‘ซีอาร์จี’ปลุกลงทุน แฟรนไชส์ต่ำล้านดันธุรกิจโต

‘ซีอาร์จี’ปลุกลงทุน แฟรนไชส์ต่ำล้านดันธุรกิจโต

เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป เปิดเกมรุกฝ่าวิกฤติโควิด ปั้นโมเดลแฟรนไชส์ลงทุนต่ำกว่าล้านบาท ดันเรือธง "มิสเตอร์โดนัท-อานตี้แอนส์-อาริกาโตะ" สยายปีก ทั้งเจาะดีมานด์คนตกงาน มนุษย์เงินเดือนมองหาอาชีพใหม่ หนุนรายได้กลุ่มเบเกอรี่และเครื่องดื่มปีนี้โต 18-20%

ท่ามกลาง “วิกฤติโควิด-19” ยังมีโอกาสทางการตลาดอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการในการปรับกลยุทธ์ พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคและโลกการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

นายสุชีพ ธรรมาชีพเจริญ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเบเกอรี่และเครื่องดื่ม (Bakery & Beverage Cuisine) บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี กล่าวถึงทิศทางธุรกิจว่า ซีอาร์จี วางกลยุทธ์นิวฟอร์แมท (New format) โดยพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ภายใต้โจทย์มุ่งเข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ ให้บริการได้ง่ายที่สุด และเร่งสร้างยอดขาย เพื่อสอดรับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันซึ่งทำให้ผู้บริโภคเดินทางหรือออกนอกบ้านน้อยลง

ซีอาร์จี จึงเพิ่มโมเดลหรือแพลตฟอร์มธุรกิจหลากหลายที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ลูกค้าในแต่ละรูปแบบครบทั้งหน้าร้าน (ออฟไลน์) ที่มีร้านมาตรฐานทั่วไป ร้านขนาดเล็ก เดลโก้ และโมบาย ตุ๊ก ตุ๊ก ซึ่งเน้นการมองหาพื้นที่ใหม่ ให้สามารถขยายสาขาได้คล่องตัว เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในสถานที่และแหล่งชุมชนต่างๆ  พร้อมทั้งรุกขยายบริการ “ดิลิเวอรี่” และ “ออมนิชาแนล”

"ธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ยังมีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา แต่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จะเห็นได้จากความคึกคักของตลาดเบเกอรี่จากการฮอต ฮิต ของขนมครัวซองต์ ทำให้อุตสาหกรรมเบเกอรี่มีการเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยสำคัญ เป็นโอกาสในการขยายตลาดสำหรับซีอาร์จี"

ปัจจุบัน ตลาดเบเกอรี่มีมูลค่ารวมกว่า 30,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนของเซ็กเมนต์ ขนมปัง 53% ขนมเค้ก 22% และ ขนมอบ (พาย ครัวซองต์ คุ้กกี้) 25%  โดยความนิยมของ “ครัวซองต์” ทำให้สัดส่วนขนมอบมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ตลาดกาแฟ แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ตลาดรวมกาแฟในไทยทรงตัว แต่หากแยกประเภทตลาดกาแฟมูลค่า 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดกาแฟในบ้าน 33,000 ล้านบาท พบว่าได้อานิสงส์จากโควิด-19 มีการเติบโตสูง 10% ส่วนตลาดกาแฟนอกบ้าน 27,000 ล้านบาท หดตัว 30-40%

ทั้งนี้ ภาพรวมกลุ่มเบเกอรี่และเครื่องดื่มของซีอาร์จี มี 4 แบรนด์หลักที่แข็งแกร่ง ประกอบด้วย มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut) อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s) โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery) และ อาริกาโตะ (Arigato) พร้อม 1 โรงงาน ซีอาร์จี แมนูแฟคเจอริ่ง (CRGM) ซึ่งได้มีการต่อยอดพัฒนาธุรกิจใหม่ (New business model) ผ่านระบบ “แฟรนไชส์” เพื่อขยายตลาด 

162322006213

โดยนำร่องแบรนด์ มิสเตอร์ โดนัท และ อานตี้ แอนส์  เบื้องต้นงบลงทุนต่ำกว่า “1 ล้านบาท” เป็นจุดขายและดึงดูดนักลงทุนที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ 2 แบรนด์เรืองธงนี้ ตามแผน มิสเตอร์ โดนัท จะเปิดขายแฟรนไชส์ได้ช่วงไตรมาส 3 และ อานตี้ แอนส์ ในไตรมาส 4 โดยจะมีสาขาไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง 

“เวลานี้หลายๆ อาชีพมีปัญหา สายการบิน การท่องเที่ยว มีคนตกงาน ยังมีเงินเก็บ แต่ไม่ค่อยมีงานรองรับจึงมองหาอาชีพใหม่ หาแบรนด์ที่น่าสนใจและสร้างโอกาสทำรายได้ นับเป็นจังหวะในการลงทุนแฟรนไชส์ด้วยงบประมาณต่ำ ขณะที่ซีอาร์จีจะสามารถขยายสาขาได้เร็วขึ้นด้วย” 

162322008139

พร้อมกันนี้ วางกลยุทธ์ดิิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และขยายช่องทางการขายใหม่ (New channel) ออนไลน์ เชื่อมออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ (ออมนิชาแนล) ลูกค้าสามารถซื้อสินค้า ซื้อดีลต่างๆ สั่งอาหาร ได้ทั้งแบบดิลิเวอรี่ คลิกแอนด์คอลเลค บน Line OA เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านมาร์เก็ตเพลส และระบบแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ อย่าง ช้อปปี้มอลล์ พบว่าลูกค้าตอบรับเป็นอย่างดี หลังจากนี้มีแผนขยายตลาดเพิ่มไม่ว่าจะเป็นลาซาด้า เจดีเซ็นทรัล และไลน์ช้อปปิ้ง รวมถึงช่องทาง C2C หรือ Customer to Customer ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ที่น่าสนใจ เพราะเป็นโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบผู้บริโภคไปยังผู้บริโภคที่สามารถขยายและต่อยอดการขายในวงกว้างมากขึ้น ภายใต้กลยุทธ์เปิดร้านขายบนแพลตฟอร์มของตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับสิทธ์จาก ซีอาร์จี ทั้งการขายปลีกและการขายส่ง

นอกจากนี้ เน้นการส่งมอบประสบการณ์ความอร่อยหลากหลายเมนูที่เข้าถึงได้ทุกช่วงโอกาส โดยพัฒนาและต่อยอดเมนูเพื่อเพิ่มความสะดวกและเข้าถึงง่าย อาทิ เมนูแกร็บ แอนด์ โก (Grab & Go) เทคโฮม (Take home) และสินค้าพร้อมทาน (RTE product) ที่เป็นเทรนด์แห่งอนาคต 

162322010145

ปีนี้ ซีอาร์จีจัดสรรงบกว่า 220 ล้านบาทขยายสาขากลุ่มเบเกอรี่และเครื่องดื่มกว่า 100 สาขา เน้นรูปแบบเดลโก้ 50-70 สาขา และโมบาย ตุ๊กตุ๊ก รวมทั้งช็อปสแตนอะโลนนอกศูนย์การค้าเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่นทำเล สถานีบริการน้ำมัน ไทวัสดุ โรงเรียน ตลาดขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัย เป็นต้น จากประสบการณ์ล็อกดาวน์ช่วงโควิดซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อร้านที่อยู่ในศูนย์การค้า ที่มีสัดส่วนถึง 90% ดังนั้นต้องปรับกลยุทธ์มองหาฐานตลาดสร้างรายได้ใหม่มากขึ้น ซึ่งช็อปสแตนอะโลน ยังจะเป็นจุดศูนย์กลางของช่องทางการขายแบบดิลิเวอรี่อีกด้วย ขณะเดียวกัน มุ่งจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ผ่านการพัฒนาสินค้าพิเศษ เฉพาะกลุ่มลูกค้า สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและดึงดูดลูกค้า 

ในช่วงครึ่งปีแรกนี้กลุ่มเบเกอรี่และเครื่องดื่มซีอาร์จี คาดมีรายได้ 1,200 ล้านบาท มั่นใจว่าสิ้นปีนี้จะผลักดันยอดขายเป็นไปตามเป้าหมาย 2,900 ล้านบาท เติบโต 18-20% นับเป็น 1ใน4 ของพอร์ตธุรกิจซีอาร์จี โดยอีก 3 ขาหลัก มาจากกลุ่มธุรกิจเคเอฟซี, กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น และกลุ่มร้านอาหารไทย-อาหารจีน