โควิดทุบน้ำบ่อหน้า!ทัวร์-โรงแรม ลุ้นเดินหน้าปลุกเดินทาง มิ.ย.
เปรียบโครงการรัฐกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศ 2 โครงการ ทั้ง “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และ “ทัวร์เที่ยวไทย” เสมือน “น้ำบ่อหน้า!!” ของธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะบริษัททัวร์และโรงแรมในช่วงโลว์ซีซั่น
เพราะเดิมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมเปิดให้ประชาชนจองสิทธิ 2 โครงการดังกล่าวในวันที่ 17 พ.ค. และ 27 พ.ค.นี้ตามลำดับ สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการวันที่ 31 ส.ค.2564
แต่มีเหตุให้ต้อง “เลื่อน” เสียก่อน! เพราะมหันตภัยโควิด-19 ระลอก 3 แพร่ระบาดภายในประเทศเป็นวงกว้างและรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จึงมีคำสั่งขอให้ประชาชนงดการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรค โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ททท.จำต้องชะลอการเปิดจองสิทธิของทั้ง 2 โครงการด้วยประการฉะนี้
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ยังไม่อยากให้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย มาแทรกในช่วงที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 จึงต้องขยับระยะเวลาการใช้สิทธิออกไปก่อน เพื่อจับตาดูการระบาดว่าจะคลี่คลายลงเมื่อไร
“ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงมาเหลือหลักร้อยคนต่อวัน ก็น่าจะประกาศเริ่มเปิดจองสิทธิได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นภายในเดือน มิ.ย.นี้”
สุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นคาดว่าสมาชิกทีทีเอเอ จะเข้าร่วมการขายแพ็คเกจทัวร์ผ่านโครงการทัวร์เที่ยวไทยกว่า 100 ราย แต่พอโควิด-19 ระลอก 3 ระบาดภายในประเทศ ส่งผลให้ ศบค.ออกคำสั่งงดเดินทางเพื่อลดการเคลื่อนย้ายคน ทำให้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทยต้องล่าช้าออกไป ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวชนิดตั้งรับไม่ทัน!
“อย่างธุรกิจบริษัททัวร์จากที่กำลังจะลืมตาอ้าปาก รอความหวังจากโครงการทัวร์เที่ยวไทยที่รัฐบาลจะช่วยจ่ายเงิน 40% สนับสนุนให้ออกเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาผ่านบริษัทนำเที่ยว สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน ของแพ็คเกจราคาทัวร์ไม่เกิน 12,500 บาท กำหนดที่จำนวน 1 ล้านสิทธิ ภายใต้งบประมาณวงเงิน 5,000 ล้านบาท เดิมเตรียมเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 27 พ.ค.นี้ แต่พอเจอการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 เข้าไป ธุรกิจบริษัททัวร์ต่างได้รับความเสียหายอย่างมาก”
เพราะบริษัททัวร์ต่างรอโอกาสนี้มานานตั้งแต่ปลายปีที่แล้วซึ่งตั้งต้นด้วยโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋า ก่อนรัฐบาลจะปรับมาเป็นโครงการทัวร์เที่ยวไทยแทน ให้นักท่องเที่ยวไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปใช้สิทธิได้ ไม่จำกัดเฉพาะวัยเก๋าอายุ 55 ปีขึ้นไปเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีการปรับเงื่อนไข ลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่บริษัททัวร์สามารถให้บริการได้ จากเดิมให้บริการได้ไม่เกิน 3,000 รายต่อบริษัท เป็นไม่เกิน 1,000 รายต่อบริษัท เพื่อให้ครอบคลุมและกระจายประโยชน์แก่บริษัททัวร์อย่างทั่วถึงมากที่สุด โดยจะต้องเป็นบริษัททัวร์ที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเที่ยวกับกรมการท่องเที่ยวก่อนวันที่ 1 ม.ค.2563 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1 หมื่นบริษัท
หากเป็นไปได้ อยากให้ ททท.เปิดให้บริษัททัวร์ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทยก่อน ซึ่งน่าจะมีจำนวนบริษัททัวร์มาลงทะเบียนราว 1,000 บริษัท โดยทางสมาคมฯจะมุ่งขาย “แพ็คเกจทัวร์แบบพรีเมียม” ผ่านโครงการฯ เพราะถ้าไปทำแพ็คเกจทัวร์ขายราคาถูก 3,000 บาท เท่ากับว่ารัฐช่วยจ่าย 40% แค่ 1,200 บาทเท่านั้น ทั้งที่รัฐบาลสนับสนุนช่วยจ่ายสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน จึงมองว่าสามารถตั้งราคาขายแพ็คเกจทัวร์แบบพรีเมียมที่ 8,000-10,000 บาทสำหรับทริป 3 วัน 2 คืน หรือที่ระดับราคา 6,000-7,000 บาทก็ถือว่าหรูแล้ว
ด้านมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวถึงการชะลอโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ตอนนี้ ทำให้คนไทยอาจจะยังไม่อยากเดินทางไปเที่ยวที่ไหน ส่งผลให้โรงแรมหลายแห่งในขณะนี้พิจารณาเข้าร่วมเป็น “ฮอสพิเทล” (Hospitel) หรือหอผู้ป่วยติดโรคโควิด-19 เฉพาะกิจมากขึ้น เนื่องจากช่วงนี้ไม่มีการเข้าพักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยค่าห้องพักฮอสพิเทล ทางโรงแรมสามารถเบิกจากรัฐบาลที่อัตรา 1,500 บาทต่อวัน ก็ทำให้ยังพอมีรายได้เข้ามา ดีกว่าไม่ได้อะไร ซึ่งทางโรงแรมต้องจัดมื้ออาหารให้ผู้ป่วย 3 มื้อ และขอให้รัฐช่วยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่พนักงานในฮอสพิเทลเพื่อความปลอดภัยในฐานะผู้ทำงานด่านหน้า