นายกฯ กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลพื้นที่ชายแดน
นายกฯ สั่งการกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการการทำงานดูแลพื้นที่ชายแดน
วันนี้ (2 เมษายน 2564) เวลา 13.30 น. ณ ที่พักผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงต่อกรณีสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา ซึ่งในโอกาสนี้ได้เชิญนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมชี้แจงกรณีนี้ด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงกังวลต่อผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบฝั่งเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้สั่งการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการการทำงานดูแลพื้นที่ตามแนวชายแดน
โฆษกรัฐบาลกล่าวว่านายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายในการทำงานให้หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องได้แก่ กองทัพบก กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง บูรณาการการทำงานร่วมกัน ประเมินสถานการณ์ เตรียมแผนการดูแลกลุ่มผู้หนีภัยเข้าประเทศไทยตามแนวเขตพื้นที่ชายแดน ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการดูแลกลุ่มผู้หนีภัยตามหลักมนุษยธรรม และหลักการสากล ตลอดจน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและให้จัดการดูแลตามหลักการทางสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทุกหน่วยงานได้ยึดถือปฏิบัติเป็นแนวทางในการทำงานมาตลอด โดยเฉพาะในส่วนของการดูแลผู้หนีภัย ซึ่งหลักการแรกที่รัฐบาลพิจารณาคือหลักการด้านมนุษยธรรม ไทยได้ช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างดีที่สุด
ในส่วนของการดูแลคนไทยในเมียนมา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมความพร้อมในการดูแลช่วยเหลือคนไทย และประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งซักซ้อมการดำเนินการให้สองคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานได้มีการรายงานมายังนายกรัฐมนตรีเป็นระยะ
ด้านอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมาโดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
1. ท่าทีของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมา ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่สบายใจอย่างมากต่อรายงานการเสียชีวิตและบาดเจ็บที่เพิ่มมากขึ้น จึงขอให้ทางการเมียนมาใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างมากในการดำเนินการใด ๆ รวมถึงการคลี่คลายสถานการณ์ ยุติการใช้ความรุนแรง และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวมากขึ้น และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามร่วมกันหาทางออกโดยสันติวิธี ผ่านช่องทางที่สร้างสรรค์โดยเร็ว ประเทศไทยกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งรวมถึงเมียนมาเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืนสำหรับประชาชนเมียนมาและเพื่อให้เมียนมากลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุดที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ เมียนมาที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ ความเป็นปึกแผ่นและความเจริญรุ่งเรืองจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะสำหรับเมียนมาแต่สำหรับอาเซียน ภูมิภาค และนอกภูมิภาคด้วย
2. การให้ความช่วยเหลือคนไทยในเมียนมา กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ว่าสถานการณ์ในกรุงย่างกุ้งยังมีการประท้วงและการปะทะกันเป็นจุด ๆ อย่างไรก็ดี ยังสามารถจัดหาอาหารและข้าวของต่าง ๆ ได้สะดวก ไม่ขาดแคลน กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง มีการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมช่วยเหลืออพยพคนไทยไว้อยู่แล้ว และมีการประเมินสถานการณ์ทุกวัน โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับทีมประเทศไทย กรุงย่างกุ้ง รวมถึงผู้แทนชุมชนไทยและภาคธุรกิจไทยมีการประชุมหารือสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการปรับปรุง ซักซ้อมแผนการอพยพคนไทยมาโดยตลอดให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบันและด้วยความรอบคอบรัดกุม
3. กรณีผู้หนีภัยความไม่สงบ ประชาชนชาวเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงได้หนีภัยการสู้รบข้ามมาฝั่งไทยด้านอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นผลจากการปะทะในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมากับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) ไทยได้ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ในเมียนมาและบริเวณแนวชายแดนอย่างใกล้ชิดมาระยะหนึ่งแล้ว และได้มีการประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง สำหรับนโยบายต่อกลุ่มผู้หนีภัยเข้ามาในไทยนั้น ขอให้มั่นใจว่า ไทยมีประสบการณ์ในการรับมือกับกลุ่มต่าง ๆ ที่หนีภัยจากประเทศเพื่อนบ้านตามหลักมนุษยธรรมและหลักสากลระหว่างประเทศมาโดยตลอด
โดยในช่วงท้าย โฆษกรัฐบาลกล่าวเพิ่มเติมว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้รับข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากเมียนมา เพื่อประเมินและเข้าใจสถานการณ์ในเมียนมาได้ดีขึ้น