‘ถอดบทเรียนไต้หวัน’ โควิดเป็นศูนย์อาจไม่ใช่คำตอบยั่งยืน
ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขแนะ การระบาดของโควิด-19 ครั้งล่าสุดในไต้หวันเป็นบทเรียนว่า ยุทธศาสตร์สกัดโควิดเป้าหมายการติดเชื้อในท้องถิ่นเป็นศูนย์อาจไม่ยั่งยืนในระยะยาว
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ก่อนที่ผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นมากในรอบล่าสุด ไต้หวันรายงานการติดเชื้อโควิด-19 ต่ำมากมานานกว่า 1 ปี ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ ทำให้ไต้หวันดำเนินกิจกรรมประจำวันส่วนใหญ่ได้ต่อเนื่องตามปกติ และได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติว่ามีมาตรการสกัดโรคได้ดีเยี่ยม
อย่างไรก็ตาม เบนจามิน คาวลิง อาจารย์และหัวหน้าภาควิชาระบาดวิทยาและชีวสถิติ วิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า นั่นทำให้ไต้หวัน “อ่อนไหวอย่างสมบูรณ์” ต่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ติดเชื้อง่ายขึ้น และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
“เป็นไปได้มากว่า ประชากรไต้หวันไม่ถึง 1% ที่ติดเชื้อแล้วมีภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ และที่ฉีดวัคซีนแล้วมีไม่ถึง 1% พวกเขาจึงอ่อนไหวเกือบทั้งหมด” นักวิชาการกล่าว
ข้อมูลทางการระบุว่า นับถึงวันจันทร์ (31 พ.ค.) ไต้หวัน ที่มีประชากรราว 24 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมกว่า 8,500 คน เสียชีวิต 124 คน แต่การระบาดรอบนี้คาวลิงมองว่า อาจควบคุมได้ยาก ทางการไต้หวันอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการเว้นระยะที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เนื่องจากเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อได้ไม่มากพอ และการฉีดวัคซีนคืบหน้าช้า
“นี่คือคำเตือนไปถึงเอเชียส่วนอื่นๆ ที่กำลังพยายามใช้ยุทธศาสตร์กำจัดโควิดเหมือนไต้หวัน มันอาจไม่ยั่งยืนในระยะยาว”
ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจเอเชียมักไม่ยอมให้มีการติดเชื้อเมื่อเทียบกับในภูมิภาคอื่น ตัวอย่างเช่น หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยรัฐบาลฮ่องกงและสิงคโปร์จะรีบปรับมาตรการควบคุมให้เข้มข้นขึ้นทันที ขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐและสหราชอาณาจักรยังคงมีรายงานเคสใหม่วันละหลายพันคน แต่ฉีดวัคซีนเร็วกว่าทำให้ประเทศเหล่านี้ยกเลิกข้อจำกัดได้
คาวลิงกล่าวต่อว่า ไต้หวันก็เหมือนเพื่อนร่วมภูมิภาคเอเชียรายอื่นๆ ที่ดิ้นรนหาวัคซีน อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งของไต้หวันคือการเมือง
สัปดาห์ก่อนประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน โพสต์เฟซบุ๊คว่า รัฐบาลซื้อวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและโมเดอร์นา พร้อมกล่าวหาจีนว่าขวางไม่ให้ไบออนเทค บริษัทเยอรมนีที่ร่วมพัฒนาวัคซีนกับไฟเซอร์ ได้ทำข้อตกลงกับไต้หวัน ซึ่งจีนปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
“การได้วัคซีนของไต้หวันเป็นเรื่องการเมืองมากๆ ผมคิดว่าพวกเขาสามารถทำได้ แต่ตอนนี้ยังหาวัคซีนมาได้ไม่เพียงพอกับประชาชนเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเว้นระยะและล็อกดาวน์เพื่อรับมือโควิด”