สรท.ดันส่งออกโต10-15%เร่งรัฐแก้ปัญหาขาดตู้สินค้า

สรท.ดันส่งออกโต10-15%เร่งรัฐแก้ปัญหาขาดตู้สินค้า

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินการส่งออกปี 2564 มีโอกาสขยายตัว 10-15% บนเงื่อนไขที่รัฐช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าอย่างเต็มที่

นายชัยชาย เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยยังโตอย่างต่อเนื่อง โดยเดือน เม.ย.การส่งออกมีมูลค่า 21,429 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.09% ภาพรวมเดือน ม.ค.-เม.ย.2564 มีมูลค่า 85,577 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.78%  

ส่วนการนำเข้าเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีมูลค่า 21,246 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 29.79%  ซึ่ง สรท.คาดการณ์การส่งออกปี 2564 เติบโต 6-7 % โดยหากการส่งออกไตรมาส 2 (พ.ค.-ก.ค.) ขยายตัว 15% หรือมีมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ และการส่งออกเฉลี่ยทุกเดือนจากนี้ถึงสิ้นปีได้เดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์ จะทำให้ทั้งปีขยายตัว 7%

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกสำคัญ คือ แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐ นำเข้าพุ่งสูงขึ้นเพราะผู้ผลิตในประเทศผลิตไม่ทันความต้องการที่สูงขึ้น และหลายอุตสาหกรรมเริ่มขาดแคลนแรงงาน 

รวมทั้งมีความคืบหน้าการฉีด วัคซีนโควิด-19” ทั่วโลก และดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (World PMI index) สูงสุดรอบ 11 ปี สะท้อนฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก 

นอกจากนี้ ราคาสินค้าในตลาดโลกมีทิศทางสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ ยางพาราแปรรูปขั้นต้น ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งสอดคล้องราคาน้ำมันดิบและอุปสงค์ในตลาดโลกที่ขยายตัวจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้มูลค่าการส่งออกกลุ่มนี้ฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีนี้

162255054698

อย่างไรก็ตามต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการส่งออกไทย โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงทั้งในประเทศและอาเซียน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ล่าช้า

รวมถึงปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนแม้ภาครัฐของไทยมีประกาศอนุญาตให้เรือใหญ่ขนาด 400 เมตร เข้าไทยได้และส่งผลให้นำเข้าตู้เปล่าเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณตู้เปล่ายังไม่เพียงพอ ซึ่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกในการส่งสินค้าให้กับประเทศปลายทางที่เป็นคู่ค้าสำคัญ 

ประกอบกับสายเรือยังจัดสรรตู้คอนเทนเนอร์ (Space allocation) ส่วนใหญ่ให้จีนและเวียดนาม เพราะจ่ายค่าระวางอัตราสูงกว่าไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ต่อเนื่อง และอัตราค่าระวางที่ทรงตัวระดับสูงขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

ในขณะที่สถานการณ์ความผันผวนของวัตถุดิบสำคัญ โดยเฉพาะชิปขาดแคลน ส่งผลกระทบเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องชะลอการผลิต เนื่องด้วยจำนวนสินค้าคงคลังเริ่มลดลงและคาดการณ์ว่าจะกระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกรวมทั้งไทย และมีแนวโน้มว่าสถานการณ์ยืดเยื้อถึงไตรมาส 4

นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นจากการที่จีนลดกำลังการผลิตเหล็กมากกว่าครึ่งทำให้เกิดภาวะ Short Supply กระทบต้นทุนการผลิตที่ใช้วัตถุดิบเหล็ก เช่น บรรจุภัณฑ์โลหะ (อาหารและเครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง) การก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องจักรกล 

รวมทั้งมีปัญหาขาดแคลนแรงงานเพราะโควิด-19 ทำให้แรงงานต่างด้าวกลับประเทศจำนวนมากและยังไม่กลับมา ซึ่งกระทบภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคเกษตรที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน 2-3 แสนคน และรวมถึงผลต่อการต้องชะลอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

สรท.ประเมินแนวโน้มการส่งออกโดยพิจารณาปัจจัยการแก้ปัญหาตู้สินค้า 3 กรณี คือ 

1.กรณีการส่งออกขยายตัว 7% จะต้องมีตู้สินค้า 1.86 ล้าน TEUs หรือเฉลี่ย 158,000 TEUs/เดือน 

2.กรณีการส่งออกขยายตัว 10 % จะต้องมีตู้สินค้า 2.01 ล้าน TEUs หรือเฉลี่ย 176,000 TEUs/เดือน 

3.กรณีการส่งออกขยายตัว 15% จะต้องมีตู้สินค้า 2.25 ล้าน TEUs หรือเฉลี่ย 207,000 TEUs/เดือน

“การส่งออกไทยมีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวถึง 10-5 % หากหาตู้สินค้าได้ 2.01-2.25 ล้าน TEUs และมีการจัดสรรพื้นที่หรือ Space Allocation และค่าระวางอยู่ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้เพียงพอและรองรับต่อการเติบโตของการส่งออก"

ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอให้ภาครัฐดำเนินการเพื่อสนับสนุนการส่งออก คือ 1.การเร่งรัดการฉีดวัคซีนในภาคโลจิสติกส์และภาคการผลิต เช่น ท่าเรือ ท่าอากาศยาน

2.เร่งให้มีนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาเพิ่มเติมโดยเร็วและบริหารจัดการ Space Allocation เพราะคำสั่งซื้อเริ่มฟื้นตัวระดับสูง และเอกชนไทยมีศักยภาพส่งออกจึงขอให้ภาครัฐเช่าเรือเพื่อไปนำตู้สินค้าเปล่าจากประเทศที่มีตู้ตกค้างกลับมาไทย

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒพงศ์ ที่ปรึกษา สรท.กล่าวว่า โอกาสที่การส่งออกของไทยจะขยับขึ้นไปถึง 10% มีอยู่แต่ขึ้นกับการบริหารจัดการอุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้มีคำสั่งสินค้าเข้ามามาก แต่ไม่สามารถส่งสินค้าได้เนื่องจากไม่มีตู้ขนส่งสินค้า ประกอบกับสหรัฐอัดฉีดเงินมหาศาลเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ โดยจะเป็นโอกาสส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาตลาดสหรัฐโตต่อเนื่อง แต่ถ้าไทยไม่รีบแก้ปัญหาจะเสียเปรียบคู่แข่ง