'เพื่อนอานันท์' ผนึก 'นกเขา' ธง 'นายกคนนอก
แนวคิด “นายกคนนอก” และ “รัฐบาลแห่งชาติ” มีการถกกันในวง “เพื่อนอานันท์” และ “คนรุ่นพฤษภา 35” มาหลายรอบแล้ว
สถานการณ์การเมืองเรื่องโควิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตกเป็นฝ่ายตั้งรับ อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ ไม่ทันต่อการระบาดของโควิด ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และผู้เสียชีวิตรายวัน
พรรคร่วมฝ่ายค้านส่งเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เป็นเรื่องปกติ
จู่ๆ มี “กลุ่มประชาชนคนไทย” (ปท.) ได้นัดแถลงข่าว “ขอให้รัฐบาลเสียสละลาออก” ซึ่งดูใบหน้าของตัวละครที่โผล่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ ล้วนแต่เป็น “กองเชียร์บิ๊กตู่” จึงสร้างความแปลกประหลาดใจให้แก่ผู้คนพอสมควร
บ่ายสองโมง วันที่ 15 พ.ค.2564 “ทนายนกเขา” นิติธร ล้ำเหลือ ปรีดา เตียสุวรรณ์ ศิริชัย ไม้งาม และพิชิต ไชยมงคล ในนามกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) ได้เปิดใจแถลงว่า พวกเขาไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ เสียสละลาออก เพื่อเปิดทางให้มี “รัฐบาลแห่งชาติ” แก้ไขวิกฤตการณ์บ้านเมือง
จะว่าไปแล้ว แนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ ได้มีการจุดพลุมาแต่ปีที่แล้ว เมื่อ อาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรี เสียสละลาออก และให้สภาฯ เลือกนายกรัฐมนตรีจาก "คนนอก" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรค 2 จัดตั้งรัฐบาลมืออาชีพ ไม่มีโควตาพรรคเพื่อสมานฉันท์ปฏิรูปประเทศ กอบกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก้าวสู่ระบอบสังคมธรรมาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใน 2 ปี
ก่อนหน้าการแถลงข่าวของกลุ่มทนายนกเขา ก็มีปฏิกิริยาออกมาจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ได้โพสต์เฟซบุ๊ค Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) “ขอเป็นกำลังใจให้ ลุงตู่ทุ่มเททำงานต่อไป นำประเทศผ่าวิกฤตินี้ให้จงได้” อ่านใต้บรรทัดของสุเทพ ชัดเจนว่า ไม่หนุนแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี ที่มาจาก “คนนอก”
+ คปท.ไม่ใช่ กปปส. +
ช่วงปี 2556-2557 มีการชุมนุมประชาชนขับไล่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเวทีการชุมนุมหลักอยู่ 3 แห่งคือ เวที กปปส. , เวที คปท. และเวทีสันติอโศก
“ทนายนกเขา” นิติธร ล้ำเหลือ มีชื่อเสียงในการเคลื่อนไหวมวลชนบนท้องถนน ในนาม “เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” (คปท.) ร่วมกับ อุทัย ยอดมณี อดีตนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
"นิติธร" จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งสำนักงานกฎหมาย KAT มีชื่อเสียงจากคดีฟ้องร้องต่อศาลปกครอง คดีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย คดีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกขัดต่อรัฐธรรมนูญ และคดีการเมืองอื่นๆ
แม้ คปท. จะเป็นแนวร่วม กปปส. แต่ “ทนายนกเขา” ก็มีความคิดและจุดยืนเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายความสัมพันธ์กับ “คนเดือนพฤษภา 35” ไม่ว่าจะเป็น ศิริชัย ไม้งาม รสนา โตสิตระกูล สุริยะใส กตะศิลา ฯลฯ
ปี 2562 อุทัย ยอดมณี อดีตแกนนำ คปท. ไปร่วมสร้างพรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่ “ทนายนกเขา” ก็ยังเป็นผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองอยู่วงนอก
ปลายปี 2563 ทนายนกเขา และพิชิต ไชยมงคล ปรากฏตัวในนามกลุ่มประชาชนคนไทย ไปเคลื่อนไหวที่ด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทย อันมีการจาบจ้วงล่วงมะเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์
ถ้าจำกันได้ อุดมการณ์ของ คปท. ก็คือการปฏิรูปการเมือง และการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ระหว่างการชุมนุมไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้มี “อดีตหน่วยซีล” เข้ามาเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยให้ คปท. เรื่องนี้ไม่ใช่ความลับอะไร
+ เพื่อนอานันท์คัมแบ็ก +
ก่อนหน้าวันที่ 4 เม.ย.2564 ที่มีการนัดหมายชุมนุม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ที่ “อนุสรณ์พฤษภาประชาธรรรม” ถ.ราชดำเนิน ภายใต้ รหัส 4 4 4 ประยุทธ์ออกไป
“อดุลย์ เขียวบริบูรณ์” ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้ออกข่าวว่า พิภพ ธงไชย และปรีดา เตียสุวรรณ์ จะมาขึ้นเวทีด้วย
ถึงวันจริง ก็มีแต่กลุ่มแกนนำ นปช. ของ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่มาร่วมไฮด์ปาร์ก โดยปีกคนเสื้อเหลือง ก็มีแต่ การุณ ใสงาม ไทกรพลสุวรรณ สมบูรณ์ ทองบุราณ และวีระ สมความคิด
สมัยที่ “อดุลย์” ก่อรูป “สภาที่ 3” กลางปี 2563 ได้มีการจัดเวทีสาธารณะสภาที่ 3 (The Third Council Speak) ทั้ง ปรีดา เตียสุวรรณ์ และพิภพ ธงไชย ก็ได้ร่วมเวทีสภาที่ 3 อยู่หลายหน
กลุ่มเพื่อนอานันท์ เป็นผลพวงจากเหตุการณ์พฤษภาคม 35 ที่ได้เกิดปรากฏการณ์ “ประชาธิปไตยชนชั้นกลาง” และเป็นแรงบันดาลใจให้ “ประสาร มฤคพิทักษ์” จัดตั้งชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย
ระหว่างการขับเคลื่อนชูธงแก้รัฐธรรมนูญ 2534 ประสารได้ก่อการตั้งกลุ่มเพื่อนอานันท์ โดยมี อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย เป็นแกนกลาง
ผ่านม็อบสีเสื้อมาหลายยุค สมาชิกกลุ่มเพื่อนอานันท์ ก็ยังมีการนัดพบกันอยู่เป็นประจำ ไม่พบกันที่บ้านปรีดา ก็ร้านอาหารของอดุลย์ เขียวบริบูรณ์
แนวคิด “นายกคนนอก” และ “รัฐบาลแห่งชาติ” มีการถกกันในวง “เพื่อนอานันท์” และ “คนรุ่นพฤษภา 35” มาหลายรอบแล้ว