คลัสเตอร์สมุทรสาคร บทเรียน ‘คลองเตย’
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะคลัสเตอร์ "คลองเตย" ที่กำลังเป็นพื้นที่อ่อนไหวของกรุงเทพฯในขณะนี้ นอกจากการเร่งควบคุมการระบาดอย่างเร่งด่วน และตั้งโรงพยาบาลสนามแล้ว จำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์พื้นที่เพื่อหยุดการกระจายไปพื้นที่อื่น
การระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ข้อมูลวันที่ 3 พ.ค.2564 อยู่ที่ 2,041 ราย สิ่งที่น่ากังวลไม่ได้มีเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่อยู่ที่จำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลวันเดียวกันมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 276 คน และรวมจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดของประเทศไทยอยู่ที่ 71,025 ราย ซึ่งอันดับผู้ติดเชื้อของประเทศไทยกำลังวิ่งแซงหลายประเทศอย่างเนื่อง
คลัสเตอร์คลองเตยกำลังเป็นพื้นที่อ่อนไหวของกรุงเทพมหานครในขณะนี้ เมื่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ล่าสุดของวันที่ 3 พ.ค.2564 พบผู้ติดเชื้อ 304 ราย ในพื้นที่ 12 ชุมชนของคลองเตย ซึ่งมีความน่ากังวลมากเพราะเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นประมาณ 8 หมื่นคน โดยข้อกังวลที่กระทรวงสาธารณสุขสรุปอยู่ที่ชุมชนคลองเตยมีความเป็นอยู่แออัดแยกกักตัวได้ยาก โดยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และมีอาชีพที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้
ในขณะที่การระบาดรอบที่ 2 มีจุดเริ่มต้นมาจากคลัสเตอร์สมุทรสาคร ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐลงพื้นที่เข้าไปตรวจเชิงรุกได้ประกาศล็อกดาวน์ จ.สมุทรสาคร โดยการตรวจหาเชื้อเชิงรุก ทำให้บางวันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึงเกือบ 1,000 คน และนำมาสู่การจำกัดการเข้าออกพื้นที่ที่มีการระบาดสูง แต่ก็ใช้เวลานับเดือนกว่าที่สถานการณ์ใน จ.สมุทรสาคร จะคลี่คลายลงได้ และต้องระดมความร่วมมืออย่างมากจากภาครัฐ ประชาชน และภาคเอกชน กว่าที่สมุทรสาครจะก้าวข้ามวิกฤติมาได้
ส่วนคลัสเตอร์คลองเตยที่มีแนวโน้มขยายวงมากขึ้น ดูเหมือนว่ากระทรวงสาธารณสุขจะเข้าใจเงื่อนไขที่น่ากังวลเมื่อเทียบกับการควบคุมคลัสเตอร์สมุทรสาคร เพราะถ้าควบคุมการระบาดในพื้นที่คลองเตยไม่ได้ จะทำให้การระบาดในกรุงเทพฯ รุนแรงขึ้น ซึ่งจำเป็นที่ต้องเร่งจัดให้มีการกักตัวหรือสังเกตอาการในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อลดการติดเชื้อ รวมถึงการวางระบบทางสาธารณสุขเพื่อรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อ เพื่อหยุดการกระจายไปพื้นที่อื่นในกรุงเทพฯ
การเร่งรัดจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยในคลัสเตอร์คลองเตย และลดภาระของโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ที่ต้องรับภาระหนักอยู่แล้ว เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมทั้งที่สำคัญหากจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง และจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ในพื้นที่คลองเตยจะต้องวางระบบการดูแลหรือเยียวยาประชาชนในพื้นที่ ซึ่งอาจจะขาดรายได้จากการหยุดทำงาน และนับจากนี้ทุกฝ่ายจะต้องวางแผนรับมือคลัสเตอร์ใหม่แห่งนี้ให้พร้อมมากที่สุด