‘บิ๊กตู่’ เตรียมประชุม ศบศ. 26 มี.ค. พิจารณาแนวทาง ‘เปิดประเทศ’
“บิ๊กตู่” เตรียมพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นำร่องจังหวัดภูเก็ต หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง
พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมประชุมร่วมกับรัฐมนตรีและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดเพื่อนำมาพิจารณาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ
วันที่ 25 มีนาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งที่ 1/2564 โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เข้าร่วมการประชุม
ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดเพื่อนำมาพิจารณาแนวทางในการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุม ตรงจุด ในการแก้ไข ฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งการติดตามความคืบหน้าของมาตรการที่มีการดำเนินการไปแล้วเพื่อนำมาประเมินผล และประกอบกับการพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคาดหมายว่าในการประชุมครั้งนี้จะมีการพิจารณากำหนดแนวทางความเป็นไปได้ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจะมีการพิจารณาในพื้นที่นำร่องจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยรัฐบาลตระหนักถึงปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และมีความพยายามที่จะช่วยพิจารณาแนวทางดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีสัดส่วนการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูง เช่น จังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามัน สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง ประกอบกับหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้แก่คนในประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้คาดว่าที่ประชุมจะได้มีการพิจารณาแนวทางเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบการธุรกิจและการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การลดข้อจำกัดในการประกอบกิจการของคนต่างด้าว การทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยเฉพาะในสาขาเป้าหมาย และการปรับปรุงระบบศุลกากรและพิธีการศุลกากร เป็นต้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ เพื่อลดขั้นตอนและต้นทุนของกระบวนการทำงาน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในระยะต่อไป