รพ.เอกชนดังรุกตลาด 'กัญชา กัญชง'

รพ.เอกชนดังรุกตลาด 'กัญชา กัญชง'

หลังจากที่มีการปลดล็อคกัญชา กัญชง ให้ใช้ทางการแพทย์ รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นๆ ได้ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ให้ความสนใจตลาด"กัญชา กัญชง"เนื่องจากมูลค่าตลาดราว1พันล้านบาทบาท คาดโต 1 หมื่นล้านใน 4 ปี

ล่าสุด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ ลงนาม MOU กับ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ในโครงการ วิจัยและผลิตพืช "กัญชา" "กัญชง" และกระท่อม เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ยกระดับมาตรฐานการพัฒนาและผลิตเพื่อใช้ทางการแพทย์ เชิงวิจัยพร้อมให้การสนับสนุนแบบครบวงจร ครอบคลุมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ สนับสนุนเกษตรกรเพาะปลูก จัดตั้งโรงสกัด แล็บทดลอง เทคโนโลยีการผสมและผลิต การจัดจำหน่าย ตลอดจนส่งเสริมสถาบันการศึกษาให้เกิดการพัฒนาด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง ด้วยทุนสนับสนุนกว่า 300 ล้านบาท เป็นค่าโรงสกัดราว 100 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าโรงเรือน บุคลากร เมล็ดพันธุ์ และอื่นๆ

ซึ่ง ประเทศไทยมี “ศูนย์วิจัยยาเสพติด” วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยองค์การอนามัยโลก ได้แต่ตั้งให้เป็น WHO Collaborating Centre for Research and Training in Drug Dependence (WHOCC) แห่งเดียวในประเทศไทย ในปี 2523 หน้าที่หลัก คือ การศึกษาวิจัย การสร้างนวัตกรรม และเชื่อมโยงข้อมูล องค์ความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล ด้านปัญหายาเสพติดรวมถึงผลเกี่ยวเนื่องและผลกระทบด้านสุขภาพที่สำคัญ

ในปีที่ผ่านมา มีการขยายการดำเนินงาน โครงการวิจัยกัญชา : เชิงสังคมและเชิงวิทยาศาสตร์และแนวทางกฏหมายตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ สนับสนุนทุนโดย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) บนที่ดินจุฬาฯ - สระบุรี เพื่อวิจัยกัญชาเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การเพาะปลูกแบบชีวภาพ รวมทั้งการสร้างระบบ วิธีการ ติดตามควบคุมกัญชา มากกว่า 1,000 ต้น ในพื้นที่ราว 1 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในการปลูกล็อตที่ 2

โดยการวิจัยและพัฒนา "กัญชา" เริ่มตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีสารสกัดในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการควบคุมดูแลที่ดี ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเตรียมดินและปุ๋ยชีวภาพ เพาะปลูกในอุณหภูมิและระดับความชื้นที่เหมาะสม การพัฒนาสายพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ การสกัดสารที่สำคัญ และการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ

การลงนามดังกล่าว จะเป็นวิจัยแบบครบวงจร ครอบคลุมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ สนับสนุนเกษตรกรเพาะปลูก จัดตั้งโรงสกัด แล็บทดลอง เทคโนโลยีการผสมและผลิต การจัดจำหน่าย ตลอดจนส่งเสริมสถาบันการศึกษาให้เกิดการพัฒนาด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง 

“ศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย” รองคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยยาเสพติด ระยะแรก ประสบความสำเร็จในการปลูกแบบชีวภาพ ควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการปลูกกัญชา การพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ที่สามารถเพาะปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) ภายใต้สภาพภูมิอากาศชื้น ตลอดจนได้ทดลองเพาะปลูกกัญชาในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเพาะปลูกในพื้นที่ร่ม (Indoor) และเพาะปลูกในโรงเรือน (Green House) ตลอดจนการศึกษาปรับปรุงสายพันธุ์ กับการเพาะปลูกในรูปแบบต่างๆ และวิธีการจัดเก็บสารสกัดที่สำคัญ เพื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มุ่งสู่ Medical Grade เพื่อประโยชน์สูงสุดทางการแพทย์

“การจับมือกันในครั้งนี้ แผนการดำเนินงานคาดหวังว่าจะส่งผลทำให้เกิดสาร THC และ CBD ให้ได้ประโยชน์สูงสุดในส่วนของต้นน้ำ ขณะที่ “กลางน้ำ” ในเรื่องของการสกัด จุฬาฯ มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก โรงงานได้มาตรฐาน รวมถึงวางแผนไปถึงการตรวจแล็บ และ “ปลายน้ำ” มุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์หลากหลาย ทำอย่างไรให้ได้สารสกัดเหมาะกับการใช้ประโยชน์ในแต่ละโรค” ศ.ดร.จิตรลดา กล่าว

ด้าน "นพ.บุญ วนาสิน" ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า หลังจากได้ติดตามเรื่องนี้มา 6 – 7 เดือน "กัญชา" "กัญชง" ตอนนี้มีผู้สนใจเยอะ เรามีประสบการณ์เรื่องนี้มากว่า 7-10 ปีที่ต่างประเทศ ขณะที่กัญชาที่ไทยใช้มาหลายพันปี และมีหลายสายพันธุ์ ทั้งนี้ การร่วมมือครั้งนี้ จะโฟกัสที่กัญชงเป็นหลัก เนื่องจากมี CBD สูง เหมาะสำหรับนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และยังมีการปลูกน้อยในประเทศไทย

“การนำไปใช้ในทางการแพทย์ ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี เพาะปลูก การสกัดสารสำคัญ การนำสารสำคัญไปใช้เพื่อการผลิตเวชภัณฑ์ยาที่ได้มาตรฐาน โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสนับสนุน การเพาะปลูก วิจัย สกัด และตรวจวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ระดับ Medical Grade สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ และจำหน่ายเชิงพาณิชย์ พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาพืชกัญชงเพิ่มมากขึ้น” นพ.บุญ กล่าว

ทั้งนี้ "THG" ให้การสนับสนุนในการจัดหาเทคโนโลยีในการจัดตั้ง โรงงานสกัดจาก "กัญชา" ที่มีมาตรฐานในระดับ Medical Grade ให้สามารถสกัดสารสำคัญต่างๆ ได้อย่างมีประสิทฺธิภาพและมาตรฐานความปลอดภัยสูง ตลอดจนการตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบระดับสารสำคัญ ต่างๆ ตรวจสอบสารปนเปื้อน เพื่อนำไปสู่การออกใบรับรองมาตรฐานระดับ Medical Grade พร้อมกับสนับสนุนการจัดหาเทคโนโลยีด้านการผสมสารสกัด และการพัฒนาเวชภัณฑ์ยาเพื่อใช้ทางการแพทย์ รวมถึงดูแลด้านการตลาด และการจัดจำหน่ายอีกด้วย คาดใช้เวลา 8 เดือน ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในบ้านเราได้

นพ.บุญ กล่าวต่อไปว่า ในระยะแรก มุ่งไปที่การสนับสนุนด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยสนับสนุนการปลูก และการจัดตั้งโรงสกัดที่ได้มาตรฐาน จากนั้น จะเป็นการขยายการปลูก และกำลังการผลิต โดยอาจมีพันธมิตรร่วมลงทุน เชื่อว่าการร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับการแพทย์ไทย ที่จะเปิดโอกาสให้คนได้เข้าถึงทางเลือกในการรักษาโรค โดยมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งช่วยสนับสนุนภาควิชาการ เพิ่มขีดความสามารถในการวิจัย พร้อมส่งเสริมชาวไร่ยาสูบมาปลูกกัญชงแทน เล็งนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง 4 สายพันธุ์ ที่เหมาะสมกับภูมิอากาศของไทย โดยผ่านทางจุฬาฯ 

“โรงพยาบาล เน้นในเรื่องวิชาการ วิจัย และพัฒนา สิ่งที่คาดหวัง คือ ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ เพื่อจำหน่ายสร้างผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เนื่องจากสาร CBD สามารถลดการอักเสบ รักษาได้หลายโรค โดยเฉพาะโรคข้อ อาการทางระบบประสาท และหากใช้ THC ร่วมด้วยจะสามารถแก้ปวด ลดการใช้มอร์ฟีน”

“ที่ผ่านมา โรงพยาบาลมีการลองใช้ผลิตภัณฑ์ "กัญชา" ทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน พบว่าช่วยลดการใช้สเตียรอยด์ที่แพงและอันตราย ถือเป็นการเสริมแพทย์แผนปัจจุบัน มูลค่าตลาดปัจจุบันพันล้านบาท และเติบโตไปถึงหมื่นล้านในสี่ปี ถือเป็นตลาดที่ใหญ่พอสมควร” นพ.บุญ กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากที่ภาครัฐประกาศปลดล็อคกัญชา ให้ใช้ทางการแพทย์สามารถนำส่วนอื่นๆ ยกเว้นช่อดอก และเมล็ดกัญชา ไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเปิดให้วิสาหกิจชุมชนขออนุญาตปลูกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานวิจัย โดยปัจจุบัน มูลค่าตลาดรวมกัญชา กัญชง ราว 1,000 ล้านบาท คาดเติบโตถึง 10,000 ล้านบาทภายใน 4 ปีข้างหน้า

161763569361

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : แห่ชิงขุมทรัพย์ 'กัญชา-กัญชง'

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ค้นหาคำตอบ!! จับคู่ธุรกิจ 'กัญชา' ต้องทำอย่างไร?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รัฐดัน 'กัญชง-กัญชา' พลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก