BAM ปีนี้ทุ่มงบลงทุน 9 พันล้าน ซื้อหนี้ NPL-NPA
“แบม” เล็งชงบอร์ดแผนจัดตั้งโฮลดิ้งชัดเจนปลายปี 64 หวังธุรกิจมีความคล่องตัวขึ้น เนื่องจากติดข้อจำกัดภายใต้พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ด้านปีนี้ตั้งเป้าเก็บเงินสด 17,452 ล้านบาท พร้อมทุ่มงบ 9,000 ล้านบาท ซื้อหนี้ NPL-NPA มาบริหาร
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาจัดตั้งกลุ่มบริษัท (Holding) เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้คล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบริษัทอยู่ภายใต้พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ซึ่งมีข้อจำกัดในการดำเนินงานสูง คาดว่าจะทำการศึกษาแล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 โดยจะเสนอให้คณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ภายใต้แผนจัดตั้งกลุ่มบริษัท BAM มีแนวคิดแยกบริษัทลูกออกจากบริษัทใหญ่ (Spin-off) เพื่อให้สามารถดำเนินการได้คล่องตัวมากขึ้นเช่นกัน เบื้องต้นมีแผนจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เน้นจับกลุ่มลูกค้ารายย่อย (Personal Loan) โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของบริษัทที่ได้ขายหนี้ออกไปแล้ว และรอรับดอกเบี้ยคืนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทสามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดได้ต่อไป
ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ ภายใต้กลุ่มบริษัท เช่น ธุรกิจปรับปรุงตกแต่งบ้าน (Renovate) ซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญ โดยมีแผนร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ หรือ โกลบอลเฮ้าส์ เป็นต้น
ในส่วนของแผนการดำเนินงานในปีนี้ตั้งเป้าผลเรียกเก็บ (รายได้) จำนวน 17,452 ล้านบาท ขณะที่ตั้งงบลงทุนซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) เข้ามาบริหารจัดการไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท โดยการประมูลซื้อจากสถาบันการเงินต่างๆ และการขายทอดตลาดที่กรมบังคับคดี
ปัจจุบัน BAM มี NPL อยู่ในความดูแล จำนวน 85,102 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 484,881 ล้านบาท และ NPA จำนวน 21,574 รายการ คิดเป็นราคาประเมินมูลค่า 62,571 ล้านบาท
“ปีนี้เราตั้งเป้าซื้อหนี้จากแบงก์น้อยลง ประมาณ 9,000 ล้านบาท เนื่องจากแบงก์ไม่อยากขายของ รอตู้เก็บหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนแนวโน้มตลาดปี 64 NPL ขึ้นอยู่กับนโยบายการช่วยเหลือของทางการว่าจะส่งผลให้มีหนี้เสียในระบบมากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับ NPA ความต้องการซื้อขายยังค่อนข้างสูง”
ขณะเดียวกัน BAM ได้วางเป้าหมายผลเรียกเก็บในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) อยู่ที่ 17,452 ล้านบาท 18,953 ล้านบาท 20,510 ล้านบาท 22,199 ล้านบาท และ 24,036 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 ที่ผ่านมา แม้จะเผชิญกับความยากลำบากจากการระบาดของโควิด-19 แต่มีรายได้13,134 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,840 ล้านบาท ส่งผลให้ปันผลสูงถึง 90% ของกำไรสุทธิ หุ้นละ 0.5125 บาท มูลค่ารวม 1.6 พันล้านบาท โดยจะขึ้นเครื่องหมายผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (XD) วันที่ 7 พ.ค.2564