ธุรกิจรูดปี๊ดลุ้นโควิดคลี่คลาย ดันยอดใช้จ่ายปีนี้กลับมาบวก 5-20%
ธุรกิจบัตรเครดิต ลุ้นครึ่งปีหลังโควิดคลี่คลาย ดันยอดใช้จ่ายบัตร กลับมาเป็นบวก 5-20% และจำนวนบัตรใหม่ โต 5-10% จากปี 63 หดตัว 19 % ต่ำสุดประวัติการณ์ ส่วนไตรมาส 1 นี้คาดยังหดตัว แต่เชื่อไตรมาส 2 กลับมาโตพุ่ง20-30% ด้าน“บัตรฯ เซ็นทรัล เดอะวัน” ปรับกลยุทธ์ผนึกพันธมิตรดูแลลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยม - เพิ่มจำนวนบัตรไร้สัมผัส
นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน และประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า หากสถานการณ์โควิด -19 คลี่คลาย ไม่มีการล็อดดาวน์อีก และเศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวในครึ่งปีหลังของปีนี้ คาดว่า ภาพุรวมธุรกิจบัตรเครดิต ในปี 2564 จะกลับมาเป็นบวกได้ มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 5-20% และจำนวนบัตรใหม่ เติบโต 5-10%
หลังจากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)รายงานว่า ในปี 2563 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร หดตัว 19 % ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จากผลกระทบโควิด- 19 ทำให้ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตชะลอตัว และจำนวบัตรใหม่ เติบโต 2%
ขณะที่สถานการณ์ในไตรมาส 1 ปี 2564 คาดว่า ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตจะยังหดตัว มียอดใช้จ่าย หดตัว 5-15% และจำนวนบัตรใหม่ หดตัว 20-30 % แม้เดือนมี.ค.สถานการณ์การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเริ่มฟื้นตัวค่อนเข้างดี แต่ไม่สามารถชดเชยเดือนม.ค.และก.พ.ที่มีมาตรการล็อกดาวน์บางพื้นที่ต่อเนื่องจากปีก่อนได้ แต่คาดว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรน่าจะเริ่มกลับมาได้ในไตรมาส 2 นี้ เติบโตสูงถึง 20-30% จะเป็นไตรมาสที่น่าจะเติบโตมากสุดของปีนี้จากฐานต่ำปีก่อน
“ตลาดบัตรเครดิตในปี 2564 หวังว่าจะฟื้นตัวครึ่งปีหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จีดีพีปีนี้ขยายตัว 3% แต่ไตรมาสแรกนี้ยังหดตัว 4%และค่อยๆฟื้นตัวหลังจากนี้ ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรจะฟื้นตัวดี ในหมวดช้อปปิ้งออนไลน์ ซุปเปอร์และไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงร้านสะดวกซื้อ"
ทางด้านสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้( NPL) ของภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตในปีนี้ คาดว่า ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างนัยสำคัญ ซึ่งทางธปท. ยังค่อนข้างกังวล จึงขอให้สถาบันการเงินช่วยยืดมาตรการช่วยเหลือไปจนถึงสิ้นปีนี้ก่อน โดยยังดอกเบี้ยคงที่ 16% ชำระขั้นต่ำ 5% และปรับโครงสร้างหนี้ และมีแนวโน้มในปีหน้า ธปท.ปรับการชำระต่ำกลับมาที่ 8% เท่าเดิมแต่เรามองว่าอยากให้คงไว้ที่ระดับนี้ก่อน เพราะอาจมีคนที่ยังจ่ายไม่ไหว แต่หากต้องกลับไปที่ระดับเดิม สถาบันการเงินคงจะมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เข้ามาช่วยเหลือต่อไป
ขณะเดียวกันในปี 2564 นายอธิศ คาดว่า บัตรเครติดร่วม หรือบัตรโคแบรนด์ มีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าบัตรเครดิตปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บัตรเครดิตร่วมขนาดใหญ่ ซึ่งมีข้อได้เปรียบเชิงธุรกิจ ทั้งในแง่ของศักยภาพของพันธมิตรร่วม, สิทธิประโยชน์ที่หลากหลาย, สัดส่วนของลูกค้าพรีเมียม และข้อมูลที่มากกว่า ทำให้สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าได้ตรงใจยิ่งขึ้น
ดังนั้น บริษัทวางเป้าหมาย ในปี 2564 “บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน” มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 77,500 ล้านบาท เติบโต 9% และจำนวนลูกค้าใหม่ 82,000 ราย เติบโต 5% ขณะที่สินเชื่อคงค้าง 21,5000 ล้านบาท จากปี 2563 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 70,000 ล้านบาท หดตัว 4% และจำนวนลูกค้าใหม่ 76,000 ราย หดตัว 44 %จากฐานสูงปีก่อน ขณะที่สินเชื่อคงค้าง 22,000 ล้านบาท เติบโต 3%
บริษัทมุ่งปรับกลยุทธ์ ผนึกพันธมิตรผสานความร่วมมือระหว่างเครือกรุงศรี กับเครือเซ็นทรัลในทุกมิติ ตอบโจทย์พฤติกรรมนิวนอร์มัลของผู้บริโภคยุคใหม่ให้ดียิ่งขึ้น ดูแลลูกค้ากลุ่มบน เพิ่มสัดส่วนฐานบัตรลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้นเป็น 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ 7 ของจำนวนบัตรทั้งหมด จะช่วยให้สัดส่วนยอดใช้จ่ายบัตรเพิ่มขึ้นด้วย จากปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของยอดใช้จ่ายบัตรทั้งหมด เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมายังเห็นยอดหารใช้จ่ายเฉลี่ยระดับ 100,000 บาทจนถึง 200,000 บาทขึ้นไป
พร้อมกันนี้ เสริมสร้างช่องทางขายและประสบการณ์ดิจิทัล โดยการทำ Digital Lending ผ่านแอป เช่น KMA, UCHOOSE, การหาบัตรใหม่ผ่าน Referral Model ผ่านแอป The 1 และการใช้ AI มาทำโปรโมชั่นแบบ Personalized ให้ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น จะเพิ่มจำนวนบัตรไร้สัมผัส 400,000-500,000 ใบ ในปีนี้ จากปี2563 อยู่ที่ 190,000 ใบและเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ.นี้อยู่ที่ 520,000 ใบ