แบนนำเข้า ‘สับปะรด’ ปมขัดแย้งไต้หวัน-จีน
แบนนำเข้า "สับปะรด" ปมขัดแย้งไต้หวัน-จีน โดยปธน.ไช่ อิง-เหวินของไต้หวัน เรียกร้องให้ประชาชนในประเทศสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในประเทศด้วยการรับประทานผลไม้ชนิดนี้ที่ปลูกในประเทศแทนนำเข้า
ความพยายามล่าสุดของจีนที่จะสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจแก่ไต้หวันคือการห้ามนำเข้าสับปะรดจากไต้หวันโดยจีนออกคำสั่งห้ามนี้เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ส่งผลให้ทางการไต้หวันออกมาตรการตอบโต้ทันที ด้วยการเริ่มรณรงค์ #FreedomPineapple ทางสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนและภาคเอกชนทั่วประเทศหันมาซื้อสับปะรดที่ปลูกในประเทศ และในเวลาไม่กี่วัน ออร์เดอร์สั่งซื้อสับปะรดทั้งในประเทศและจากประเทศต่างๆรวมทั้งญี่ปุ่นแซงหน้ายอดส่งไปขายในจีนโดยรวมเมื่อปีที่แล้ว
"Remember #Australia's #FreedomWine?” โจเซฟ อู๋ รัฐมนตรีต่างประเทศของไต้หวันตั้งคำถามบนทวิตเตอร์ โดยหมายถึงการรณรงค์เมื่อปีที่แล้วที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อไวน์ออสเตรเลียหลังจากจีนเก็บภาษีศุลกากรไวน์กว่า200% ขณะที่ความสัมพันธ์จีน-ออสเตรเลียตกต่ำที่สุด
"ผมเรียกร้องให้มิตรสหายทั่วโลกที่มีความคิดแบบเดียวกันยืนเคียงข้างไต้หวันในประเด็นการห้ามนำเข้าสับปะรด #Taiwan & rally behind the #FreedomPineapple"อู๋เขียน
รัฐมนตรีต่างประเทศของไต้หวัน ระบุด้วยว่า การห้ามนำเข้าสับปะรดจากไต้หวันของรัฐบาลจีนเปรียบเหมือนแมลงวันบนใบหน้าที่สร้างความน่ารำคาญให้แก่การทำการค้าที่เสรี ยุติธรรมและเป็นไปตามกฏระเบียบ
ด้านประธานาธิบดี“ไช่ อิง-เหวิน” ของไต้หวัน เรียกร้องให้ประชาชนในประเทศสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในประเทศด้วยการรับประทานผลไม้ชนิดนี้ที่ปลูกในประเทศ พร้อมทั้งกล่าวว่า รัฐบาลเตรียมวางแผนใช้เงินประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน(36 ล้านดอลลาร์)ผ่านมาตรการต่างๆเพื่อชดเชยผลกระทบจากการห้ามนำเข้าสับปะรดของทางการจีน ซึ่งรวมถึง ขยายตลาดส่งออกและพ่งเป้าทำตลาดในสหรัฐ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
รัฐบาลไทเป ระบุว่าความพยายามล่าสุดของทางการจีนมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจไต้หวันและลดกระแสนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า(ดีพีพี)ของนางไช่ ซึ่งจีนอ้างว่าประเทศประชาธิปไตยไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนและต้องการให้พรรคฝ่ายค้านนไต้หวันในปัจจุบันคือพรรคก๊กมินตั๋ง ที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลจีนขึ้นมามีอำนาจ
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทเปและปักกิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆนับตั้งแต่ไช่ขึ้นมาเป็นผู้นำไต้หวันในเดือนพ.ค.ปี 2559 รวมถึงการที่ทางการจีนงดออกใบอนุญาตเดินทางประเภทบุคคลจากเมืองในจีนทั้ง 47 เมืองเข้าไต้หวัน
ชาวจีนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในไต้หวันจะต้องไปเป็นคณะทัวร์เท่านั้น หรือการเดินทางเพื่อทำธุรกิจยังคงอนุญาตให้เดินทางได้ ส่วนชาวไต้หวันที่ต้องการเดินทางไปจีนต้องทำพาสสปอร์ตขออนุญาตแบบพิเศษ เช่นกันกับชาวจีนที่จะเดินทางไปไต้หวันต้องออกสมุดเดินทางแบบพิเศษเช่นกัน
จนถึงขณะนี้ รัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเกี่ยวกับคำสั่งแบนสับปะรด โดยยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นเพราะคุณภาพด้านความปลอดภัยของสับปะรดจากไต้หวันเนื่องจากทางการจีนตรวจพบศัตรูพืชในผลไม้ชนิดนี้เมื่อปีที่แล้ว ส่วนไต้หวันยืนยันว่า สับปะรดที่ส่งเข้าไปขายในจีนผ่านการตรวจสอบจากกรมศุลกากรจีน เมื่อปีที่แล้ว
"การพุ่งเป้าไปที่สับปะรด แทนที่จะเป็นสินค้าเกษตรประเภทอื่นหรือสินค้าส่งออกชนิดอื่นที่ทำรายได้สูง บ่งชี้ว่าเป็นการกระทำที่มีวาระซ้อนเร้นทางการเมือง มีเจตนาทำให้เกิดกระแสไม่พอใจในหมู่เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดกับรัฐบาล แต่ก็เป็นเรื่องไม่ฉลาดที่พยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีนผ่านทางการค้า เพราะจีนมักใช้การค้าเป็นตัวบีบคั้นประเทศคู่ค้า
ข้อมูลจากสภาเกษตรกรรมไต้หวันระบุว่า ไต้หวันส่งออกสับปะรดในสัดส่วนแค่ 10%และทั้งหมดนี้ส่งออกไปจีน ในปีที่แล้ว ไต้หวันส่งออกสับปะรดในจำนวน 45,621ตัน ในจำนวนนี้ส่งไปขายในจีน 97% ไปญี่ปุ่น 2% และไปขายที่ฮ่องกง 1%
“ไล ชิง-เต๋อ” รองประธานาธิบดีไต้หวัน ระบุว่าออร์เดอร์สั่งซื้อสับปะรดจากญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เวียดนาม และตะวันออกกลางช่วยชดเชยการแบนนำเข้าสับปะรดจากจีนได้อย่างดี ส่วน“เฉิน ชิ-ชุง”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เปิดเผยว่าคำสั่งซื้อสับปะรดภายในประเทศแซงหน้ายอดขายโดยรวมที่ขายให้จีนเมื่อปีที่แล้ว ในจำนวน 41,687 ตันและเป็นการรับออร์เดอร์สั่งซื้อในเวลาแค่ 4 วัน
นอกจากนี้ ไล ยังกล่าวด้วยว่าญี่ปุ่นก็สั่งซื้อสับปะรดจากไต้หวัน 5,000 ตันถือเป็นคำสั่งซื้อในปริมาณสูงสุด
ประธานาธิบดีไช่ เคยระบุว่า ข้อเสนอของจีนที่จะให้ไต้หวันมีอำนาจปกครองตนเองภายใต้สูตร “หนึ่งประเทศ-สองระบบ” เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และเรียกร้องให้มีการเปิดเจรจาเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ขณะที่จีนสวนกลับทันควันว่าการรวบรวมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไช่ ยังพยายามลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีนและหันมาเพิ่มการค้ากับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และรัฐบาลบริหารประเทศชุดปัจจุบันของไต้หวันพยายามที่จะเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับสหรัฐ
“แต่ไต้หวันก็ยังมีข้อจำกัดในสิ่งที่สามารถทำได้ โดยจีนยังคงเป็นหุ้นส่วนการค้าใหญ่สุดของไต้หวันและเป็นตลาดที่น่าดึงดูดใจและใหญ่สำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนชาวไต้หวัน”แอชลีย์ เฟิง นักวิเคราะห์ผู้ทำการวิจัยแรงกดดันทางเศรษฐกิจของจีนต่อไต้หวัน จากหน่วยงานอิสระมีฐานในวอชิงตัน กล่าว