"ไฮบริด โปรแกรม" ฉีกกฎ!! "เรียนแพทย์" ศิริราชให้มากกว่าเป็นหมอ
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล"ผนึก 4 คณะผลิต "นักศึกษาแพทย์" โฉมใหม่ เรียนแพทย์ที่ให้มากกว่าการเป็นหมอ ปรับหลักสูตรแบบ"ไฮบริด โปรแกรม" เริ่มรุ่นแรกปี2564
การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และข้อมูลได้อย่างมหาศาล อีกทั้งคนหนึ่งคน ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดเพียงศาสตร์ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือกับ 4 คณะของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะวิทยาลัยการจัดการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ พัฒนารายวิชา/หลักสูตรระดับปริญญาโทร่วมกัน เพื่อผลิต "บัณฑิตแพทย์" ที่มีความรู้ข้ามศาสตร์ในด้านต่าง ๆ
- ศิริราชพยาบาล "เรียนแพทย์" แบบ "ไฮบริดโปรแกรม "
ศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่าเมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่อง โลกาภิวัตน์ ยิ่งเมื่อเกิดโควิด-19 แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการติดโรคจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการจัดการบริหารทรัพยากรและการนำข่าวสารความรู้มาจัดการทรัพยากรที่มีอยู่เป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพราะระบบบริการสุขภาพจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้อง
นอกจากนั้น ตอนนี้ตัวกลางหลายสิ่งหายไปเพราะมีเทคโนโลยี เข้ามาทดแทน อย่าง การบริการแพทย์ทางไกล และดิจิตอลเทคโนโลยี ที่เข้ามาทดแทนคน เป็นต้น ดังนั้น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร การเรียนการสอนของ "คณะแพทยศาสตร์" ซึ่ง "ศิริราชพยาบาล" ไม่เคยหยุดการปรับปรุงคณะแพทย์ เพื่อผลิตแพทย์ที่ตอบโจทย์ การเปลี่ยนแปลงของสังคม และโลก
การเรียนการสอนด้านแพทย์ ยังคง "เรียนแพทย์" 6 ปี แต่เปิดโอกาสให้ "นักศึกษาแพทย์" ที่มุ่งมั่นทุ่มเทและมีศักยภาพสูง สามารถเลือกเรียนสาขาอื่นในระดับปริญญาโทตามที่สนใจระหว่างเรียนแพทย์ควบคู่ไปได้อีก 1 สาขา โดยอาจเรียนจบทั้ง 2 ปริญญาได้ในเวลา 6 ปีเท่าเดิม
หลักสูตรใหม่ปี 2564 นี้เรียกว่า Hybrid Program 61 "ไฮปริด โปรแกรม" โดยคณะแพทย์ฯ มีความร่วมมือกับคณะ/วิทยาลัยอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้ง 4 คณะ ในการพัฒนา "นักศึกษาแพทย์" สู่ความเป็นเลิศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล และร่วมกันสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่มีคุณค่า ทันสมัย ตอบสนองความต้องการของประเทศและของโลก สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติต่อไป
- "ไฮบริด โปรแกรม" เลือก 4 ศาสตร์ ที่ให้มากว่าการเป็นหมอ
"ในอนาคตจะเห็นชัดเจนว่า ไม่สามารถผลิตแพทย์ที่มีความรู้แพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นแพทย์ที่รู้จักการบริหารจัดการที่ดี เข้าถึงข้อมูลและจัดการแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มากมายอย่างถูกต้องในเวลาอันรวดเร็ว และการแพทย์ไม่สามารถแยกออกจากระบบบริการสาธารณสุขได้ แนวคิดการปรับหลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จึงได้เกิดขึ้น เพื่อผลิตแพทย์ที่มีทักษะจำเป็นทั้ง 4 คณะเพิ่มเติม และนักศึกษาแพทย์ไม่ใช่เรียนเพื่อได้ปริญญา แต่ต้องการให้แพทย์มีความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เพื่อทำให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยดีขึ้น"ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่านการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ให้มีความรู้ความเข้าใจความสามารถและ "ทักษะทางเทคโนโลยีดิจิทัล"ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ประกอบกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัยได้ถูกนำมาใช้สนับสนุนพันธกิจทางการแพทย์ในทุกกิจกรรมในองค์กร ตั้งแต่การดูแลรักษาผู้ป่วยจนไปถึงการบริหารจัดการงานต่างๆ ในสถานพยาบาล
บุคลากรทางการแพทย์จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีความรู้ และทักษะที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้ หรือทำงานวิจัย รวมทั้งสร้างนวัตกรรมที่ผสมผสานความรู้ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เพื่อนำผลลัพธ์ไปใช้ประโยชน์ และสร้างความก้าวหน้าทางการแพทย์
- เติม"เทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์" ควบคู่สร้าง "ธุรกิจสุขภาพ"
โดยความร่วมมือครั้งนี้ "นักศึกษาแพทย์" จะได้เรียนรู้หลักสูตรมหาบัณฑิตด้าน "เทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์" หรือ Medical Information Technology ตามที่พวกเขาสนใจ ซึ่ง "นักศึกษาแพทย์" สามารถเลือกเรียนตามความต้องการของตนเองได้
หากเรียนตอบสนองกับความต้องการของสถาบันทางการแพทย์ ที่ต้องการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีองค์ความรู้และทักษะทางด้านเทคโนโลยีเทคโนโลยีดิจิทัล และ "เทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์" โดยสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในด้านบริการทางการแพทย์ การวิจัย และสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและประชากรโลก
รศ. ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ กล่าวว่า วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU มีความบทบาทในการสร้างบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถอย่างลึกซึ้งในศาสตร์ด้านการจัดการ และส่งเสริมการจัดการทางด้านการแพทย์ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม สาธารณชนและประเทศ รวมถึงมีความแก้ปัญหาสาธารณสุขได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ด้วยการจัดการที่ทันสมัย สามารถนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและยั่งยืน
สำหรับหลักสูตรการจัดการ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้วิชาของการจัดการด้านต่าง ๆ เพื่อผลิตแพทย์และมหาบัณฑิตสาขาการจัดการ "ธุรกิจสุขภาพ"ทั้งด้านการตลาด การเงิน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารกลยุทธ์ การบริหารข้อมูลและเทคโนโลยี และวิชาเลือกเฉพาะสาขา อาทิ Healthcare Business Analytics and Data Science/ Innovation and Change Management for Healthcare Business/ Digital Marketing for Healthcare Business/ Logistics and Supply Chain Management for Healthcare Business เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ไทยเร่งสร้าง“แพทย์นวัตกรรม” หนุนตลาดเครื่องมือแพทย์โต
- "บัณฑิตแพทย์" ต้องมีความรู้ด้านนวัตกรรมทางการแพทย์
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกศาสตร์สาขาวิชา สำหรับด้านการแพทย์ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย รวมทั้งแนวทางการศึกษา "บัณฑิตแพทย์" ที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านวิศวกรรมศาสตร์ จะมีโอกาสในการเรียนรู้การบูรณาการทางการแพทย์ที่มากขึ้น และมีโอกาสในการคิดค้นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ทางด้านการแพทย์ได้
ผศ.ดร.ธีรพร รับคำอินทร์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและประกันคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ข้ามศาสตร์ด้านวิศวกรรม เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย และสร้างบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้และทักษะในด้านวิศวกรรมศาสตร์ และนวัตกรรมด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ มีคุณค่า และทันสมัย ตอบสนองความต้องการของประเทศและประชาคมโลก เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
- ยกระดับการแพทย์ และบริการสาธารณสุขของไทย
รศ. ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวว่า คณะสาธารณสุขศาสตร์จัดการเรียนการสอน การผลิตมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตด้านสาธารณสุขศาสตร์นานาชาติ มากว่า50ปี ผ่านการรับรองมาตราฐาน AUN-QAและมาตราฐาน Asia Pacific Academic Consortium of Pubic Heath มาโดยตลอด
การร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ถือเป็นการยกระดับการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศให้สามารถสร้างสุขภาพ ป้องกัน และรักษาโรคได้อย่างเข้มแข็ง เท่าทันปัญหาการเกิดโรค และเทคโนโลยีการรักษา รวมถึงส่งเสริมป้องกันโรคที่เกิดในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การร่วมมือกับหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของทวีปออสเตรเลีย และอเมริกา จะทำให้แพทย์ที่จบหลักสูตรนี้ สามารถประกอบอาชีพในระดับภูมิภาค รักษาส่งเสริมสุขภาพแก่ประชากรโลกได้ สมดังปณิธานของสมเด็จพระราชบิดาในการสร้างประโยชน์ให้สังคมโลก เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และสร้างชื่อเสียงให้วงการแพทย์และลาธารณสุขไทยต่อไบอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในการปรับหลักสูตรครั้งนี้ "นักศึกษาแพทย์" สามารถเรียนในหลักสูตรแพทย์ 6 ปี และเลือกเรียนในคณะใดคณะหนึ่งควบคู่ไปด้วย หรือจะเรียนแบบเก็บสะสมหน่วยกิต เลือกเรียนแบบโมดูล ที่ "นักศึกษาแพทย์" เลือกเรียนตามความชอลความสนใจของตนเอง ซึ่งเมื่อจบการศึกษาพวกเขาจะเป็น "บัณฑิตแพทย์" 6ยกกำลัง 1 คือไม่ว่าจะเลือกเรียนคณะใดหรือไม่ พวกเขาก็จะเป็นแพทย์ในระยะเวลา 6 ปี หรืออาจจะเป็นแพทย์เรียน 6 ปีและจบปริญญาโทร่วมด้วย