 70% ของสินค้าไทย แต่ราคาต่ำกว่า ทำให้ไล่ตื้นเข้ามาในสินค้ากลุ่มนี้ ดังนั้นจึงต้องเร่งเข้าไปส่งเสริมให้มีศักยภาพ และคุณภาพสูงขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในสินค้านี้ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ที่จะเข้าไปส่งเสริมให้ปรับตัวไปสู่การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือไม่ก็นำความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ปรับไปสู่อุตสาหกรรมอื่นที่มีมูลค่าสูง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมอาหาร จะมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นจุดเด่นในแต่ละท้องถิ่นให้ประสานกับการท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นจุดแวะที่สำคัญในแต่ละจังหวัด ซึ่งไม่เพียงแต่ขะยกระดับอาหารท้องถิ่น แต่ยังเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบได้อีกด้วย
“ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตมายายนาน 30-40 ปี ทำให้มีหลายอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็ง และเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญในตลาดโลก แต่จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีเสน่ห์ลดลง และอาจจะสูญเสียความเป็นผู้นำให้กับประเทศอื่นไป รวมทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้ก้าวหน้าไปได้รวดเร็วขึ้น”
ส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขณะนี้ได้ส่งร่างยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้กับ สศช.พิจารณาใกล้ที่จะแล้วเสร็จส่งให้กับคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในเร็วๆ นี้
ในขณะที่แผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (ปี2564-2570) ได้เตรียมที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานภายในเดือน มี.ค.นี้ และยังได้จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย ระยะที่ 1 (ปี 2565-2570) มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ไทยแผลิตเครื่องจักรกลภายในประเทศให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในอุตสาหกรรมทุกชนิด ในระยะแรกจะเน้นเครื่องจักรกลการเกษตรและแปรรูปการเกษตร