ทอท.ยันสนับสนุน 'การบินไทย' บริการภาคพื้นและคลังสินค้าภูเก็ต
ทอท.ยันสนับสนุนการดำเนินงานของ “การบินไทย” ในการให้บริการภาคพื้นและคลังสินค้าท่าอากาศยานภูเก็ต ตามขั้นตอนกฎหมายกำหนด แจงเหตุดึงบริษัทลูกเข้าบริหาร หวั่นความพร้อมอุปกรณ์และบุคลากรของการบินไทยอาจไม่เพียงพอ
รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เผยว่า ทอท.พร้อมสนับสนุน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการประกอบกิจการบริการภาคพื้นและคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ภายใต้กระบวนการในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 9 คือต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 พ.ศ.2563 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 และประกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยตามที่ ทอท. ได้ให้สิทธิประกอบการบริการภาคพื้น ณ ทภก.แก่การบินไทย มีอายุสัญญาตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2563 - 29 เมษายน 2564 โดยได้ผูกอยู่กับสัญญาอนุญาตให้บริการคลังสินค้า ณ ทภก.ด้วย นั้น เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 การบินไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับเลือกเป็นคู่สัญญาของรัฐตามประกาศคณะกรรมการ นโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2562 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562
อีกทั้ง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 การบินไทยได้มีหนังสือขอต่ออายุสัญญาประกอบการฯ แต่เนื่องจากจะขัดกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ ข้างต้น ดังนั้น ทอท. จึงไม่สามารถพิจารณาการให้สิทธิดำเนินการประกอบกิจการทั้ง 2 กิจกรรมแก่การบินไทยต่อเนื่องได้ ซึ่ง ทอท. ได้แจ้งประเด็นดังกล่าวให้การบินไทยรับทราบแล้วในการประชุมร่วมกันระหว่าง ทอท. และการบินไทย มาโดยตลอด ได้แก่
- การประชุมเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563
- การประชุมเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564
- การประชุมเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564
ซึ่งการบินไทยรับทราบปัญหา แต่มิได้ดำเนินการใดๆ ตามกระบวนการกฎหมายจนสัญญาหมดอายุ
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 โดยยกเว้นให้นิติบุคคลที่ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการหรือถูกศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่เป็นนิติบุคคลที่หน่วยงานของรัฐมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่า 25% และเป็นหรือเคยเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 สามารถร่วมลงทุนกับหน่วยงานรัฐได้
แต่การให้สิทธิประกอบการยังคงต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 9 ฯ โดย ทอท.มีความยินดีและพร้อมที่จะพิจารณาให้สิทธิการบินไทยประกอบกิจการตามขั้นตอนของกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การให้บริการภาคพื้นและคลังสินค้า ณ ทภก.เป็นกิจกรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการให้บริการของสนามบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมให้บริการภาคพื้น ซึ่งมีการบินไทยเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียว หากสิ้นสุดสัญญา ณ วันที่ 29 เมษายน 2564 จะไม่มีผู้ประกอบการรายใดให้บริการเลย และ ทอท. มีความกังวลในเรื่องความพร้อมในการให้บริการของการบินไทยทั้งในส่วนของอุปกรณ์ และบุคลากร ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการได้ทันทีที่เที่ยวบินระหว่างประเทศเริ่มกลับมาทำการบินตามปกติ อันจะกระทบต่อความต่อเนื่องทางธุรกิจและการเปิดประเทศ
ดังนั้น เพื่อสร้างเสถียรภาพในการดำเนินกิจการให้บริการภาคพื้นและคลังสินค้า ณ ทภก.ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก และเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับประเทศโดยรวม ทอท. จึงจำเป็นต้องให้บริษัท AOTGA ซึ่งมีความพร้อมเข้าประกอบกิจการแทน และเพื่อรองรับในทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าการประกอบการของบริษัท AOTGA ในปัจจุบันจะอยู่ในสภาวะขาดทุนก็ตาม
และเมื่อผู้โดยสารกลับมาเป็นปกติและสามารถทำกำไรได้แล้ว การบินไทยก็สามารถร่วมทุนกับ ทอท. ในกิจกรรมดังกล่าวได้ ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดโอกาสให้การบินไทยสามารถเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทร่วมของ ทอท. ได้ในอนาคต หรือหากการบินไทยไม่ประสงค์จะร่วมทุนฯ การบินไทยก็สามารถยื่นความจำนงเข้าขอประกอบกิจการตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดได้ต่อไป
ทั้งนี้ ทอท. ในฐานะผู้บริหารสนามบินหลัก 6 แห่งของไทย ซึ่งถือเป็นประตูสู่ประเทศ มีความยินดีและพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของ บกท.ที่เป็นหน่วยงานที่ได้ทำงานเคียงข้างร่วมกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ในธุรกิจการบินให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ เพื่อร่วมมือกันผลักดันให้อุตสาหกรรมการบินของไทยเติบโตไปสู่ระดับโลกต่อไป