'ออมเงิน' แบบไหน ‘เกษียณสุขอยู่สบาย’

'ออมเงิน' แบบไหน ‘เกษียณสุขอยู่สบาย’

กูรูแนะ “ออมเงิน” รับ “วัยเกษียณ” มีพอใช้สบาย20ปี “วัยกลางคน” ต้องมีเงิน 5 ล้านบาท แนะเริ่มออมเงินเฉลี่ย20-25% ของเงินเดือน เน้นลงทุนหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ผลตอบแทน 10% ต่อปี

ในปี 2564ประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์”(Aged Society)โดยมีผู้สูงอายุ สัดส่วน20%ของประชากรทั้งหมดซึ่งมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วติดอันดับ 10 ของโลก โดยสถานการณ์ดังกล่าวมาจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และด้านการแพทย์ที่ช่วยให้ประชากรมีอายุยืนขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง จากการ Survey ของ Spotlight on Thailand เมื่อปี 2561ได้สถิติที่น่าตกใจว่า ประชากรในประเทศไทยกว่า 85% ยังมีเงินไม่พอเกษียณและยังไม่ได้วางแผนหรือเตรียมการใดๆ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ รวมถึงยังมีข้อจำกัดจากการลงทุนที่เน้นลงทุนเฉพาะในประเทศ(Home Bias) ทำให้พลาดโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ( AIMC) ล่าสุดระบุว่า ในปี 2562 มีจำนวน บัญชีกองทุนทั้งสิ้น 7 ล้านบัญชีหรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง10% ของจำนวนบัญชีเงินฝาก สะท้อนว่า "คนไทยส่วนใหญ่ยังออมเงินในรูปแบบเงินฝาก"

และจำนวนบัญชีกองทุนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเพียง 15.7% ต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศเท่านั้น ถือว่ามีคนไทยเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่มีกองทุนซึ่งเป็นเครื่องมือการลงทุนรองรับการเกษียณในระดับแรก แต่ขณะที่สินทรัพย์ลงทุนผ่านกองทุน ณ เดือนมี.ค.ปี 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนตราสารหนี้ สัดส่วนถึง 44% หุ้น 32% และอื่นๆ อาจทำให้คนไทยยังมีเงินไม่พอเกษียณ

ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า แล้วเท่าไรถึงพอใช้หลังเกษียณ? ไม่ต้องลำบากลูกหลานหรือญาติพี่น้องมาเลี้ยงดู หรือรอรับสวัสดิการผู้สูงอายุจากรัฐบาล

นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ข้อมูลอ้างอิงจากUNในปี2562ข้อมูลการเกษียณอายุที่ 60 ปี โดยผู้ชายอายุเฉลี่ย 73 ปี และผู้หญิงอายุเฉลี่ย 81 ปี เท่ากับว่าต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณโดยไม่มีรายได้ราว 20 ปี

โดยได้ยกตัวอย่าง วัยทำงาน (วัยกลางคน) อายุ 40 ปี จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี ต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ 20 ปี จำนวน 5.04 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 21,000 บาทต่อเดือน

แนะนำด้วยรูปแบบการลงทุน สำหรับ ช่วงอายุเริ่มต้นออมเงินที่ 40-49 ปี ควรมีเงินออมเฉลี่ย 20-25% ของเงินเดือน เน้นลงทุนในหุ้น 75%และที่เหลือในตราสารหนี้ 25%เพื่อโอกาสในการเติบโตเงินลงทุน และปรับลดสัดส่วนของหุ้นลงเหลือ 45% และมาเน้นการลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้นเป็น 55% เมื่อขยับเข้าใกล้ปีเกษียณ เพื่อช่วยปกป้องเงินลงทุนเมื่อใกล้เกษียณอายุ รวมถึงหากสามารถรับความเสี่ยงการจากลงทุนในต่างประเทศ ก็ควรเปิดโอกาสรับผลตอบแทนจากทั่วโลก ผลตอบแทน10%ต่อปี

อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนควรเริ่มวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะให้มีระยะเวลามากพอให้เงินสามารถงอกเงยได้ตรงตามเป้าที่วางไว้

โดย ช่วงอายุเริ่มต้นออมเงิน เริ่มทำงานถึง 39 ปี ควรมีเงินออมเฉลี่ย 10% - 15% ของเงินเดือน, อายุ 40-49 ปี ควรมีเงินออมเฉลี่ย20-25%ของเงินเดือน, อายุ 50-54 ปี ควรมีเงินออมเฉลี่ย45-50%ของเงินเดือน และ อายุ 55-59 ปี ควรมีเงินออมเฉลี่ย80-85%ของเงินเดือน

จะสังเกตได้ว่า เราควรเริ่มออมอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ตอนอายุน้อยๆ เพราะยิ่งเราเริ่มต้นออมช้าเท่าไหร่ ภาระในการเก็บออมต่อเดือนก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเงินออมรายเดือน(%ของเงินเดือน)นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนของแต่ละคน และถ้ายิ่งออมเร็ว จำนวนเงินออมต่อเดือนจะยิ่งน้อยลง เพราะมีระยะเวลาออมเงินที่นานขึ้นถ้ายอมรับความเสี่ยงในการลงทุนได้สูงขึ้น เช่น การลงทุนในกองทุนผสม ที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้มีโอกาสรับผลตอบแทน10%ต่อปี จะมีเงินออมต่อเดือนน้อยลง

โดยปัจจัยหลักจะมาจากการรู้จักเลือกลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เช่น กองทุนรวม พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ฯลฯ โดยต้องคำนึงถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งโดยปกติเมื่อมีอายุน้อยก็ควรรับความเสี่ยงได้มากและค่อยๆลดไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนมือใหม่ทั่วไปอาจจะรับความเสี่ยงมากไปหรือน้อยเกินไปในแต่ละช่วงอายุทำให้ปลายทางไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเกษียณได้

161838086393

นางสาวอรพรรณ บัวประชุม ผู้อำนายการอาวุโสทีมBF Knowledge Center บลจ. บัวหลวง เปิดเผยว่า สำหรับวัยเริ่มต้นทำงาน(วัยอายุน้อย) อายุ20ปีหากเริ่มลงทุนอายุ25ปีจะเกษียณตอนอายุ 55 ปีต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ30ปี จำนวน10.8ล้านบาท หรือเฉลี่ย30,000บาทต่อเดือน

หากยังไม่มีเงินลงทุนตั้งต้น ต้องลงทุนเดือนละ 4,800 บาท ด้วยผลตอบแทน 10% ต่อปี ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ แต่อย่าลืมว่า เงิน 30,000 บาทในอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าเท่ากับ 12,000 บาทในวันนี้ นั่นก็หมายความว่า เงิน 10 ล้านบาทในอีก 30 ปีข้างหน้า มีมูลค่าเพียง 4.4 ล้านบาทในวันนี้เท่านั้นดังนั้น เพื่อไม่ให้เงินเฟ้อทำให้มูลค่าเงินของเราลดลง เมื่อสะสมได้เพียงพอแล้ว หลังเกษียณยังต้องลงทุนต่อไป เพื่อไม่ให้เงินของเราหดหายจากเงินเฟ้อ

รูปแบบที่เริ่มต้นลงทุนได้ แนะนำว่า ควรแบ่งเงินออมอย่างน้อย 20% ของเงินเดือน หากทำงานบริษัทแล้วมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)ใส่เงินสะสมเต็มสิทธิ 15% อีก 5% ก็มาสะสมในกองทุนเปิดทั่วไป หากรับความเสี่ยงได้สูง พอร์ตการลงทุนควรมีการลงทุนหลากหลาย ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หุ้นโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ฯ รวมถึงทองคำ เมื่อถึงช่วงที่เสียภาษีมากขึ้น ก็เน้นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)ซึ่งจะได้ประโยชน์ทางด้านภาษี และช่วยให้ลงทุนได้ตามเป้าหมาย