อบจ.อุดรธานี ทุ่ม 100 ล้านจอง “ชิโนฟาร์ม” หลังปลดล็อก อปท.ซื้อวัคซีนได้
หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ 6 ข้อ กำหนดบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ปลดล็อกให้ อปท.สามารถใช้งบประมาณจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่กำหนดต้องเชื่อมกับแพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” โดยทาง อบจ.อุดรธานี ขยับทันที ส่งหนังสือถึงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตั้งงบ 100 ล้านบาท สั่งจอง “ชิโนฟาร์ม” ยังไม่มั่นใจคำตอบแต่ยังมีหวัง
10 มิถุนายน 2564 นายวิเชียร ขาวขำ นายกอบจ.อุดรธานี ได้เปิดเอกสารพร้อมลงลายมือชื่อ นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรานี ที่ อด 51005/2564 เรื่องขอสั่งจองการจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm COVID-19 Vaccine) ถึง ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 9 มิถุนายน 2564 หวังใช้งบภัยพิบัติเพิ่มทางเลือกให้ชาวอุดรสู้โควิด-19 แม้จะยังไม่มีความชัดเจนจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มากนัก
โดยหนังสือระบุว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยระลอก 3 ยังพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม ผู้ป่วยเสียชีวิต และผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการระบาดระลอกใหม่นี้ได้กระจายออกไปในหลายพื้นที่เป็นวงกว้าง รวมถึงการแพร่ระบาดจากต่างประเทศที่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ทั้งนี้ มาตรการสำคัญของการป้องกันโรคโควิก-19 คือ การให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีน
ตามรายงานข่าวในปัจจุบันแจ้งว่าการสั่งซื้อวัคซีนโควิดชิโนฟาร์ม (Sinopharm COVID-19 Vaccine) ผลิตโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Product Co.LTD) ทาง สนง.คณะกรรมการอาหารและยา ได้อนุมัติทะเบียนยาให้กับ บ.ไบโอจีนีเทค จก. และจำหน่ายให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อช่วยเหลือคนไทยให้ได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็ว และเป็นทางเลือกจากวัคซีนหลัก อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือรัฐบาลในการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ประชาชนลดการติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทาง อบจ.อุดรธานี เป็น อปท.ขนาดใหญ่ บริหารงานที่มุ่งเน้นนโยบายด้านการพัฒนาสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพัฒนาด้านสาธารณสุขที่เน้นการดูแลสุขภาพ และการป้องกันโรคตาม พรบ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ภายใต้ความร่วมมือกับ รพ.อุดรธานี มีความพร้อมและศักยภาพการบริหารจัดการโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 20 19 (COVID-19) เพื่อให้ประชาชนใน จ.อุดรธานีปลอดจากเชื้อโควิด(Covid Free City) และเพื่อเป็นการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ การให้ประชาชนเข้าถึงการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมเป็นสิ่งสำคัญ
ดังนั้น อบจ.อุดรธานี จึงขอสั่งจองการจัดซื้อวัคซีนซีโนฟาร์ม (Sinopharm COVID-19 Vaccine) ผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ภายใต้งบประมาณของ อบจ.อุดรธานี เข็มที่ 1 จำนวน 50 ล้านบาท และเข็มที่ 2 จำนวน 50 ล้านบาท รวม 100 ล้านบาท เพื่อลดการแพร่ระบาด ลดความรุนแรงของโรค และลดการเสียชีวิตของประชาชนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
โดย นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า อุดรธานี มีประชากรประมาณ 1.6 ล้านคน ตอนนี้ประชาชนยังได้รับวัคซีนค่อนข้างน้อย การจัดสรรวัคซีนก็น้อย เราเห็นว่าแนวทางการสั่งจองวัคซีนครั้งนี้จะเป็นช่องทางช่วยเหลือประชาชนได้ เมื่อทราบว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม เราจึงแสดงเจตจำนงค์เพื่อขอซื้อต่อ เพราะ อบจ. หรือท้องถิ่นนำเข้าเองไม่ได้ เราดูเรื่องงบใช้จ่ายฉุกเฉินกรณีภัยพิบัติ เรามีอยู่ประมาณ 100 ล้านบาท จึงวางแผนไว้ว่าจะแบ่งเป็น 2 งวด หรือเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 งวดละ 50 ล้านบาท
“เรายังไม่ทราบว่าทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะขายให้ท้องถิ่นโดสละเท่าไหร่ เราก็จะมาดูกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่ตกหล่นจากการลงทะเบียนออนไลน์ ไม่มีสมาร์ทโฟน คนที่ด้อยโอกาส คนยากคนจนที่มีความสามารถเข้าถึง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะให้วัคซีนมาเท่าไหร่ด้วย หรือจะได้หรือไม่ได้ก็ยังไม่รู้ ถ้าชัดเจนว่าได้วัคซีนก็จะนำเรียนท่านผู้ว่าอุดรฯ และสาธารณสุขจังหวัด จะได้เชิญหน่วยงานต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อม ทำตามระบบที่จังหวัดวางไว้บูรณาการร่วมกัน ซึ่งจะมี อบจ.อุดรธานีจัดหาวัคซีน”
นายก อบจ.อุดรธานี เปิดเผยอีกว่า เราส่งหนังสือไปเมื่อวานนี้ ยังไม่รู้ว่าจะได้คำตอบอย่างไร แต่ก็หวังว่าถ้ามีการนำเข้ามาเยอะ เราก็หวังว่าเราจะได้มาเพราะเราส่งหนังสือเป็นลำดับต้นๆของประเทศ น่าจะเป็นจังหวัดที่ 2 หรือ 3 เรามีความหวังเรื่องวัคซีนในครั้งนี้ ตอนนี้จากข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือเรามองว่าซิโนฟาร์มน่าจะดีที่สุดจึงมุ่งมาที่การติดต่อขอซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้านงบประมาณครั้งนี้ต้องผ่านสภา ถ้าได้รับคำตอบชัดเจน ก็จะเข้ากระบวนการบรรจุแผนเข้าสภา มีการพูดคุยกับ อบจ.อื่นๆ เช่นกัน มีแผนคล้ายกัน ต่างคนต่างก็อยากดูแลประชาชน อบจ.ไหนมีงบสะสมเรื่องภัยพิบัติก็อยากจะทำ
“เนื่องจากงบประมาณที่ อบจ.อุดรธานี มีอยู่อาจจะไม่มากนัก แต่ อบจ.ก็จะทำเต็มที่ในภารกิจและในกรอบของงบประมาณ จะเป็นการแบ่งเบาช่วยเหลือประมาชนได้ในระดับหนึ่ง ถ้าราคาวัคซินโดสละ 888 บาท เราจะได้เพียง 6 หมื่นคนเท่านั้น จะพยายามดูแลพี่น้องประชาชนที่ด้อยโอกาสให้มากที่สุด เรื่องกลุ่มเป้าหมายจะหารือกับจังหวัดอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อล้ำ จะกระจายให้ทั่วถึงทุกอำเภอ ถามว่าครบหรือไม่ก็คงไม่ครบ และหากการส่งจองครั้งนี้ไม่ได้ เราก็จะเดินหน้าต่อ ไม่ได้ซิโนฟาร์มก็ต้องหาตัวอื่น มีหน่วยงานไหนจัดซื้อได้อีก เป็นวัคซีนตัวไหนก็จะต้องจัดซื้อมาให้พี่น้องประชาชนให้ได้” นายวิเชียร กล่าว