หมากรบช่อง 3 พลิกอาณาจักรทีวี สู่ยักษ์คอนเทนท์ พิชิตเป้าหมื่นล้าน!
เกือบ 1 ปี ของการหวนคืนบ้านเก่าที่เคยขับเคลื่อนธุรกิจสื่อโทรทัศน์ในยุคอู้ฟู่ กระทั่งเจอกระแส “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” มีการประมูลทีวีดิจิทัลเกิดขึ้น และ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” ไปนั่งบริหารทีวีค่ายพีพีทีวี36 ระยะใหญ่
เมื่อกลับมารับบทแม่ทัพ ในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) “สุรินทร์” ได้ลั่นภารกิจสำคัญคือการกอบกู้สถานการณ์ของธุรกิจทีวี การวางกลยุทธ์ ทำทุกอย่างให้ “ช่อง3 แข็งแกร่งขึ้น” โดยเฉพาะมุ่งมั่นทำให้ธุรกิจมี “รายได้-กำไร”
ไตรมาส 1 ภาพรวมของธุรกิจช่อง 3 มีผลงานที่ดี เพราะภาพรวมรายได้ 1,308 ล้านบาท อาจหดตัว 20% แต่ “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 138.8 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 150.5% และเป็นการทำกำไร 3 ไตรมาสติดต่อกันด้วย แม้ลงลึกในรายละเอียด 3 เดือนแรก ธุรกิจหลักอย่างรายได้จากการขายโฆษณาจะ “หดตัว 16%” ก็ตาม
ล่าสุด การพบปะ “สุรินทร์” ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้เล่าสถานการณ์ธุรกิจสื่อ อุตสาหกรรมโฆษณา และแผนในการขับเคลื่อนช่อง 3 ให้เติบโตในอนคต สะท้อนถึงหลากหลายภารกิจที่แม่ทัพจะต้องนำขบวนทีมงานสู้ศึกรอบด้าน ทั้งโรคระบาด เศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัว ลูกค้าเบรกการใช้งบโฆษณา ส่วนการแข่งขันสู้กันยิบตา
สุรินทร์ ประเดิมบทสนทนาถึง 3 เดือนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดรอบ 2 และคาดว่าจะควบคุมได้ กลับเจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อรอบ 3 มาเยือน ยิ่งระบาดหนักรุนแรงกว่ารอบที่ผ่านมา เพราะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทุบสถิติกันแบบวันต่อวัน
++โควิดกระทบธุรกิจสื่อ-โฆษณา
“วัคซีน” ที่เป็นความหวังของคนทั้งชาติที่คาดว่าจะได้รับการฉีดเร้วและทั่วถึง รัฐกลับบริหารจัดการได้ไม่ชัดเจนมากนัก สร้างความสับสนให้กับประชาชน และหากมองถึงธุรกิจทีวี ที่ต้องผลิตรายการเพื่อออกอากาศผ่านจอแก้วทุกวัน แต่เมื่อต้องปฏิบัติการตามมาตรการรัฐ ทั้งทำงานที่บ้าน ออกกองไม่ได้ จึงมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะช่อง 3 เอง พนักงานราว 80% ต้อง Work From Home ถ้วนหน้า มีเพียงไม่กี่คนที่ต้องเข้ามาดูแลด้านการออกอากาศ
ขณะที่อุตสาหกรรมสื่อ โฆษณาไตรมาส 1 ยังคงหดตัว 4% โดยทีวีติดลบ 4% ส่วนช่อง 3 ที่ทำผลงานได้ดีสวนทางตลาดถือเป็นสิ่งที่ดี
“เรา(ช่อง3)สวนกระแสได้ สามารถเทิร์นอะราวด์ มีกำไรติดต่อกัน 3 ไตรมาส รอลุ้นไตรมาส 2 หากทำได้อีก เราจะอยู่บนเส้นทางที่เกือบจะ Fully Recoverd จริงๆ” โดยผลงานที่ดีขึ้นมาจากรายได้ของจากการขยายธุรกิจการขายลิขสิทธิ์ละครไปยังตลาดต่างประเทศหรือ Global Content Licensing ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงการปรับตัวสู่ดิจิทัล มีการเปิดตัวแพลตฟอร์มดูคอนเทนท์ออนไลน์หรือ OTT ของตนเองภายใต้ CH3Plus” และ “CH3Plus Premium” ระบบบอกรับสมาชิกราคา 79 บาท ที่แรกเริ่มเปิดตัวมีสมาชิก 7,000 ราย ขณะนี้อยู่ที่ 15,000 ราย และแตะ 1 แสนรายภายในสิ้นปี 2564
++ย้ำภารกิจพลิกอาณาจักร “ทีวี” สู่ “ผู้ผลิตคอนเทนท์”
แม้ธุรกิจทีวียังไม่ถึงทางตัน แต่หากจะพึ่งพิงเพียง “ผู้ชม” มาสร้างเรทติ้งสูงๆ เพื่อโขกค่าโฆษณาแพงๆจากลูกค้าเหมือนในอดีต คงไม่ตอบโจทย์รายได้มากนัก เพราะหลายปีที่ผ่านมา รายได้เป็นตัวพิสูจน์แล้วว่า การโกยเงินโฆษณาอยู่ในภาวะ “ขาลง” สื่อมากมายหลายประเภทพร้อมแบ่งเค้กตลอดเวลา
สุรินทร์ จึงย้ำวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนช่อง 3 ให้เป็นทรานส์ฟอร์มสู่การเป็น “ผู้ผลิตคอนเทนท์ขนาดใหญ่”หรือ Content Provider ไม่จำกัดกรอบการทำธุรกิจทีวีแบบเดิมอีกต่อไป ทั้งนี้ ศักยภาพของช่อง 3 ไม่ได้มีเพียงละคร รายการโทรทัศน์ใหม่ๆที่ผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่คลังเนื้อหาเดิมๆ เป็นสินทรัพย์ที่นำไปต่อยอดธุรกิจ สร้างเม็ดเงินได้ไม่น้อย เรียกว่ามี 1 เนื้อหา ออกอากาศได้หลายแพลตฟอร์ม หรือ Single Content Multiple platform ป้อนทั้ง OTT ที่มีมากมายหลายเจ้า ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ออกอากาศหลังช่อง 3 ราว 2 ชั่วโมง หรือ 7 วัน 14 วัน 1 เดือน แม้กระทั่งออกอากาศคู่ขนานหรือไซมัลแคสต์ ก็เกิดขึ้นแล้วในประเทศจีน เป็นต้น
ส่วนเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์เสิร์ฟคนดูจะต้องบรรลุความสำเร็จอะไรบ้าง ประเด็นนี้ สุรินทร์ ได้หารือกับคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) เพื่อศึกษาทั้งโอกาสสร้างรายได้ในอนาคตจะเป็นเป็นอย่างไร
“Vision เราชัดเจนจะไม่ใช่แค่ทีวี Future ของบีอีซี สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่ในการมุ่งเป็น Leading Content Provider และเป็น Total Entertainment Company ในไทย”
การพลิกกลยุทธ์ดังกล่าว ถือเป็นการเพิ่มโอกาสทำเงินให้บริษัท ตราบใดที่เทคโนโลยีเป็นเพียงแพลตฟอร์มให้คนรับชม ส่วน Content Is King ยังเป็นหัวใจสำคัญอยู่วันยังค่ำของคนทำธุรกิจที่ชิงสายตา-เวลาจากคนดู(Eyeball) การมีเนื้อหาที่ “ตรงจริต” ผู้ชมย่อมตรึงให้อยู่กับแพลตฟอร์มนั้นได้นาน ไม่เปลี่ยนไปแพลตฟอร์มคู่แข่ง
วันนี้ OTT เจ้าต่างๆทั้ง Netflix, Vui, WeTV, iQiyi ฯ ต่างหาคอนเทนท์ต้นตำรับหรือ Original ตามคัมภีร์ของตัวเองมาสะกดคนดู ไม่นับกับยักษ์ใหญ่อย่าง “ดิสนีย์” จะลงสนามส่ง “ดิสนีย์พลัส” มาท้าชิง รวมถึงทีวีช่องต่างๆ ล้วนมีแพลตฟอร์ม OTT ของตัวเองทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่บางคอนเทนท์จะเห็นอยู่บนหลายแพลตฟอร์ม ไม่ผูกขาดเพียงเจ้าใดเจ้าหนึ่ง
++จากบทเรียน “ลิขิตรักข้ามดวงดาว-บาปอยุติธรรม”
ถึง “World Of Married Couple” ที่ช่อง 3 จะสร้างบ้าง
นิยายขึ้นหิ้งในประเทศไทยอาจมีมากหมายหลายเรื่อง และถูกนำมาผลิตละครซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตีความแบบเดิมบ้าง ตีความใหม่บ้าง แต่หากเทียบการผลิตละครของไทยกับ “ต่างประเทศ” อย่างญี่ปุ่น เกาหลี เชื่อว่ามีความ “ห่างชั้น” ไม่น้อย
ขณะที่การเขียนบทโทรทัศน์ เป็นเรื่องของศาสตร์-ศิลป์ ไม่ใช่อยู่ๆเขียนขึ้นเลย ต้องมีข้อมูลที่แน่นและสุนทรียภาพ งานจึงจะออกมาปั๊วะปัง และบางครั้งนักเขียนบทก็ “ตันไอเดีย” คิดไม่ออก ทำให้เป็นปัญหาของการผลิตงานละครไม่น้อย สุรินทร์ จึงใช้วิธีสูตรสำเร็จ โดยการซื้อลิขสิทธิ์ซีรีย์จากต่างประเทศนำมาสร้างใหม่ในไทย
ก่อนหน้านี้ ลิขิตรักข้ามดวงดาว ที่มีต้นตำรับคือซีรีส์เกาหลีใต้ You Who Came from the Stars หรือยัยตัวร้ายกับนายต่างดาว ที่มีนักแสดงตัวท็อปมาร่วมสร้างความสำเร็จทั่วทั้งเอเชีย แต่พอช่อง 3 นำมาสร้างกลับได้เรทติ้งเพียง 1.8 เท่านั้น แม้จะมีพระ-นางอย่าง “ณเดชน์-แมท ภีรนีย์” นำแสดงก็ตาม
อีกเรื่องที่ช่อง 3 นำมาสร้างคือ “บาปอยุติธรรม” จากต้นตำรับ Eternal จากตุรกี และได้รับความนิยมไม่น้อย แต่พอสร้างในไทยเรทติ้งก็ไม่ดีนักเช่นกัน ทว่า ล่าสุด ช่อง 3 เจรจาซื้อลิขสิทธิ์ Doctor Foster ของบีบีซี มาสร้างในไทยอีกครั้ง โดยเรื่องดังกล่าวประเทศเกาหลีใต้ได้ซื้อไปผลิตเป็นซีรีส์ World Of Married Couple เช่นกัน แต่ผลลัพธ์คือประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเรทติ้งไปมหาศาล โดยเฉพาะตอนจบทำได้ถึง 28.37%
นับเป็นคอนเทนท์ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยจำนวนหนึ่งได้ชมซีรีส์ฉบับเกาหลีใต้ และประทับใจกับการปูเรื่อง วางปม การแสดงของตัวละครอย่างดี และเมื่อนำมาผลิตออกอากาศในไทย ย่อมจะเกิดการเปรียบเทียบและมีกระแสวิจารณ์เชิงบวกและ “ลบ” ตามมาเป็นแน่ อีกทั้งเป็นบทพิสูจน์ของช่อง 3 จะไขว่คว้าความสำเร็จจากการซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์มาสร้างสรรค์ในไทยด้วย ซึ่งนอกจากซีรีส์จากบีบีซี ช่อง 3 ยังซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนท์จากจีนมาสร้างใหม่เช่นกัน
“ช่อง 3 ผลิตละคร 30 เรื่องต่อปี แต่ปัญหาคือการเขียนบทที่บางครั้งล่าช้าทำให้ต้องยืดการผลิตหรือโปรดักชั่นอออกไป ขณะที่ลิขสิทธิ์คอนเทนท์ต่างประเทศ ต้นทุนไม่ต่างจากซื้อนิยาย ช่วยให้ขั้นตอนโปรดักชั่นลดลง”
++เล็งขยับค่าโฆษณาข่าว-ละครเย็น
หลายปีที่ผ่านมาธุรกิจสื่อทีวีขาลง แข่งขันสูง การห้ำหั่นค่าโฆษณาให้ลูกค้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน้าบ้านอาจบอกราคาเต็ม(Rate Card) แต่หลังบ้านลดให้ลูกค้าเป็นว่าเล่น ช่อง 3 เช่นกัน ราคาขายบางเวลาอาจอยู่ที่ 2-2.2 แสนบาท แต่ซื้อขายจริงมอบส่วนลดให้ 20% เศรษฐกิจ กำลังซื้อชะลอตัว อาจลดไปถึง 30-50%
แต่อาคตอันใกล้ จะเห็นช่อง 3 ปรับค่าโฆษณาขึ้น หรือส่วนลดที่ลูกค้าเคยได้รับจะถูกขยับขึ้นให้สอดคล้องกับเรทติ้งนั่นเอง ส่วนช่วงเวลาที่เล็งไว้คือ “รายการข่าว” และช่วง “ละครเย็น” เพราะทำผลงานได้อย่างน่าพอใจ
สำหรับ “ข่าว” ปฏิเสธไม่ได้ว่า กรรมกรข่าวอย่าง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” หวนคืนจอ ช่วยสร้างกระแส ดึงผู้ชมให้กลับมาเฝ้าที่หน้าจอช่อง 3 ได้อย่างดี จึงมีการเพิ่มเวลาของแต่ละรายการ เช่น เรื่องเล่าเช้านี้ ออกอากาศ 06.00-08.20 น. จากเดิมจบที่ 07.55 น. การออกาอากาศยาวขึ้น ทำให้ขายโฆษณาได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่วนอัตราการใช้เวลาโฆษณาจาก 30% ในไตรมาส 1 ขยับขึ้นเป็น 60% ขานรับ “สรยุทธ” กลับมา ส่วนเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ อัตราการใช้เวลาโฆษณาพุ่งถึง 95% จากไตรมาส 1 อยู่ที่ 60% และอยู่ที่ 75% เมื่อ “สรยุทธ” คืนจอ
“เมื่อทำรายการให้ดี อัตราการใช้เวลาโฆษณาสูงขึ้น ส่วนลดค่าโฆษณาจะก็ถูกปรับให้แคบลง แต่การจะปรับราคาเราต้องรักษาระดับเรทติ้งให้ดีต่อเนื่อง 3-4 เดือน”
เมื่อรายการข่าวกลับมาเป็นพระรองที่โดดเด่นอีกครั้ง บริษัทยังมุ่งผลักดันการทำรายได้ให้เติบโตแตะ 30% เหมือนในอดีตด้วย จากไตรมาส 1 ขยับมา 23% เทียบตอน “สรยุทธ” ร้างลาจอ สัดส่วนข่าวทำเงินเพียง 10% เท่านั้น
++พิชิตรายได้ หมื่นล้านบาท
อาณาจักรช่อง 3 ของตระกูล “มาลีนนท์” ดำเนินธุรกิจทีวีมาครึ่งศตวรรษหรือ 50 ปี ยุคอู้ฟู่ คู่แข่งน้อยราย การทำรายได้หลัก “หมื่นล้าน” มีให้เห็นต่อเนื่อง ส่วนกำไรโกยเป็น “พันล้าน” ก่อนจะเจอกับมรสุมดิจิทัล เทคโนโลยีกระทบ รวมถึงการประมูลทีวีดิจิทัล ทำให้บริษัทรายได้ลดไม่พอ ยังเผชิญ “ขาดทุน” อยู่หลายปี
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนงาน สุรินทร์ เชื่อว่าอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการกลับไปยืนอยู่ในจุดที่เคยทำรายได้หลักหมื่นล้านบาท