พิษโควิดทุบร้านอาหาร-โรงแรมปิดกิจการ! ‘ส.ภัตตาคารไทย’ จี้รัฐอุ้มสภาพคล่องภายใน ก.ค.นี้

พิษโควิดทุบร้านอาหาร-โรงแรมปิดกิจการ!  ‘ส.ภัตตาคารไทย’ จี้รัฐอุ้มสภาพคล่องภายใน ก.ค.นี้

สมาคมภัตตาคารไทย ชี้พิษโควิดทุบสถานะธุุรกิจร้านอาหาร “สาหัส” ปิดกิจการทั้งแบบชั่วคราว-ถาวรแล้ว 5 หมื่นราย หวั่นภายใน ก.ค. รัฐไร้มาตรการหนุนสภาพคล่องจ่อปิดอีก “5 หมื่นราย” ด้าน สมาคมโรงแรมฯ เผยเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาปิดชั่วคราว 20% เปิดบางส่วน 41%

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สถานะกิจการของธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดในประเทศไทยซึ่งมีอยู่ประมาณ 550,000 ราย แบ่งเป็น ร้านอาหารขนาดกลาง-ใหญ่  (200 ตารางเมตรขึ้นไป) จำนวน 150,000 ราย และไมโครเอสเอ็มอี เช่น ร้านอาหารตามตึกแถว สตรีทฟู้ด อีกจำนวน 400,000 ราย สมาคมฯประเมินว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านอาหารปิดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและถาวรแล้ว 50,000 ราย และเตรียมปิดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและถาวรอีก 50,000 ราย หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินจากภาครัฐภายในเดือน ก.ค.นี้

“การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารชนิดสาหัส การสำรวจของสมาคมฯ พบว่าผู้ประกอบการขาดทุนอย่างหนัก หมดสายป่านกันแล้วเพราะมีเงินทุนหมุนเวียนจำกัด จนต้องปิดร้านชั่วคราวและปิดกิจการ"

สมาคมฯ จึงได้เรียกร้องขอมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินอย่างเร่งด่วนจากภาครัฐ เพื่อประคับประคองธุรกิจร้านอาหารซึ่งทำรายได้ให้กับประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท และเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง ทั้งเป็นแหล่งจ้างงาน เป็นซัพพลายเชนเชื่อมโยงไปยังผู้ผลิต ผู้ให้บริการประเภทต่างๆ

หลังเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารมียอดขายเหลือเพียง 10% ของยอดขายปกติ ส่วนในเดือน มิ.ย. ยอดขายอยู่ที่ระดับ 30% คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเล็กน้อยในเดือน ก.ค. หรือยอดขายฟื้นเป็น 40% ของยอดขายปกติ เนื่องจากรัฐบาลมีการปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่คนไทยมากขึ้น ประกอบกับร้านอาหารต่างๆ ต่างออกโปรโมชั่นเพื่อสนับสนุนให้คนไทยออกมาฉีดวัคซีน

  • โรงแรม 20% ปิดชั่วคราว อีก 41%เปิดบางส่วน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 234 แห่ง (เป็นสถานที่กักกันทางเลือกหรือ ASQ 14 แห่ง และฮอสพิเทล 3 แห่ง) พบว่าสถานะกิจการของโรงแรม 217 แห่ง มีเพียง 38% ยังคงเปิดกิจการปกติ ที่เหลือ 41% เปิดกิจการเป็นบางส่วน และอีก 20% ปิดกิจการชั่วคราว

เมื่อเทียบกับผลสำรวจของเดือน เม.ย. พบว่าสัดส่วนของโรงแรมที่เปิดกิจการในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ลดลง 8% และโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 7% จากโรงแรมในภาคกลางและภาคเหนือที่ “ปิดกิจการเพิ่มขึ้น” เป็นสำคัญ โดยโรงแรมส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในไตรมาส 4 นี้

ในเดือน พ.ค. โรงแรมส่วนใหญ่มีรายได้ลดลงจากเดือน เม.ย. โดย 63% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ทั้งหมด รายได้กลับมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด โดยโรงแรมในภาคเหนือและภาคใต้ส่วนใหญ่รายได้แทบจะไม่ฟื้นตัว มีโรงแรมเพียง 18% ที่รายได้กลับมาเกินครึ่งของช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

  • ธุรกิจโรงแรมอ่วมโควิดลากยาว

“ส่วนแนวโน้มในเดือน มิ.ย. สมาคมฯ มองว่าโรงแรมน่าจะมีสัดส่วนการปิดกิจการชั่วคราวและการเปิดเพียงบางส่วนมากขึ้น เพราะประเมินแล้วไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพัก โดยเฉพาะลูกค้าคนไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ภายในประเทศ ยอมรับว่าธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากระลอกนี้หนักมาก และหนักกว่าระลอก 1 เพราะสถานการณ์ลากยาวจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในปัจจุบันที่ยังสูง”

จากการสำรวจล่าสุดของสมาคมฯ ต่อความสนใจเข้าร่วมมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) พบว่ามีโรงแรมที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ สนใจเข้าร่วมมาตรการนี้ 90 แห่ง แต่มีโรงแรมที่เข้าเงื่อนไขของมาตรการนี้ 62 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในภาคใต้และเป็นโรงแรมที่เปิดกิจการเพียงบางส่วน ในโรงแรม 62 แห่งนี้ อยู่ระหว่างตัดสินใจ 34 แห่ง และกำลังติดต่อประสานงาน 22 แห่ง ได้รับอนุมัติแล้ว 4 แห่ง และถูกปฏิเสธ 2 แห่ง

ขณะเดียวกัน มีโรงแรมที่ไม่สนใจเข้าร่วมมาตรการนี้จำนวน 144 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าร่วม หรือไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ขณะที่บางส่วนไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข หรือยังไม่เข้าใจในรายละเอียดของมาตรการ

162358703940