อ่านที่นี่ "โควิด"ระบาดกระทบ 'แรงงานนอกระบบ' อย่างไร
ปัญหาที่แรงงานนอกระบบต้องเผชิญเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการระบาดโควิด 19 ขณะที่การระบาด 3 ระลอก เหมือนเป็นการซ้ำเติมแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะผู้ค้า คนขับรถสาธารณะ และกลุ่มบริการ "วัคซีน" จึงเหมือนอาวุธสำคัญ สร้างความเชื่อมั่นทั้งแรงงานและผู้ใช้บริการ
การสำรวจแรงงานไทย ของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีแรงงาน 37.93 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 20.36 ล้านคน หรือร้อยละ 53.68 สถานการณ์โควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่า “แรงงานนอกระบบ” 3 กลุ่ม คือ แรงงานภาคเกษตรกรรม แรงงานภาคการค้าบริการ และแรงงานภาคการผลิต ต้องเผชิญปัญหาหนักจากการไม่สามารถประกอบอาชีพ ส่งผลให้ขาดรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
“ดร.บวร ทรัพย์สิงห์” นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการสำรวจสถานการณ์แรงงานนอกระบบ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบเป็น “การจ้างงานที่ไม่มีมาตรฐาน” เพราะลักษณะการจ้างงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ไม่มีสัญญาจ้างงาน ไม่มีสิทธิสวัสดิการจากบริษัท ไม่ต้องเสียภาษี เช่น อาชีพรับจ้าง หาบเร่แผงลอย คนเก็บขยะ คนขับแท็กซี่ คนรับงานไปทำที่บ้าน และพนักงานโรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน
- 6 ปัญหา ที่ "แรงงานนอกระบบ" เผชิญ
ปัญหาแรงงานนอกระบบในภาพรวมที่ต้องเผชิญ 6 ด้าน ตั้งแต่ก่อนโควิด 19 ระบาด ได้แก่ 1.ค่าตอบแทนน้อยกว่าในระบบเกือบเท่าตัว 2.ไม่ได้รับการจ้างงานต่อเนื่อง ไม่มีสัญญาจ้าง รายได้ไม่แน่นอน 3.ทำงานหนักและเสี่ยง 4.ไม่ได้รับสวัสดิการเทียบเท่าแรงงานในระบบ 5.ชั่วโมงทำงานมากเกินไปกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 6.ไม่มีวันหยุดหรือลาพักผ่อนไม่ได้ เพราะการหยุดงานหมายถึงการสูญเสียรายได้
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงอันตรายจากสารพิษ สารเคมี หรือฝุ่นควันต่างๆ และเชื้อโรค สวัสดิการต่างๆ ก็ไม่เหมือนการทำงานในระบบ เช่น ลาคลอด เงินสงเคราะห์บุตร รวมถึงความเสี่ยงสู่ความเปราะบางต่อเนื่อง เช่น เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเนื่องจากไม่มีสเตทเม้นท์ ทำให้การกู้เงินในระบบค่อนข้างยาก รายได้ไม่เพียงพอต่อการออม ขาดโอกาสด้านการอบรม หรือถึงอบรมไปก็ไม่มีผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน "แรงงานนอกระบบ" ส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเพศหญิงมีข้อจำกัดส่วนหนึ่งนอกจากการต้องดูแลผู้อยู่ในอุปการะแล้ว ยังต้องทำงานบ้าน ดูแลครอบครัว การศึกษาไม่สูง ทำให้โอกาสไปหางานอื่นค่อนข้างยาก และอาจพบแรงงานในระบบออกสู่นอกระบบมากขึ้นในอนาคตเนื่องจากการปิดสถานประกอบการ ขณะที่ บางส่วนจำเป็นต้องอาศัยในชุมชน ลักษณะบ้านเช่า หรือประชากรแฝงในเมือง ชุมชนแออัด
ดังนั้น ก่อนโควิด สถานการณ์ปัญหาอย่างที่กล่าวไปในทุกกลุ่ม แต่ในกลุ่มหาบเร่ มีปัญหาการไล่รื้อพื้นที่การค้ามาตั้งแต่ก่อนโควิด 19 และเก็บของเก่า มีปัญหาเรื่องราคาของเก่าที่ผันผวน รวมไปถึงปัญหาด้านสุขภาพ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนกลุ่มที่ทำการตัดเย็บเสื้อผ้า กระเป๋า หมวก มีงานค่อนข้างน้อยลง เกิดจากพื้นที่หาบเร่ที่ทำการระบายตลาดลดลงไปด้วย ดังนั้น สินค้าที่ผลิตไปก็ไม่มีตลาดในการส่งไปขาย เกษตรเองก็มีปัญหาต่อเนื่องค้างคา ไม่ว่าจะภัยแล้ง ผลผลิต
- โควิด ซ้ำเติมปัญหา
สถานการณ์โควิด-19 สะท้อนชัดเจนว่า แรงงานกลุ่มนี้อาจมีสถานะยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคน เพราะมีรายได้น้อยลงจากมาตรการหยุดวงจรระบาดโควิด-19 แรงงานบางส่วนเปลี่ยนงานมาทำงานบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ ปัญหาที่เกิดขึ้น 4 ประเด็น คือ
1.กลุ่มเป้าหมายและลูกค้าลดลง แรงงานนอกระบบบางส่วนให้บริการกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ พอนักท่องเที่ยวลดลง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างแรก คือ กลุ่มหาบเร่ในย่านการท่องเที่ยว สีลม ข้าวสาร นอกจากนี้ กลุ่มบริการร้านค้า ร้านอาหาร ร้านนวด ธุรกิจทัวร์ก็ลดลง การทำการผลิตที่บ้านเสื้อผ้า ของที่ระลึก ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
2.นโยบายจากรัฐเอง จากการที่พยายามแก้ไขปัญหาโควิด 19 แต่มาตรการบางอย่างส่งผลต่อคนทำงานโดยเฉพาะปิดตลาด ร้านค้า ร้านอาหาร และการกำหนดระยะเวลาออกจากที่พัก มีผลแต่ละอาชีพแตกต่างกัน เช่น กำหนดระยะเวลาออกจากที่พัก ปกติกลุ่มที่เก็บของเก่าจะเก็บช่วงเย็นๆ ไปถึงก่อนที่รถขยะจะมา ทำให้เขาไม่สามารถออกมาเก็บของเก่าได้ ขณะที่แท็คซี่ หากกิจกรรมช่วงเย็นและดึกไม่มีต่อไป ทำให้รายได้จากช่วงค่ำหยุดไปด้วย ร้านค้า ร้านอาหารที่เปิดกลางคืนก็หยุดไปด้วย รวมถึงร้านนวดจากนโยบายเว้นระยะห่าง ทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอในการดูแลพนักงาน
3.จากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง เพราะวิตกกังวลในชีวิต และไม่มั่นคงต่องานของตนเองทำให้กำลังซื้อของคนในประเทศตก กลุ่มแรงงานนอกระบบ ก็จะเป็นกลุ่มแท็คซี่เนื่องจากผู้ใช้บริการน้อยลง มีการลดการเดินทาง หาบเร่ ร้านค้า ก็ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อลดลง
4.ผลกระทบต่อเนื่องจากการใช้ชีวิตของแรงงาน เรื่องของภาระค่าใช้จ่าย เพราะปัญหาที่ค้างคามาตั้งแต่ก่อนโควิด ทั้งค่าเช่า ค่าผ่อนบ้าน ภาระหนี้สินเดิม บางส่วนก็พยายามเปลี่ยนอาชีพ แต่ทุกๆ การขยับในการเปลี่ยนอาชีพมีต้นทุน มีระยะเวลาในการรอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์
- ทางออกช่วย "แรงงานนอกระบบ"
ดร.บวร กล่าวต่อไปว่า สำหรับทางออกอย่างแรกอาจจะต้องเปิดโอกาสให้เขายังทำงานได้อยู่ ให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้เงื่อนไขในการเว้นระยะห่าง หรือพยายามหาวิธีการป้องกันเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจและมาใช้บริการ เป็นสิ่งที่ควรต้องร่วมออกแบบกับรัฐ
อีกอย่างหนึ่งคือ จากมาตรการการเติมเงินในกระเป๋าให้ประชาชนเนื่องจากกำลังซื้อลดลง แต่ปัญหา คือ เราใช้แล้วจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจกับใคร เพราะร้านเขาไม่ได้เปิด ไม่ใช่ทุกกลุ่มที่จะเข้าถึงเงินช่วยเหลือที่พยายามกระตุ้นการใช้จ่ายตรงนั้น ดังนั้น รัฐควรพยายามช่วยเหลือในการลดค่าใช้จ่ายของแรงงานทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิต เช่น หนี้สิน โดยเป็นตัวกลางในการเจรจาลดค่าเช่า ขณะเดียวกัน แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบกู้เงิน แต่ต้องจ่ายนอกระบบ การดูแลเงินกู้นอกระบบ เพื่อให้เขาลดค่าใช้จ่ายได้เรื่องหนี้สิน ก็จะช่วยได้
“รวมถึงเงินอุดหนุนต่างๆ จำเป็นมาก เช่น เรื่องค่าเล่าเรียนบุตร อุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ขวบ ถ้วนหน้า ทุกคน ทุกครอบครัวที่มีเด็กเล็ก คนพิการ ควรจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ”
- ป้องกันการเป็นคนไร้บ้าน
อีกด้าน คือ “การป้องกันการออกมาเป็นคนไร้บ้าน” เมื่อคนอยู่ในเมือง แต่ไม่มีความสามารถในการเช่าอีกต่อไป หากกลับบ้านจะเป็นโอกาสที่ดี แต่หากไม่กลับและยังอยู่ในเมือง มีโอกาสจะเป็นคนไร้บ้านในอนาคต ควรจะมีบ้านพักฉุกเฉิน ก่อนที่กลุ่มคนเหล่านี้จะหลุดออกไปเป็นคนไร้บ้าน สิ่งสำคัญ คือ มีเงินกู้ยืมฉุกเฉิน โดยการปลอดดอกเบี้ย หรือการประกันด้วยอะไรก็แล้วแต่เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงิน
- ช่วยเหลือประกอบอาชีพ
"สำหรับ “เรื่องของงาน” บางงานรัฐสามารถอุดหนุนได้ เช่น แก๊สหุงต้ม น้ำมันสำหรับภาคบริการขนส่ง หรือ อุปกรณ์สำหรับประกอบอาชีพ เพราะแม้แต่คนในระบบเองที่ตกงาน สิ่งที่จะเป็นอาชีพที่เราคิดว่าจะไปทำก็คือการขายของ ดังนั้น สิ่งที่ควรสนับสนุน คือ หากทุกคนคิดว่าจะรอดได้ด้วยการขาย แต่ทุกครั้งที่เราเริ่มขยับ การขาย มีต้นทุน ทุกครั้งที่จะขาย ก็ต้องซื้ออุปกรณ์ วัตถุดิบ เป็นหนี้สินที่พอกพูนเข้าไปอีก อาจจะต้องช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ" ดร.บวร กล่าว
- "วัคซีน" อาวุธสร้างความเชื่อมั่น
รวมไปถึงการ สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันสำหรับกลุ่มที่ยังทำงานอยู่ เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอลล์ หรือการตรวจสุขภาพ ตรวจโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคบริการ การตรวจเหล่านี้ไม่ได้มีผลดีต่อแรงงานอย่างเดียว แต่มีผลดีต่อผู้บริโภคด้วย อย่างน้อยเราจะได้มั่นใจว่า การใช้บริการสาธารระทั้งหมด ของแรงงานนอกระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดปลอดภัย ตัวแรงงานก็ได้ประโยชน์ด้วย ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ด้วย
“การสร้างความมั่นใจของแรงงานและผู้บริโภคสำคัญ การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็น โดย 3 กลุ่มอาชีพ ที่ควรเร่ง คือ 1.ภาคบริการและการขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะขับรถ ขับเรือ มอเตอร์ไซค์ สามล้อ แม้แต่คนที่ให้บริการเติมน้ำมัน ควรจะได้รับการเข้าถึงวัคซีนอย่างเร่งด่วน 2.แรงงานในธุรกิจอาหารและใกล้ชิด ไม่ว่าจะขนส่งอาหาร หาบเร่ แผงลอย บริการในร้าน และผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ครู 3.กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค เช่น เก็บของเก่า หรือคัดแยกของเก่า มีความเสี่ยงสัมผัสโรค”
- ตระหนักด้านการแบ่งแยก
ขณะเดียวกัน การสร้างความมั่นใจต้องตระหนักไว้นิดหนึ่งว่า พอการฉีดไม่เท่ากัน หรือ บางคนยังไม่มั่นใจที่จะฉีด สิ่งที่น่ากังวลต่อมา คือ การฉีดหรือไม่ฉีด ต้องไม่ให้เป็นการแบ่งแยก เช่น เมื่อมีแท็คซี่คันนึงได้ฉีด แต่อีกกลุ่มยังไม่ได้ฉีด การฉีดที่ไม่เท่ากัน จะส่งผลต่อความเชื่อใจของผู้บริโภค มาทำให้โอกาสที่จะได้งานก็จะไม่เท่ากันอีก เป็นสิ่งที่น่ากังวลในอนาคต
“กลุ่มที่ฉีดแล้ว” ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากกว่าคนที่ยังไม่ฉีด แต่ “คนที่ไม่ฉีด” ด้วยอะไรก็แล้วแต่ อาจจะมาจากความกังวล หรือเป็นโรคประจำตัวที่ยังรับการฉีดไม่ได้ จะเป็นปัญหาของการกีดกันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่แค่แท็คซี่ แต่เป็นเกือบทุกอาชีพที่เป็นลักษณะของงานบริการ ไม่ว่าจะเป็นหาบเร่ แผงลอย ร้านอาหาร เช่น ฉีดวัคซีนแล้ว รับเป็นพนักงาน ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาตามมา