'โรงงาน-โรงแรม-ห้าง-แบงก์' ระดมหา 'วัคซีน' ฟื้นกิจกรรมเศรษฐกิจ
ส.อ.ท.ต้องการฉีดแรงงาน 1 ล้านคน เร่งด่วนสั่งผ่านราชวิยาลัยจุฬาภรณ์ 3 แสนโดส “สมาคมแบงก์” ประสาน กทม.-สาธารณสุข ฉีดพนักงานธนาคาร 2 กลุ่มเสี่ยง ภาคบริการ “ท่องเที่ยว-ค้าปลีก-ร้านอาหาร” เร่งฉีดพนักงาน
การฉีดวัคซีนเป็นแนวทางควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดีที่สุดในขณะนี้ และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดงบประมาณดำเนินการ ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องในกิจกรรมเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนครอบคลุมทั้งกลุ่มบริการทั้งในกิจการขนส่งมวลชน การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า รวมถึงภาคการผลิตที่กำลังมีการระบาดในโรงงาน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า ส.อ.ท.สำรวจสมาชิกต้องการวัคซีนและพร้อมจ่ายเอง 6,217 บริษัท แรงงาน 1.04 ล้านคน โดย ส.อ.ท.ประสานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หาวัคซีนเร่งด่วนให้ภาคอุตสาหกรรม 300,000 โดส จากที่ต้องการเร่งด่วน 500,000 ถึง 1 ล้านโดส ร่วมแจ้งความต้องการกับกระทรวงแรงงาน 1 ล้านโดส
ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งฉีดวัคซีนเร็วที่สุด ได้แก่
1.นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่สีแดงที่ระบาดสูง เพราะพนักงานส่วนใหญ่พักในนิคมอุตสาหกรรม และเมื่อออกนอกพื้นที่จะเสี่ยงติดเชื้อ และหากระบาดในนิคมอุตสาหกรรมอาจกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่จนโรงงานต้องหยุดผลิต กระทบรายได้พนักงานและซัพพลายเชน รวมถึงอาจกระทบการส่งออกไทย ซึ่งการระบาดในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใน จ.เพชรบุรี อาจกระทบซัพพลายเชนทั้งระบบได้
2.อุตสาหกรรมที่อ่อนไหวสูง เช่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็ง เพราะผู้นำเข้าเข้มงวดสุขอนามัย และสอบถามผู้ผลิตตลอดถึงสถานการณ์ระบาดและการฉีดวัคซีนของโรงงาน ซึ่งหากเกิดการระบาดในโรงงานอาจทำให้คำสั่งซื้อหายไปทันทีและผู้นำเข้าไปสั่งซื้อจากประเทศอื่นจะเสียลูกค้าระยะยาว
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า สมาชิกหอการค้าไทยแจ้งความต้องการวัคซีนมาสำหรับ 1 ล้านคน ครอบคลุมสมาชิกทั้งภาคการค้า ภาคการผลิตและภาคบริการ ซึ่งหอการค้าไทยได้ส่งข้อมูลให้หน่วยงานรัฐเพื่อพิจารณากระจายวัคซีนและรับวัคซีนในจุดบริการนอกโรงพยาบาลที่หอการค้าไทยร่วมกับกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ หอการค้าไทยไม่ได้สั่งจองวัคซีนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แต่เห็นว่าการมีช่องทางนำเข้าวัคซีนมากขึ้นจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น
นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันพนักงานธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีหลักแสนคน ซึ่งสมาคมฯประสานกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อฉีดให้พนักงานที่มีความเสี่ยง 2 กลุ่มแรกคือ
1.พนักงานธนาคารปฏิบัติงานในระบบหลักของธนาคาร หรือ คอลแบงกิ้งซิสเต็มส์ ,ระบบบัญชีหลักธนาคาร ,ระบบเพย์เม้นท์ ถอน โอน กดเงินสด
2.พนักงานสาขาธนาคาร แต่ขึ้นกับภาครัฐจะจัดสรรวัคซีน รวมทั้งก่อนหน้านี้สำนักงานประกันสังคม ได้ขอข้อมูลผู้ประกันตนมาตรา 33 เพื่อฉีดวัคซีน ซึ่งแต่ละธนาคารรายงานให้สำนักงานประกันสังคมแล้ว
ธนาคารกรุงศรี รายงานว่าธนาคารกรุงศรีขอให้ฉีดวัคซีนให้พนักงานและบริษัทในเครือ 18,000 คน โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานประกันสังคม กองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร พร้อมประสานโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งอีกด้วย
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพใช้ความพยายามเต็มที่ในการเตรียมวัคซีนให้พนักงานทุกคน ซึ่งสวัสดิภาพและความปลอดภัยพนักงานเป็นประเด็นสำคัญโดยได้สำรวจความประสงค์ฉีดวัคซีนเพื่อเตรียมความพร้อมและพยายามหาจากหลายช่องทางทั้งกรมควบคุมโรค และประสานผ่านสมาคมธนาคารไทยไปกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงประสานโรงพยาบาลเอกชนที่กำลังสอบถามความคืบหน้า
นอกจากนี้ ล่าสุดที่หน่วยงานภาครัฐเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนได้นั้น ธนาคารประชาสัมพันธ์ภายในธนาคารอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนให้พนักงานมีทางเลือกที่จะสามารถได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวพนักงานเองเป็นสำคัญ จากรายงานข้อมูลทางการเงินของธนาคารณ ไตรมาส 1 ปี 2564 มีจำนวนพนักงาน 23,497 คน
นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า ความปลอดภัยของพนักงานและแขกผู้เข้าพักถือเป็นสิ่งที่เครือเซ็นทาราให้ความสำคัญสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทย ซึ่งได้จัดการให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในภูเก็ตได้ฉีดวัคซีนครบถ้วน พร้อมเข้มงวดนำมาตรการด้านความสะอาดและสุขอนามัย อย่างโปรแกรมเซ็นทารา คอมพลีท แคร์ ไปใช้กับทุกๆ โรงแรมและรีสอร์ทในเครือ ซึ่งมีความพร้อมเต็มศักยภาพที่จะเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ต 1 ก.ค.นี้