'เอเปค' ปลุกเศรษฐกิจ รับความท้าทายหลังโควิด-19
'เอเปค'ปลุกเศรษฐกิจรับความท้าทายหลังโควิด ซึ่งความร่วมมือเอเปคเป็นเวทีไร้ข้อผูกมัด แต่เป็นแหล่งบ่มเพาะทางความคิด 21 เขตเศรษฐกิจ ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก เพราะจีดีพีของเอเปคคิดเป็น 60% ของโลก
เศรษฐกิจทั่วโลกที่ขับเคลื่อนด้วย "ระบบการค้าเสรีนิยม" ยังเป็นคำตอบสุดท้ายให้กับระบบการค้าในปัจจุบันอยู่หรือไม่ ในเมื่อหลายเขตเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือเกิดกระแสปกป้องการค้า ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อโลกในทุกมิติ
เรื่องนี้ต้องมาฟัง "เชิดชาย ใช้ไววิทย์" อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ที่พูดถึงทิศทางเศรษฐกิจและสิ่งที่ไทยจะผลักดันในการเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ปี2565 ว่า ไทยมีความมุ่งมั่นจะใช้โอกาสที่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจมาเจอกัน นำไปสู่ความร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยเฉพาะเชื่อมโยงการเดินทางและการท่องเที่ยวให้กลับคืนมาเหมือนเดิมให้มากที่สุด
“ไทยจะใช้โอกาสนี้ทำให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเด็นที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังโควิด-19 การเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจไทยกับภาคธุรกิจเขตเศรษฐกิจเอเปคอื่น ๆ และการแสดงศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อต่างชาติเพื่อดึงดูดการค้าการลงทุน โดยพิจารณาภูมิรัฐศาสตร์ของโลกในปัจจุบันและอนาคต” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าว
เชิดชาย เชื่อมั่นว่า ในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค บรรยากาศและความร่วมมือทางการค้าจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจสหรัฐ ภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน, องค์การการค้าโลกแต่งตั้งเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศไนจีเรีย เป็นผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ ซึ่งแน่ชัดว่า โอคอนโจ-อิเวียลา จัดทำกฎระเบียบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กฎระเบียบด้านการอุดหนุนประมง และการจัดทำกฎเกณฑ์เพื่อจำกัดการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตร การให้ความสำคัญกับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม (MSME) และการส่งเสริมบทบาทของ MSME หญิง
ปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคจะกระตุ้นชีพจรลงเท้าแก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจได้มาพบปะกันอย่างเห็นหน้าเห็นตาจริงๆ ที่ประเทศไทย โดยจะพิจารณาตามแต่สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ให้เหมาะสม ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผู้นำเอเปคจะได้เดินทางมาเจอกัน นับตั้งแต่มีการประชุมเอเปคซัมมิทที่ปาปัวนิวกีนี
“เอเปคไม่ใช่เวทีเพื่อกำหนดกฎระเบียบการค้าและการลงทุน แต่เป็นแหล่งบ่มเพาะทางความคิดของ 21 เขตเศรษฐกิจ โดยไม่มีข้อผูกมัด ขณะที่เสียงสะท้อนจากเวทีเอเปคส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก เพราะจีดีพีของเอเปคคิดเป็น 60% ของโลก” อธิบดีกรมเศรษฐกิจ กล่าว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือเอเปคเติบโตอย่างมีนัย ตามที่มีการรับรองเอกสาร “วิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปคปี 2040” ได้สำเร็จ และไทยก็ต้องการสานต่อ โดยเฉพาะประเด็นการสร้างความมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจโลกของประชาชนไทยทุกคน และคนรุ่นต่อไป ซึ่งรวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึง MSME ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต่อไปในอนาคต
ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศจัดประชุมระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่1 เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการประชาสัมพันธ์ วาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 มุ่งให้สาธารณชนไทยเล็งเห็นและใช้ประโยชน์จากการประชุม รวมทั้งให้ต่างประเทศได้รับทราบถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยเพื่อดึงดูดการค้าการลงทุนต่างประเทศ
การประชุมระดมสมองเป็นการหารือประเด็นหลักที่ไทยผลักดัน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน 2.การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และ3.การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม
ในเรื่องหลักแบ่งเป็นความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ 1.การส่งเสริมการค้าการลงทุนอย่างเสรี 2.การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ 3.ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร 4.สุขภาวะ (well-being) และ5.การก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล ให้ตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green : BCG Economy Model) ถือเป็นการวางเป้าประสงค์และวาระแห่งชาติของไทย
เชิดชาย กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า รัฐบาลไทยเล็งเห็นความสำคัญ BCG โมเดลที่จะเป็นกุญแจสำคัญขับเคลื่อนความร่วมมือเอเปค มุ่งส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก ด้วยการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกด้านการค้า การบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์กรการค้าโลก และการที่โลกกำลังหมุนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต