มีคำตอบ! 'รพ.สนาม' ดูแลผู้ป่วยโควิดอย่างไร? ปลอดภัยหรือไม่?
"รพ.สนาม" สังกัดอว.กระจายทั่วไทย คงเหลือ 7,193 เตียงรองรับ "ผู้ติดเชื้อโควิด 19" เปิดแนวทางการดูแลผู้ป่วย เล็งเพิ่มเตียงไอซียู ห้องความดันลบดูแลผู้ป่วยหนัก คาดปลายมิ.ย.นี้สถานการณ์ดีขึ้น
ด้วยจำนวนตัวเลข"ผู้ติดเชื้อโควิด 19" ในระลอกใหม่ที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด (20 เม.ย.64) มีผู้ป่วยสะสมระลอกเม.ย.จำนวน 16,322 ราย เสียชีวิตสะสม 14 ราย ผู้ป่วยสะสมของประเทศไทย 45,185 ราย ผู้เสียชีวิต สะสม 108 ราย ยังรักษาอยู่ 16,119 ราย แบ่งเป็นอยู่ในโรงพยาบาล(รพ.) 13,169 ราย "รพ.สนาม" 2,950 ราย โดยมีผู้ป่วยอาการหนัก 223 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 55 ราย ซึ่งเมื่อผู้ติดเชื้อมากขึ้น ผู้ป่วยหนักก็จะมากขึ้น
- "รพ.สนาม" สังกัดอว.คงเหลือเตียงรับได้7,193เตียง
“มหาวิทยาลัย” และ “โรงเรียนแพทย์” ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ปรับสถานที่ให้กลายเป็น “รพ.สนาม” รวม 37 แห่ง มีจำนวนเตียง12,822 เตียง กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยรายงานสถานการณ์ "รพ.สนาม" วันที่ 19 เมย 64 จากเดิมมีเตียงทั้งหมด 8,568 เตียง ขยายเพิ่มเป็น 12,822 เตียง รับผู้ป่วยเข้าใน"รพ.สนาม"ไปแล้ว 1,375 เตียง และยังคงเหลือเตียงที่สามารถรับผู้ป่วยได้ถึง 7,193 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 18 เม.ย.2564)
ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวนเตียงรองรับ 1,044 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 628 เตียง คงเหลือเตียง 418 เตียง พื้นที่ภาคเหนือ มีจำนวนเตียงรองรับ 1,098 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 540 เตียง คงเหลือเตียง 558 เตียง พื้นที่ภาคตะวันออก มีจำนวนเตียงรองรับ 335 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 0 เตียง คงเหลือเตียง 335 เตียง
พื้นที่ภาคตะวันออก มีจำนวนเตียงรองรับ 3,227 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 85 เตียง คงเหลือเตียง 3,142 เตียง พื้นที่ภาคใต้ มีจำนวนเตียงรองรับ 2,254 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว 96 เตียง คงเหลือเตียง 2,158 เตียง
- "ผู้ติดเชื้อโควิด 19" อยู่"รพ.สนาม"5วันถึงจะแสดงอาการ
ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ดูแล "ผู้ติดเชื้อโควิด 19" ที่มีอาการหนักและอาการปานกลาง 65 ราย ส่วนรพ.สนามธรรมศาสตร์ จะดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเบา ไม่รุนแรง จนถึงไม่มีอาการ ประมาณ 400 รายจากเตียงรองรับทั้งหมด 470 เตียง
“ตอนนี้ รพ.สนามธรรมศาสตร์ รับผู้ติดเชื้อโควิด 19 จากรพ.ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง โดยการดูแลจะมีเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีเครื่องเอกซเรย์ปอด เครื่องวัดความดัน และพักห้องละ 2 คน หรือคนเดียว ผู้ที่มาพักรพ.สนาม จะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการแล้ว มากักตัว 14 วันอยู่ร่วมกันได้ แต่จะแบ่งแยกหญิงชาย มีการเตรียมอาหาร และน้ำดื่มให้ หากผู้ป่วยมีอาการสามารถติดต่อกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ตลอดเวลา” ผศ.นพ.ฉัตรชัย กล่าว
อาการของ"ผู้ติดเชื้อโควิด 19" ประมาณ 60% จะแสดงอาการเมื่อเข้ามาอยู่รพ.สนาม 5-7 วันไปแล้ว "รพ.สนาม"จะส่งกลับไปยังรพ.ต้นสังกัด หรือรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติโดยจะส่งประมาณ 2-3 เคสต่อวัน ส่วนใหญ่จะอายุน้อยลง อายุ 20-30 ปี ส่งผลให้ขณะนี้แพทย์และบุคลากรรพ.สนามธรรมศาสตร์ และรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติต้องติดตามอาการผู้ป่วยเพิ่มเป็น 2 เท่า
- เล็งเพิ่มเตียง-ไอซียูผู้ป่วยหนัก
ผศ.นพ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่าตอนนี้รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รองรับผู้ป่วยโควิด 19 ซึ่งเป็นผู้ป่วยหนักและปานกลาง 60 คน และจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น กำลังหารือเพื่อเตรียมการเพิ่มเตียงในห้องไอซียู และห้องความดันลบ รวมถึงบริหารบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอและรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 อาการหนัก
"ผู้ติดเชื้อโควิด 19" รอบนี้มีทั้งผู้ที่มีอาการรุนแรง และไม่มีอาการอะไรเลย รวมถึงมีจำนวนติดเชื้อในผู้ป่วยอายุน้อยมากขึ้น ไปแสดงอาการเมื่อผ่านไปหลายวันและมีอาการรุนแรงด้วย ดังนั้น ถ้าทุกคนปล่อยตามสบาย มีโอกาสที่ตนเองติดเชื้อแล้วไปแพร่ให้แก่ผู้อื่น การระบาดก็จะขยายวงกว้างมากขึ้น เมื่อรพ.ไม่พอรองรับ ตอนนี้จะมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ อยากฝากทุกคนให้หยุดอยู่บ้าน ลดการแพร่เชื้อ สวมใส่หน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และปฎิบัติตามมาตรการสธ.อย่างเคร่งครัด
- “รพ.สนาม"มข.รับผู้ป่วย 258 เตียง
รศ.นพ.ชาญชัย. พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)กล่าวว่ามข.มีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มข.ดูแลรักษา"ผู้ติดเชื้อโควิด 19" อยู่แล้ว จำนวนกว่า 40 ราย จึงได้ปรับพื้นที่หอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยให้กลายเป็น "รพ.สนาม" ซึ่งมีทั้งหมด 86 ห้อง รองรับ 258 เตียง
โดยการดำเนินการใน"รพ.สนาม"แห่งนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกับคณะกรรมการควบคุมโรคของจ.ขอนแก่น และทีมแพทย์จากรพ.ศรีนครินทร์ มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการ"รพ.สนาม"ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบัน รพ.สนาม มข.ได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.2564 มีผู้ป่วยเข้ามาพัก 23 เตียง มีจากทุกพื้นที่ในภาคอีสาน
“รพ.สนามแห่งนี้ ให้บริการลักษณะสะเก็ดดาว คือ รักษาในรพ. และเมื่ออาการดีขึ้น ไม่มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น จะถูกส่งมาอยู่รพ.สนามอีก 14 วัน ซึ่งภายในรพ.สนามจะมีทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิร่าง และความดันวันละ 2 ครั้ง โดยรพ.สนามให้บริการอาหารทั้ง 3 มื้อ ไม่ให้ออกจากรพ.สนาม มีบริการซักเสื้อผ้าให้ เพื่อความสะอาด ปลอดเชื้อ และมีการออกแนวปฎิบัติอย่างชัดเจน ซึ่งคนไข้จะต้องเตรียมชุดชั้นในมาเอง แต่รพ.สนาม มข.จะเตรียมเสื้อผ้า อาหาร น้ำดื่ม พัดลม และรพ.สนาม มข.เป็นการใช้หอพัก ดังนั้นเราจะแบ่งแยกผู้ป่วยระหว่างหญิงและชาย ซึ่งผู้ป่วยสามารถอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย และปลอดภัย” อธิการบดี มข.กล่าว
- ปลายมิ.ย.คาดสถานการณ์ "โควิด 19" น่าจะดีขึ้น
ขณะที่ในส่วนของผู้ให้บริการ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงแม่บ้านจะมีการใส่ชุดปลอดเชื้อ และสวมหน้ากากตลอดเวลา ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค และกั้นบริเวณไม่ให้นักศึกษาหรือผู้เกี่ยวข้องเข้าไปได้ อธิการบดี มข.กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยพยายามจะดูแลและให้ความตระหนักรู้แก่นักศึกษา และประชาชนทุกคน เพื่อไม่ให้มีคลัสเตอร์ในมข.หรือที่อื่นๆ
ตอนนี้เป็นช่วงสอบปลายภาค มข.ได้ใช้รูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ดังนั้น มั่นใจได้ว่าหากทุกคนปฎิบัติ ให้ความร่วมมือในการดูแลสุขอนามัยของตนเองและครอบครัว ไม่ไปในพื้นที่เสี่ยง คาดว่าปลายเดือนมิ.ย.นี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น อยากฝากประชาชนทุกคนไม่อยากตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของโรคครั้งนี้ เพราะถ้าทุกคนระมัดระวัง ไม่ประมาท ไม่ตื่นตระหนก มีวินัย เชื่อว่าจะควบคุมโรคได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: จากมหาวิทยาลัยสู่ 'รพ.สนาม'ทั่วไทย1.2 หมื่นเตียง