'ฉีดวัคซีน-กระตุ้นศก.'ปัจจัยหนุนศก.โลกฟื้น
'ฉีดวัคซีน-กระตุ้นศก.'ปัจจัยหนุนศก.โลกฟื้น ขณะไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจว่าจะขยายตัว 6% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้เมื่อเดือนม.ค. ว่าจะขยายตัว 5.5%
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (ดับเบิลยูอีโอ) โดยปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจว่าจะขยายตัว 6% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้เมื่อเดือนม.ค. ว่าจะขยายตัว 5.5% เพราะปัจจัยหนุนจากโครงการฉีดวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลก แต่ก็เตือนว่าความท้าทายยังคงมีอยู่ เนื่องจากแต่ละประเทศมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนไม่เท่ากัน
ไอเอ็มเอฟ ยังปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2565 ด้วย โดยคาดว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัว 4.4% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ว่าจะขยายตัว 4.2% ส่วนจีน ไอเอ็มเอฟได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2564 เป็น 8.4% ผลพวงจากการที่จีนมีมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง
ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนเพิ่มขึ้น 0.3% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค. ขณะที่การคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2565 ว่ายังคงอยู่ที่ 5.6% ซึ่งเป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนในหลายประเด็น ตั้งแต่การค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และความมั่นคงทางไซเบอร์
รายงานระบุว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าแบบใหม่ท่ามกลางข้อจำกัดด้านการค้าที่สูงอยู่แล้ว และการดำเนินการดังกล่าวอาจเพิ่มความไร้ประสิทธิภาพและถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการกีดกันทางด้านเทคโนโลยีด้วย
ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าจีนจะคุมเข้มนโยบายการคลังและการเงินเล็กน้อยในปีนี้ หลังจากที่มีการขยายตัวด้านการคลังครั้งใหญ่ในปี 2563 และจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในปี 2564 ก่อนจะค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติในปี 2565
ส่วนอังกฤษ ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะขยายตัว 5.3% ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนม.ค.ว่าจะขยายตัว 4.5% เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่รวดเร็ว ประกอบกับการที่รัฐบาลอังกฤษออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้
ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเติบโตเร็วกว่าประเทศกลุ่มยูโรโซน หลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี 2563 แต่ก็คาดว่าอาจจะยังไม่สามารถกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ก่อนปี 2565
อังกฤษมียอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงที่สุดในภูมิภาคยุโรป ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัวลงเกือบ 10% ในปี 2563 ซึ่งนับว่าย่ำแย่เกือบที่สุดในกลุ่มประเทศผู้นำเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรป แต่อังกฤษสามารถระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เร็วกว่าประเทศในภูมิภาคยุโรปเกือบทั้งหมด ประชาชนเกือบ 50% ในอังกฤษได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรกแล้ว เทียบกับอัตราการฉีดวัคซีนของเยอรมนีและฝรั่งเศสที่น้อยกว่า 15%
ในรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจที่เผยแพร่ครั้งนี้ ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 4.4% ในปี 2564 ขณะเดียวกันคาดว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะขยายตัว 3.6% และเศรษฐกิจฝรั่งเศสจะขยายตัว 5.8%
ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า ทั้งอังกฤษและประเทศยูโรโซนอาจจะใช้เวลามากกว่าสหรัฐและญี่ปุ่นในการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่นนั้น จะกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจอังกฤษปี 2565 ขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 5.1% ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มประเทศผู้นำเศรษฐกิจของยุโรปในปีหน้า
“กิตา โกปินาถ”หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ มีความเห็นว่า การปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกเป็นผลสืบเนื่องมาจากการมองเห็นทางออกของวิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอ็มเอฟผู้นี้ยังประเมินสถานะทางเศรษฐกิจโลกปี 2563 ที่ผ่านมาว่า หดตัวประมาณ 3.3% ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะหดตัวถึง 3.5% อานิสงส์จากการที่รัฐบาลทั่วโลกพร้อมใจกันอัดฉีดงบประมาณรวมกว่า 16 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และหากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจโลกปีที่แล้วน่าจะเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถึงสามเท่า
รายงานไอเอ็มเอฟระบุด้วยว่า กลุ่มประเทศที่มีปัญหาเรื่องความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีนและมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับจำกัด รวมทั้งกลุ่มประเทศที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นรายได้สำคัญ อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ
แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญยังคงเป็นภาวะการระบาดของโควิด-19 ที่มีการระบาดไปทั่วโลก รวมทั้งความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลก ไอเอ็มเอฟจึงใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้ธนาคารกลางทั่วโลกเตรียมนโยบายการเงินที่พร้อมสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ