'Decide Madrid' สเปนรับฟังเสียงคนรุ่นใหม่อย่างไร?
ทำความรู้จัก "Decide Madrid" แพลตฟอร์มออนไลน์ของสเปน ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของภาครัฐ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนได้รับรางวัลการบริการสาธารณะจากสหประชาชาติในปี 2561
ในปี 2554 ที่ประเทศสเปนมีการเคลื่อนไหวของประชาชนจำนวนมากเดินออกมาตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่ดีขึ้น ข้อเรียกร้องมีหลายประเด็น ทั้งผลกระทบจากวิกฤตการเงิน วิกฤตที่อยู่อาศัย อัตราการว่างงานที่สูง การขาดงานที่ดีสำหรับคนหนุ่มสาว ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และการขาดความชอบธรรมทางการเมืองของสถาบันประชาธิปไตยต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลลดน้อยถอยลง
ทิศทางนโยบายที่สำคัญจึงได้แก่การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้กับประชาชนในปัญหาบ้านเมือง ตั้งแต่ในกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย ไปจนถึงการพัฒนาโครงการที่สนองตอบความต้องการของประชาชน โดยสภาเมืองมาดริด ของประเทศสเปน มีตัวอย่างที่ดีในการออกแบบและเปิดตัวแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า “Decide Madrid” ขึ้นในปี 2558 เพื่อเป็นพื้นที่แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของเมืองในด้านต่างๆ ตั้งแต่การออกกฎหมาย การจัดทำงบประมาณ และการพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์ประชาชนในเมือง และภายหลังนอกเหนือจากออนไลน์ ก็ได้มีปฏิสัมพันธ์เพิ่มขึ้นในทางกายภาพด้วย
Decide Madrid มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การดำเนินการของภาครัฐในเมืองมาดริดมีความโปร่งใส โดยขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจของภาครัฐ ซึ่งที่น่าสนใจมากคือรวมไปถึงการใช้จ่ายเงินงบประมาณของสภาเมือง ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นได้ 4 รูปแบบ ได้แก่
(1) การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory budgeting) ซึ่งประชาชนสามารถจัดทำข้อเสนอการใช้จ่ายสำหรับโครงการต่างๆ ในเมืองมาดริดได้ในวงเงินรวม 100 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,700 ล้านบาท (2) ประชาชนสามารถพัฒนาข้อเสนอเพื่อพัฒนากฎหมายใหม่ในเขตอำนาจศาลของสภาเมืองได้โดยตรง (3) ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับการดำเนินการของสภาเมืองผ่านกระบวนการปรึกษาหารือได้โดยตรง (Consultations) และ (4) ประชาชนสามารถเสนอข้อเสนอแนะหรือข้อคัดค้านที่เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ กับสภาเมืองได้
ในส่วนของการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม Decide Madrid ทำให้ประชาชนสามารถเสนอและลงคะแนนโหวตในโครงการที่มีงบประมาณไม่เกิน 100 ล้านยูโรได้ โครงการเหล่านี้มีทั้งระดับเมืองหรือเฉพาะบางเขต โดยเปิดรับข้อเสนอจากประชาชนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกลางเดือนกรกฎาคม หลังจากผ่านกระบวนการขั้นสุดท้ายแล้วข้อเสนอจะรวมอยู่ในแผนการใช้จ่ายของสภาเมือง
กระบวนการการมีส่วนร่วมเริ่มต้นจากผู้อยู่อาศัยในมาดริดสามารถยื่นข้อเสนอสำหรับการใช้จ่ายของโครงการพัฒนาในระดับเมืองหรือในเขตใดเขตหนึ่ง โดยประชาชนเข้าถึงกระบวนการนี้ผ่านเว็บไซต์ด้วยบัญชีที่ได้รับการยืนยัน หรือหากไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่บ้าน ก็สามารถใช้งานได้ที่สำนักงานบริการพลเมือง (Citizen Service Offices) 26 แห่งทั่วเมือง จากนั้นประชาชนสามารถโหวตเพื่อสนับสนุนข้อเสนอที่ตนชอบได้ โดยประชาชนสามารถเลือกลงคะแนนเพื่อสนับสนุนข้อเสนอโครงการในเขตที่ไม่ได้อาศัยอยู่ได้ เพราะอาจเป็นเขตที่ทำงาน ที่จับจ่ายซื้อของ หรือเป็นที่ที่สมาชิกในครอบครัวอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนจะสามารถเลือกเขตที่จะลงคะแนนได้เพียงหนึ่งเขตเท่านั้น
ข้อเสนอโครงการจะได้รับการวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ เช่น ผู้ยื่นเป็นพลเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้นทุนของโครงการมีความเหมาะสมกับงบประมาณของสภา แล้วข้อเสนอที่ผ่านการตรวจสอบจะนำไปเปิดให้ประชาชนในเมืองมาดริดที่ลงทะเบียนกับแพลตฟอร์ม สามารถลงคะแนนในโครงการชุดสุดท้ายได้ ซึ่งโครงการจะแสดงรายละเอียดของโครงการพร้อมค่าใช้จ่ายและงบประมาณโดยรวม ประชาชนจะโหวตสำหรับโครงการเดียวหรือหลายโครงการก็ได้ แต่โครงการที่โหวตจะต้องไม่เกินงบประมาณโดยรวม
หลังจากการโหวตเรียบร้อย จะมีการเรียงลำดับโครงการตามคะแนนที่ได้รับจากมากไปหาน้อย โครงการถูกเลือกจากโครงการที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดตามลำดับไปจนกว่าจะเต็มงบประมาณและโครงการที่ได้รับการเลือกจะนำไปบรรจุอยู่ในข้อเสนองบประมาณทั่วไปของเมือง ที่ผ่านมา Decide Madrid ประสบความสำเร็จในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น ในโครงการสร้างจัตุรัส “Plaza de España” ของเมือง ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีประชาชนเกือบ 3 หมื่นคนที่มีส่วนร่วมในการเสนอและลงคะแนนเสียง
Decide Madrid ถือเป็นจุดเปลี่ยนของเมืองมาดริดที่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่จะเข้าร่วมการอภิปราย ส่งข้อเสนอและตัดสินใจว่าจะจัดการงบประมาณของเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยสิ่งที่น่าสนใจคือการเปิดให้มีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ช่วงก่อนและระหว่างการออกแบบและพัฒนาโครงการริเริ่มต่างๆ ของเมือง
Decide Madrid ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง จนได้รับรางวัลการบริการสาธารณะจากสหประชาชาติในปี 2561 และเมืองต่างๆ ได้นำไปปรับใช้สำหรับประชาชนในเมืองกว่า 90 เมืองทั่วโลก เช่น บาร์เซโลน่า (สเปน) ปารีส (ฝรั่งเศส) ตูริน (อิตาลี) บัวโนสไอเรส (อาร์เจนตินา) ฮาบิสโก (เม็กซิโก) บาเรนเซีย (สเปน) เป็นต้น
ทิศทางนโยบายรัฐบาลแบบเปิด (open government) และนวัตกรรมประชาธิปไตย (democratic innovation) กำลังเป็นแนวโน้มที่สำคัญของการพัฒนาภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อรับฟังเสียงประชาชนและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประชาชน ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้น
ผู้เขียนอยากฝากแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมในเชิงรุกให้กับประชาชนในแบบ Decide Madrid ไว้เพื่อเป็นของขวัญที่ผู้ว่าคนใหม่จะมอบให้กับประชาชน รวมถึงผู้นำของเมืองต่างๆ ทั่วประเทศไทยที่สามารถนำแนวคิดดังกล่าวปรับใช้เป็นโมเดลเพื่อพัฒนาบริการสาธารณะที่ตอบโจทย์ให้ตรงความต้องการของประชาชนและอย่างโปร่งใสได้อย่างแท้จริง