หมอกควัน 'เชียงใหม่' วันนี้อันดับ 3 ของโลก ชาวบ้านยังแอบเผาป่าไม่สนใจคำสั่งห้าม
ตรวจสอบหมอกควัน "เชียงใหม่" วันนี้อยู่อันดับ 3 ของโลก ชาวบ้านยังแอบเผาป่าไม่สนใจคำสั่งห้ามเผา ยอดผู้ป่วยพุ่ง
ส่วนบรรยากาศในตัวเมืองเชียงใหม่ ยังถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันท้องฟ้าสีกลายเป็นสีเทา ซึ่งภาพมุมสูงจากโดรนที่บันทึกภาพอยู่บริเวณสี่แยกข่วงสิงห์ ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ จะเนนได้ว่าภาพจากมุมสูงจะเห็นหมอกควันจำนวนมากปกคลุมพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ และหากมอง จากในตัวเมือง ขึ้นไปยังดอยสุเทพ ไม่สามารถมองเห็นดอยสุเทพได้เพราะถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันไฟป่า โดยตลอดรอบคุมเมืองเชียงใหม่ ทางเจ้าหน้าที่จากงานป้องกันและบรรเท่าสาธารณภัยเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้นำรถน้ำดับเพลิงมาฉีดน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชิ้นภายในอากาศบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่
ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไข ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงาน การเข้าดับไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่อำเภอรอบนอกยังมีการลักลอบเข้าป่าล่าสัตว์และหาของป่าพร้อมกับลักลอบจุดไฟเผาป่ากันอย่างต่อเนื่องทำให้เจ้าหน้าที่เสือไฟต้องทำงาน ดับไฟป่าทั้งวันทั้งคืน ล่าสุด เจ้าหน้าที่สํานักอนุรักษ์ที่ 16 จังหวัดเชียงใหม่ และคณะเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่านันทบุรี อำเภออมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ ทหาร ตำรวจ อบต.แม่ตื่น หน่วย ชม.24 (แม่ตื่น) อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและดับไฟป่าในท้องที่ตำบลแม่ตื่น และประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลยางเปียงร่วมดำเนินการตรวจสอบควบคุมไฟป่า ทั้งหมด จำนวน 28จุด สภาพเป็นป่าเต็งรัง และป่าเบ็ญจพรรณ ไม่พบผู้หนึ่งผู้ใดที่บริเวนดังกล่าว คาดว่าเป็นการหาของป่า มีพื้นที่ป่าเสียหายหลายสิบไร่ ส่วนสถานีควบคุมไฟป่าห้วยฮ่องไคร้-ขุนแม่กวง (คณะทำงานชุดที่ 12) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) นำกำลังเข้าดับไฟป่า บริเวณ ทิศเหนือ กม.30 ถ.ชม.-ชร. (พื้นที่ป่าโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงฯ) ท้องที่บ้านแม่หวาน ม.3 ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ป่าเสียหายประมาณ 4 ไร่ สาเหตุ ล่าสัตว์ ชนิดป่า ป่าเต็งรัง
ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ฯ(บ้านออน)อุทยานแห่งชาติศรีลานนา) เข้าดับไฟป่า บริเวณป่าขุนห้วยแม่ป๋อยแห้ง ท้องที่บ้านห้วยลึก ม.7 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่พื้นที่เสียหาย รวม 25 ไร่สาเหตุ หาของป่า ชนิดป่า เต็งรังพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า จำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 – 5 มีนาคม 2564 พบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ ประกอบด้วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหัวใจ หลอดเลือด และสมองอุดตันขาดเลือด กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ โดยในเดือนมกราคม มีจำนวนผู้ป่วย 22,554 คน เดือนกุมภาพันธ์ 9,084 คน และเดือนมีนาคม ณ วันที่ 5 มีนาคม 150 คน โดยมีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 31,788 คน