อ่านเกม “สตรีมมิ่ง” สงครามชิงคนดูระลอกใหม่!!
สงคราม คือ “แพลตฟอร์ม” ส่วนอาวุธ คือ “Content” เป็นนิยามการแข่งขันของโลกธุรกิจการให้รับชมวิดีโอออนไลน์หรือ Video Streaming ซึ่งวันนี้ตลาดเริ่มดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ “ยักษ์ใหญ่” ทยอยลงสนาม
“เน็ตฟลิกซ์” อาจสร้างปรากฏการณ์ตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมวิดีโอออนไลน์โดยเฉพาะประเภทหนัง ซีรีส์ สารคดี ฯจนสามารถเกณฑ์ผู้บริโภคหลัก “ร้อยล้าน” มาเป็นสมาชิก เรียกว่า “ชิงฐานคนดู” ไปล่วงหน้าเป็นปี ส่วนจะทิ้งห่าง “คู่แข่ง” ได้หรือไม่ เกมนี้ต้องวัดกันยาวๆ
ธุรกิจแพลตฟอร์มวิดีโอ ปัจจุบันมีผู้เล่นเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพราะไม่เพียงค่ายเทคโนโลยี ที่ปลุกปั้นแพลตฟอร์มใหม่มาฟาดฟัน แต่ผผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงต่างก็สร้างแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งของตัวเอง เพื่อรองรับฐานคนดูที่มี ซึ่งไม่เพียงรับมือกับการแข่งขันที่เกิดขึ้น แต่เพื่อทำให้ Ecosystem ของธุรกิจครอบวงจรยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ผู้เล่นใหญ่ ไมไ่ด้มีแค่แพลตฟอร์มจากชาติตะวันตกเท่าน้้น เพราะฝั่งเอเชียได้พัฒนาแพลตฟอร์มเข้าสู้เช่นกัน นาทีนี้สมรภูมิแพลตฟอร์มวิดีโอ สตรีมมิ่งจึงเต็มไปด้วยบิ๊กแบรนด์มากมาย และล่าสุดที่ประกาศหมากรบในไทยต้องยกให้ “ดิสนีย์ พลัส ฮอตสตาร์”(Disney+ hotstar) จากเดิมที่มี “เจ้าตลาด” ทั้งเน็ตฟลิกซ์(Netflix), วิว(Viu), วีทีวี(WeTV), อ้ายฉีอี้(iQIYI), ไลน์ทีวี(LINE TV) เอชบีโอ โก(HBO GO) แอปเปิล ทีวี(Apple TV) เป็นต้น
โดยมีผู้เล่นไทยสร้างแพลตฟอร์มประกบตลาดทั้ง Bugaboo TV, Ch3plus, CH3 Plus Premium, MONO MAX, AIS Play ฯ ส่วนมองไประดับโลกยังมีผู้เล่นอีกมากมายทำตลาด ซึ่งยังไม่เปิดศึกในไทย เช่น อะเมซอน ไพรม์ วิดีโอ(Amzone Prime Video) ที่เพิ่งเข้าซื้อกิจการ “MGM” หรือ Metro-Goldwyn-Mayer ผู้ผลิตคอนเทนท์ยักษ์ใหญ่ชองโลก โดยเฉพาะ “ภาพยนตร์” ซึ่งดีลดังกล่าวปิดตัวเลขกว่า 8,450 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยกว่า 2.6 แสนล้านบาท ซึ่ง MGM มีคอนเทนท์เป็นอาวุธสำคัญมากมาย หนังแฟรนไชส์ชื่อดัง “เจมส์ บอนด์” รวมถึง Me Before You, Gone with the wind, The Hobbit ในคลังมีมากถึง 4,000 เรื่อง รายการทีวีอีก 17,000 รายการ
ธุรกิจแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งในโลกมีมูลค่ามหาศาลกว่า 5 แสนดอลลาร์ หรือไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ย(CAGR)อยู่ในระดับสูงถึง 21% ต่อเนื่องถึงปี 2571 สะท้อนถึง “โอกาส” ที่มีล้นหลาม
++“ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์” ขึ้นสังเวียนสู้
แม้ “ดิสนีย์ พลัส ฮอตสตาร์” จะออกสตาร์ทรุกสังเวียนแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมช้ากว่าคู่แข่ง แต่ศักยภาพ และจุดแข็งของบริษัทไม่ธรรมดา เพราะในด้าน “เงินทุน” มีมหาศาล ที่จะใช้สร้างสรรค์ ผลิตเนื้อหา รายการใหม่ๆ เสิร์ฟคนดู หากเทียบคู่แข่ง “เน็ตฟลิกซ์” ใช้เงินหลัก “แสนล้านบาท” ต่อปีเพื่อผลิตคอนเทนท์ป้อนและตรึงผู้ชม ระดับ “ดิสนีย์” มีสรรพกำลังไม่แพ้กัน
อาวุธสำคัญคือ “คอนเทนท์” แม้จะมาทีหลัง แต่บริษัทอยู่มานาน ทำให้กรุคอนเทนท์มีมากมาย เฉพาะเปิดตลาดในไทย ดิสนีย์ พลัส ฮอตสตาร์ ประกาศขนภาพยนตร์กว่า 700 เรื่อง เอาใจคนดูทั้งหนังฟอร์มยักษ์จากค่ายมาร์เวลล์ ซีรีส์ดังจากทั่วโลกกว่า 14,000 ตอน ที่ขาดไม่ได้คือรายการต้นตำรับที่เป็นเอ็กซ์คลูสีพหาดูได้เฉพาะแพลตฟอร์มคือ Disney+ Originals นั่นเอง โดยในไทยมีการผนึกพันธมิตรสตูดิโอผู้สร้างภาพยนตร์และซีรีส์เพื่อผลิตคอนเทนท์เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นค่ายจีดีเอช 559, สหมงคลฟิล์ม, กันตนา กรุ๊ป และ One31
กลยุทธ์เนื้อหาโดดเด่น เสริมทัพด้วยกลยุทธ์ “ราคา” เพราะดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์เปิดแพ็คเกจสมาชิกที่ 799 บาทต่อปี ดูได้ 2 อุปกรณ์พร้อมกัน ควงคู่พันธมิตร “เอไอเอส” ระเบิดราคาโปรโมชั่นอีก 35 บาทต่อเดือน แถมพิเศษ 1 เดือน จากราคาเต็ม 99 บาทต่อเดือน เรียกว่าทำทุกทางให้ผู้ชมอยู่กับแพลตฟอร์มให้นาน 1 ปีแรกให้ได้ เพราะหากผผ่านด่านการสะกดคนดูให้ชื่นชอบ คุ้นเคยแพลตฟอร์มแล้ว ยังเบรกการหนีย้ายไปอยู่แพลตฟอร์มอื่นด้วย
ปัจจุบันผู้บริโภคมี “ทางเลือก” ในการรับชมคอนเทนท์หลากหลายมาก โปรโมชั่นดูรายเดือน ดูเป็นครั้งคราว เลือกสมัครเฉพาะตอนที่มีเรื่องโปรดหรือสนใจ เป็นต้น
++จุดยืนผู้แข่งขันแต่ละราย
เมื่อแพลตฟอร์มมีหลากหลาย และ“คอนเทนท์”อาจแตกต่างกันได้ไม่มาก กลายเป็น Me Too หรือใครมีหนัง ซีรีส์ รายการไหนดังอีกแพลตฟอร์มต้องมีด้วย ทำให้กลยุทธ์อื่นๆ ตลอดจนการวางจุดยืนให้ชัดเจน จึงสร้างสาวกได้
เน็ตฟลิกซ์ มีหนัง ซีรีส์ หลากอรรถรส แต่หนึ่งในคอนเทนท์ที่เป็นกระแสให้ผู้ชมพูดถึงคือ “สารคดี” อย่าง The Social Dilemma, American Murder เป็นต้น ส่วน วิว(Viu) ยักษ์ใหญ่วิดีโอสตรีมมิ่งระดับภูมิภาค ภายใต้อาณาจักรพีซีซีดับเบิลยู ลิมิเต็ด( PCCW Limited) และมีฐานผู้ชมสูงกว่า 45 ล้านรายต่อเดือน จุดแข็งสำคัญหนีไม่พ้นซีรีส์เกาหลี รายการวาไรตี้ เอาใจสาวก “อปป้า” กันแบบสุดๆ แต่มีแคนั้นไม่พอ จึงจับมือพันธมิตรค่ายทีวี ผู้ผลิตต่างๆ ระดมคอนเทนท์ของไทย(Local Content) เสริมทัพหลากหลายรายการ
อีกจุดเด่นของ “วิว” คือการพากย์ ซึ่งไม่ได้มีให้เลือกแค่พากย์ไทยเท่านั้น แต่มีภาษาถิ่นของไทย ทั้งพากย์อิสาน, พากย์เหนือ ทำให้ผู้ชมไม่ต้องจ้องเฝ้าจออ่านซับไตเติ้ล เพราะสามารถเปิดฟังเรื่องราวแล้วทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยได้ แต่จะถูกจริตคนดูหรือไม่แล้วแต่เลือกรับฟังได้
ส่วน “อ้ายฉีอี้” แพลตฟอร์มจากแดนมังกร ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในไทยกว่า 1 ปี จังหวะปะเหมาะอาจไม่ดี เพราะเจอโรคโควิด-19 ระบาด อาจมีอุปสรรคต่อการทำตลาดบ้าง แต่ในวิกฤติมีโอกาส เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้เปิดรับชมคอนเทนท์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆได้ จุดเด่น “อ้ายอี้ฉี” คือการเป็น Over The Top เบอร์ 1 ของจีน ทำตลาดมานาน 10 ปีแล้ว ฐานผู้ชมในประเทศมากกว่า 600 ล้านคน และเป็นผู้ที่จ่ายเงินเป็นสมาชิกร่วม 100 ล้านคนด้วย
ด้านคลังคอนเนทท์มีมากกว่า 3,000 รายการ ส่วนใหญ่เป็น “คอนเทนท์จีน” ทั้งซีรีส์ ส่วนออริจินัล คอนเทนท์ของไทยเรื่องแรกที่ไปเสิร์ฟคนดูคือร่วมกับช่อง 8 ผลิต “โลกทั้งใบให้นายคนเดียว” นั่นเอง
ฟาก “วีทีวี”(WeTV) จากแดนมังกรเช่นกัน คอนเทนท์โดดเด่นด้วยซีรีส์จีน และเสริมทัพด้วยเมื่อคอนเทนท์เกาหลีใต้ เพราะเป็นที่ต้องการของผู้ชม ทำให้มีเรื่องอิตอย่าง Mouse, W, Her Private Life และ Hotel De Luna จึงต้องมี รวมไปถึงซีรีส์ญี่ปุ่น การ์ตูนอะนิเมะ รายการวาไรตี้ หนัง ฯ เติมมาครบครัน ส่วนเนื้อหารายการจากไทยทั้งจากช่อง 3 ค่ายจีดีเอช เป็นต้น
ไลน์ทีวี เป็นแพลตฟอร์มโอทีทีที่แจ้งเกิดในประเทศไทยเป็นที่แรก จึงโดดเด่นด้วยซีรีส์ ละคร และรายการวาไรตี้ของไทย ปัจจุบันยังสร้าง “ซีรีส์วาย” จนกลายเป็นกระแสในไทยและระดับภูมิภาคไปแล้ว ด้าน “เอชบีโอ โก” ทำตลาดในไทย แต่ถือว่ากระแสไม่หวือหวามากนัก แต่ฐานแฟนตัวจริงมีไม่น้อย เพราะความเห็นของผู้บริโภคบนโลกโซเชียล บางส่วนเทใจให้แพลตฟอร์มเอชบีโอ โก มากกว่าเน็ตฟลิกซ์ จุดแข็งด้านคอนเทนท์ แฟน Game Of Thrones ย่อมเป็นสมาชิกไม่มากก็น้อย แต่จุดอ่อนที่มีคำติมาก คือแอ๊พพลิเคชั่น ที่อาจยังไม่โดนใจ นอกจากนี้ การทยอยถอดคอนเทนท์ดัง เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ฯ มีส่วนทำให้ฐานแฟนหายไปด้วย
++“ราคา” ตอบโจทย์ผู้ชม
แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งที่มีมากมาย ทำให้ผู้บริโภคมีทั้ง “ยินดีจ่ายเต็ม” และ “แบ่งปัน” หรือแชร์ค่าสมาชิกกับเพื่อนเพื่อให้ได้ชมรายการโปรด แต่แพ็คเกจราคาของแต่ละแพลตฟอร์มแตกต่างกันไป และมีหลากหลายเช่นกัน เน็ตฟลิกซ์ มีแพ็คเกจ 99 บาทต่อเดือน สำหรับมือถือ, แพ็ตเกจมาตรฐาน 279 บาทต่อเดือน จนถึงแพ็คพรีเมียม 419 บาทต่อเดือน โดย 1 บัญชีแชร์คนดูได้ 4 คน, วิว ค่าสมาชิกมีตั้งแต่ 79 บาท โปรโมชั่นบัตรแพลนเน็ตเอสซีบี 69 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน มีฮอตดีลกับบัตรกรุงศรีเดบิตราคา 59 บาทสูงสุด 3 เดือน เป็นต้น เอไอเอสเพลย์ ค่าสมาชิก 199 บาทต่อเดือน
เพราะวิดีโอสตรีมมิ่งไม่ได้มีแค่ “เสียเงิน” เป็นสมาชิก(Subscription Video on Demand: SVOD))จึงจะรับชมคอนเทนท์ได้ แต่ยังมีรูปแบบการหารายได้จากการโฆษณา (Advertising video on demand: AVOD) เลยทำให้ผู้บริโภคได้ดูฟรี โดยเฉพาะแพลตฟอร์มของไทย และยังมีวิว วีทีวี อ้ายฉีอี้ เนื่องจากการดูฟรีสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยมากกว่า ค่อนข้างต่างทั่วโลกด้วย
++แพลตฟอร์มไทยไม้ประดับ
เมื่อสงครามแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแข่งขันเข้มข้น ค่ายใหญ่ห้ำหั่นด้วยเงิน โปรโมชั่น ราคาสมาชิกที่ต่ำ ส่วนแพลตฟอร์มของไทย สื่อ ค่ายบันเทิงต้องมี เพื่อให้ครบเครื่อง Ecosystem เพราะแม้จะมีรายการไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่น แต่การมีของตัวเอง ทำให้เป็นพื้นที่เก็บฐานข้อมูลผผู้บริโภค ว่าเป็นใคร ชื่นชอบรายการแบบไหน ใช้เวลาตอนไหน ใช้กี่ชั่วโมง กี่นาทีต่อวันเพื่อเสพคอนเทนท์ ทำให้นำไปต่อยอดธุรกิจได้
ในบรรดาแพลตฟอร์มโอทีทีของไทย Bugaboo TV ของช่อง7 ถือว่าพัฒนาและโลดแล่นในตลาดมานานพอสมควร การจับกลุ่มคนดูไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่มี Bugaboo Inter เพื่อรองรับคนไทยที่ชื่นชอบ คิดถึงการเสพละคร รายการวาไรตี้แบบฉบับไทยด้วย
ส่วนที่รุกหนักมาตลอดต้องยกให้ MONO MAX ของช่องโมโน29 เพราะไม่เพียงโปรโมทคอนเทนท์ที่ช่องนำมาออกอากาศ ซีรีส์ดังจากจีน เกาหลีใต้ ถูกนำมาเป็นแม่เหล็กดึงคนดูไม่ต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ส่วนช่อง 3 มีทั้ง Ch3Plus และ CH3 Plus Premium แบบบอกรับสมาชิก ค่าสมัคร 79 บาทต่อเดือน มีคอนเทนท์เอ็กซ์คลูสีพ เสิร์ฟแฟนๆโดยเฉพาะ แม้ปัจจุบันฐานสมาชิกยังไม่มาก แต่เป้าหมายหลัก “แสนคน” คือสิ่งที่ค่ายพยายามไปให้ถึง ฟาก “AIS PLAY” เข้าสู่สังเวียนนี้เช่นกัน จุดเด่นคือการมี คอนเสิร์ต รายการกีฬา ตอบโจทย์คนดู ที่ขาดไม่หนังดัง ซีรีส์เด็ดจากทั่วโลก ก็นำมาสู้ศึกชิง Eyeball เช่นกัน