4 มี.ค. 'วันอ้วนโลก' น้ำหนักแค่ไหน ถึงเรียกว่าเป็น 'โรคอ้วน' ?
4 มี.ค. "วันอ้วนโลก" ชวนไปทำความรู้จัก "โรคอ้วน" ว่าเป็นอย่างไร อ้วนแบบไหน ถึงเข้าข่ายโรคอ้วนที่เสี่ยงมีปัญหาสุขภาพ และมีวิธีรักษาโรคอ้วนได้อย่างไรบ้าง ?
เนื่องใน “วันอ้วนโลก” (World Obesity Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มีนาคม สสส. ร่วมกับ เครือข่ายคนไทยไร้พุง ถอดบทเรียนสถานการณ์โรคอ้วนในไทย เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงภัยเงียบที่แฝงมากับพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs
สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) กำหนดให้มีวันอ้วนโลก มีเป้าหมายให้ทุกคนเห็นว่า “น้ำหนักเกิน” เป็นภัยคุกคามชีวิต เพราะ "ความอ้วน” คือ จุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ไม่ดี ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงาน คุณภาพการนอน การใช้ชีวิตในสังคม ความกังวลในรูปลักษณ์ของตนเอง เกิดปมด้อย อาจมีปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้า หากทุกคนรู้วิธีป้องกันและดูแลเรื่องอาหารและมีกิจกรรมทางกาย จะช่วยลดความเสี่ยงได้
“ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์” ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบันพบ “คนอ้วน” มากกว่า 800 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ขณะที่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพบเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจำนวนมาก จากการบริโภคเกินความจำเป็น ไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยในปี 2557 ถึง ปัจจุบัน พบ คนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะ “อ้วน” และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน “อ้วนลงพุง” กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้ง 2 กลุ่ม เสี่ยงป่วยเป็นโรค NCDs
- แบบไหนเรียกว่า“โรคอ้วน”
รู้ได้อย่างไรว่าเป็น"โรคอ้วน" คือภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ นำมาซึ่งสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อมี 2 ประเภท คือ อ้วนลงพุง มีการสะสมของไขมันที่บริเวณช่องท้องและอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ลำไส้ กระเพาะอาหารและอื่นๆทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคอ้วนทั้งตัว มีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติโดยไขมันที่เพิ่มขึ้น มิได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยเฉพาะ บางคนนอกจากเป็นโรคอ้วนทั้งตัวแล้วยังเป็นโรคอ้วนลงพุงร่วมด้วย จะมีโรคแทรกซ้อนทุกอย่าง และโรคที่เกิดจากน้ำหนักตัวมาก ได้แก่ โรคไขข้อ ปวดข้อ ข้อเสื่อม ปวดหลัง ระบบหายใจทำงานติดขัด
- เป็นโรคอ้วนหรือไม่ดูที่ "BMI"
ข้อมูลสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าสามารถใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เพื่อการวินิจฉัยโรคอ้วนทั้งตัว และวัดเส้นรอบเอวเพื่อการวินิจโรคอ้วนลงพุง เพราะ BMI คือค่าความหนาของร่างกาย ใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินภาวะอ้วนผอมในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งคำณวนได้จาก การใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและหารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ดังสูตรต่อไปนี้ ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2 เช่น มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม สูง 1.50 เมตร = 50/(1.5x1.5) = 22.22 จะมีค่า BMI อยู่ที่ 22.22 นั่นเอง
นอกจากนี้ การวัดเส้นรอบเอว หรือเส้นรอบพุง (โดยทั่วไปจะวัดรอบเอว ตรงระดับสะดือพอดี) เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการก่อโรค ผู้ชายต้องมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตร ถ้าเส้นรอบเอวใหญ่เกินกว่าค่าดังกล่าวนี้แล้วก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ นั้นสูงขึ้น
โดยเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้วัดภาวะอ้วน คือ BMI: Body Mass Index ดังนี้ ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 ลงไป แสดงว่ามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ค่า BMI ตั้งแต่ 18.5-24.9 แสดงว่าอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีค่า BMI ตั้งแต่ 25-29.9 แสดงว่ามีน้ำหนักเกินค่า BMI ตั้งแต่ 30-38.9 แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพค่า BMI ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนอย่างมากและเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาสุขภาพที่รุนแรง
- “อ้วน” จากชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิด “โรคอ้วน” ได้ เพราะ การกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ บริโภคหวาน มัน เค็มมากเกินไป ใช้ชีวิตไม่สมดุล ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีส่วนทำให้น้ำหนักตัวเกินและส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น ส่วนที่คิดว่าโรคอ้วนมาจากพันธุกรรม ในทางการแพทย์พบว่าอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย สิ่งที่ดีที่สุด คือ กินผัก-ผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม มีกิจกรรมทางกาย เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้ร่างกาย เพระความอ้วนเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ไตวาย เก๊าท์ ตับแข็ง ฯ หากสังคมสานพลังรักสุขภาพจะช่วยหยุดปัญหาเหล่านี้ได้
- คนอ้วนติดโควิดอาการรุนแรง
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนเสี่ยงติดโควิด-19 มากกว่าคนปกติ แต่ในทางการแพทย์พบว่าคนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าติดโควิด-19 อาจจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตง่ายกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง ดูได้จากปรากฏการณ์การระบาดของโรคติดเชื้ออื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนอ้วนจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงกลุ่มแรก ๆ เพราะคนอ้วนจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแรก ๆ ที่เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มโรค NCDs
- ออกกำลังกายของคนอ้วน
ศูนย์อายุรกรรม รพ.สินแพทย์ แนะนำวิธีออกกำลังกายของคนอ้วน ไว้ว่า การออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับคนอ้วนที่เริ่มต้นออกกำลังกายหรือจะใช้ตลอดไปก็คือ การเดินทุกวัน วันละ 30 นาทีติดต่อกัน เดินในลักษณะเดินเร็ว แกว่งแขนให้สลับกับเท้าที่ก้าวเดิน สาวเท้ายาว เหวี่ยงแขนสูง จะเดินช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้ ถ้าเป็นเวลาเดียวกันทุกวันจะสร้างนิสัยความเคยชินให้กับร่างกายได้ดีกว่าการเดินตามสะดวกใจ
ถ้าเป็นการเล่นกีฬาควรอบอุ่นร่างกายก่อนเล่น 5 นาที ฝึก 20-25 นาที และผ่อนคลายอีก 5 นาที เช่นว่ายน้ำ แบดมินตัน เทเบิลเทนนิส เทนนิส สค็อช ฝึกให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
คนอ้วนที่เริ่มลดน้ำหนักเริ่มต้นด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น อาจเริ่มเดินให้ครบ 8,000-10,000 ก้าวต่อวัน จากนั้นให้คิดถึงโอกาสที่จะพิชิตเป้าหมายแต่ละวันให้สำเร็จ เช่น การชวนเพื่อนที่ออกกำลังอยู่แล้วไปออกกำลังกายด้วยกัน หาสถานที่และปรับวิถีชีวิตให้สามารถมีกิจกรรมทางกายได้จนเป็นนิสัย
- การรักษาโรคอ้วน
"การใช้ยาลดน้ำหนัก" ต้องใช้ภายใต้ใบสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจุบันยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนกำลังอยู่ในขั้นทดสอบ สำหรับรับประทานก่อนหรือหลังอาหารมื้อหลักหนึ่งชั่วโมง หรือรับประทานพร้อมมื้ออาหาร ช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซึมไขมันจากอาหารที่กินประมาณ 1 ใน 3 ส่วน แต่จะส่งผ่านไขมันไปยังระบบขับถ่ายแทน ใช้ยาไม่เกินวันละ 3 แคปซูล หลังใช้ยา น้ำหนักของผู้ป่วยจะลดลงประมาณ 5% ภายใน 3 เดือน และการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการใช้ยา หากไม่ได้ผลตอ้งปรึกษาแพทย์ และแม้หยุดใช้ยาก็ต้องควบคุมพฤติกรรมต่อไปเพื่อไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้อีก
"การผ่าตัดลดความอ้วน" การรักษาด้วยการผ่าตัดแบบ(Bariatric Surgery)ผู้ที่มีค่า BMI สูง ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป หรือผู้ป่วยที่มีค่า BMI 35-40 ที่มีปัญหาสุขภาพ ร้ายแรง จำเป็นต้องรักษาด้วยการลดน้ำหนักทันที เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและเบาหวานประเภทที่ 2 ผู้ที่รักษาภาวะอ้วนด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยการผ่าตัดลดความอ้วนมีหลายวิธี ได้แก่
"ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Roux-en-Y Gastric Bypass" ผ่าตัดสร้างถุงที่กระเพาะอาหารส่วนบน และตัดลำไส้เล็กที่อยู่ด้านล่างของกระเพาะอาหารนำมาเชื่อมต่อกับถุงที่สร้างไว้ ทำให้อาหารที่รับประทานจะถูกส่งไปยังลำไส้โดยตรง วิธีการนี้จะทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลงและรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
"ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Laparoscopic Adjustable Gastric Banding (LAGB)" นำห่วงที่ยืดหยุ่นได้ไปรัดกระเพาะแบ่งเป็น 2 ส่วน พื้นที่ว่างในกระเพาะอาหารจึงลดลง ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารน้อยลงเพราะอิ่มเร็วขึ้น ห่วงนี้จะคงอยู่ได้อย่างถาวร โดยที่สามารถปรับขนาดและยืดขยายได้ในภายหลัง
"ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Gastric Sleeve" ผ่าตัดเอาบางส่วนของกระเพาะอาหารออกไป ให้เหลือเพียงกระเพาะอาหารที่เล็กลง ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลง เพราะมีกระเพาะอาหารที่เล็กลง
"ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Biliopancreatic Diversion with Duodenal Switch" ผ่าตัดผนังกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ออก ให้มีเพียงกระเพาะอาหารบางส่วนที่ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม โดยกระเพาะอาหารส่วนนี้จะถูกนำไปต่อกับลำไส้เล็กส่วนบน ในขณะที่กระเพาะอาหารส่วนที่ถูกผ่าแยกออกไปจะถูกนำไปเชื่อมกับลำไส้เล็กส่วนล่าง เพื่อให้ยังคงมีกระบวนการย่อยอาหารที่ลำไส้ส่วนนี้