2 ข้อแก้หนี้รถไฟฟ้า 'สายสีเขียว' ลดเที่ยววิ่ง-กทม.เก็บตั๋วส่วนต่อขยาย
“บีทีเอส” หารือ “กรุงเทพธนาคม” วาง 2 แนวทางแก้หนี้เดินรถส่วนต่อขยาย 3 หมื่นล้านบาท เล็งลดเที่ยววิ่งนอกเวลาเร่งด่วน พร้อมให้ กทม.เก็บค่าโดยสาร นัดหารืออีกรอบ 2 สัปดาห์ “สุรพงษ์” ย้ำไม่ได้ทำเพื่อต้องการสัมปทาน ห่วงหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2564 ได้หารือกับผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ว่า ได้หารือกันปัญหาหนี้ 30,370 ล้านบาท จากค่าระบบและค่าจ้างเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต และส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ ซึ่งบีเอสเริ่มเดินรถส่วนต่อขยายมา 4 ปีแล้ว แต่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังไม่ได้ชำระให้กับบีทีเอส
ทั้งนี้ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครและรับผิดชอบการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้ชี้แจงกับบีทีเอสว่า กรุงเทพมหานครไม่นิ่งนอนใจ โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำเรื่องนี้หารือในสภากรุงเทพมหานคร และทำหนังสือขอให้รัฐบาลช่วยในเรื่องนี้
สำหรับหนังสือฉบับดังกล่าวระบุถึง 3 แนวทาง ได้แก่
1.ให้รัฐบาลอุดหนุนวงเงินที่ต้องจ่ายให้เอกชน
2.ให้ใช้แนวทางการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน
3.ให้โอนโครงการกลับไปเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการ โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด พร้อมที่จะติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ให้
“บีทีเอสไม่ได้ทำเพื่อต้องการต่อสัมปทาน ในส่วนนั้นเป็นนโยบายของรัฐบาลและ กทม. แต่เราเป็นห่วงหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีจำนวนสูงมาก ในฐานะที่บีทีเอสเป็นบริษัทจำกัด มหาชน ต้องมีคำตอบให้กับผู้ถือหุ้นซึ่งขณะนี้มีผู้ถือหุ้นอยู่มากกว่าแสนราย” นายสุรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ การให้บริการทั้งบีทีเอส บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และกรุงเทพมหานคร มีจุดยืนร่วมกันในเรื่องที่ต้องการให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่มีอุปสรรค โดยไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นส่วนหนึ่งที่หารือ คือ ต้องดูว่าในระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุตินี้จะทำอย่างไรให้เดินรถต่อได้ และลดต้นทุนดำเนินงานด้วย เนื่องจากที่บีทีเอสยังไม่ได้รับค่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยาย แต่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน
นอกจากนี้ มีการหารือว่ามีความเป็นไปในการแก้ปัญหา 2 แนวทาง คือ
1.กรณีในช่วงที่ยังมีสถานการณ์โควิดผู้โดยสารช่วงนอกชั่วโมงเร่งด่วนมีน้อยจะลดจำนวนเที่ยววิ่งของรถลง
2.กรณีกรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด จะจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยาย
สำหรับการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวยังไม่เคยดำเนินการในช่วง 4 ปีที่เริ่มให้บริการส่วนต่อขยาย โดยข้อสรุปจะมาหารือกันในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งมีหลักการต้องไม่กระทบประชาชนเกินไป ซึ่ง 2 ฝ่ายจะไปทำการบ้านมาเสนอในประเด็นอัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่จะเก็บ และช่วงเวลาที่จะจะลดเที่ยวการเดินรถ
นายสุรพงษ์ ตอบคำถามประเด็นการฟ้องร้อง ว่า มีการเตรียมไว้กรณีไม่มีข้อยุติหรือไม่มีแนวทางที่ชัดเจน แต่ยังไม่ได้ใช้แนวทางนั้น โดยตอนนี้เน้นในเรื่องของการติดตามข้อเสนอที่มีการยื่นไปยังรัฐบาล และหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายในการเดินรถในส่วนต่อขยาย หรือจะกลับมาเก็บค่าโดยสารได้บ้างหรือไม่
“ส่วนหนี้สินที่มีอยู่แนวทางในการบริหารจัดการบีทีเอสซี คือ ต้องขอเงินจากบริษัทแม่ ซึ่งก็คือบีทีเอสกรุ๊ปมาบ้าง เพื่อบริหารจัดการส่วนนี้ ซึ่งตอนนี้ต้องติดตามว่าจะได้รับการชำระคืนเมื่อไหร่ โดยระยะเวลาที่บริหารจัดการไปพยายามไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะรถไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเดินทางในกรุงเทพมหานคร"
ทั้งนี้ บีทีเอสพยายามเดินรถให้นานที่สุดเพื่อบริการประชาชน แต่ขอความเห็นใจให้บีทีเอสในฐานะผู้รับจ้างเดินรถที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างส่วนต่อขยายจนหนี้สูงขึ้นต่อเนื่อง
รายงานข่าวจากบีทีเอส ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2564 บีทีเอสเผยแพร่ข้อความบนรถไฟฟ้าและสถานีรถไฟฟ้า 98 ขบวน 60 สถานี ระบุว่าตามที่กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ค้างชำระค่าจ้างเดินรถ 10,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 20,000 ล้านบาท สำหรับการบริการเดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ทั้งนี้ บีทีเอสพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้บริการเดินรถให้ประชาชนได้แม้ไม่ได้ค่าจ้าง ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พวกเราขอกราบวิงวอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โปรดแก้ไขปัญหานี้”