ปตท. ผนึก โออาร์ เปิดตัว Swap & Go สถานีสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
กลุ่ม ปตท. เปิดตัว Swap & Go ธุรกิจให้บริการสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จ พร้อมให้บริการสถานีสลับแบตเตอรี่ 22 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ นำร่องเจาะกลุ่ม “ไรเดอร์” รับ-ส่งของเดลิเวอรี่ ให้สลับแบตไว ไปได้เร็ว รองรับการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
วันนี้ (5 ก.ค.) นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายบุญมา พนธนกรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ และนางสาวอาวีมาศ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด ร่วมเปิดตัว “สวอพ แอนด์ โก” (Swap & Go) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม โครงสร้างพื้นฐาน และเครือข่าย Battery Swapping หรือการสลับแบตเตอรี่แก่ผู้ใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ใช้งาน โดยนำร่องในกลุ่มธุรกิจบริการรับ-ส่งอาหารหรือสิ่งของ (Delivery Service) เป็นต้นแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น
นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะทวีความรุนแรงและเป็นความท้าทายของโลกทุกวันนี้ ส่งผลให้หลายประเทศต่างแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เท่ากับศูนย์ (Carbon Neutral) และเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้รูปแบบการใช้พลังงานเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานอนาคต ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“การใช้รถมอเตอร์ไซค์กลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ Delivery Service และแนวโน้มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยก็เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของแนวคิดการออกแบบธุรกิจเพื่อเป็นต้นแบบนวัตกรรมด้านพลังงานให้กับประเทศ อย่าง Swap & Go บริษัทในเครือ ปตท. ที่ให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ เป็นการสร้าง Business Ecosystem ที่เพิ่มศักยภาพการใช้พลังงานสะอาด สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สร้างการเติบโตทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน”
โดยในปี 2564 จะเปิดให้บริการสถานีสลับแบตเตอรี่ จำนวน 22 แห่ง ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น ภายในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น จำนวน 19 แห่ง และพื้นที่ภายนอก พีทีที สเตชั่น อีก 3 แห่ง ที่พร้อมนำร่องให้บริการลูกค้าในกลุ่ม Delivery Service และมีแผนขยายการให้บริการในกลุ่มลูกค้าอื่น ๆ ในระยะถัดไป
นายบุญมา พนธนกรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) กล่าวว่า โออาร์ เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดมลพิษและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และมีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น กว่า 2,000 แห่งที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทยที่พร้อม Transform ให้รองรับการใช้งานยานยานต์ไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางทุกรูปแบบ
ปัจจุบัน โออาร์ ได้วางเครือข่ายสถานีชาร์จ EV Station ในพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น แล้วกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนจะขยายเป็น 100 แห่งครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศภายในปี 2564 และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 300 แห่งในปี 2565 เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล ยิ่งไปกว่านั้น โออาร์ เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมและพลังงานสะอาดโดยได้ ร่วมวางเครือข่ายสถานีสลับแบตเตอรี่ปูพรมให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั่วกรุงเทพฯ เพื่อทดลองรูปแบบการดำเนินธุรกิจมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสำหรับกลุ่มธุรกิจบริการรับ-ส่งอาหารหรือสิ่งของ สร้างความมั่นใจในการใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้แก่กลุ่มไรเดอร์ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งอาจต่อยอดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจใช้บริการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้เข้ามาใช้บริการภายใน พีทีที สเตชั่น ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ โออาร์ ยังได้พัฒนารูปแบบของ พีทีที สเตชั่น อย่างต่อเนื่องด้วยแนวคิด “Living Community” เพื่อให้ พีทีที สเตชั่น เป็นมากกว่าสถานีบริการน้ำมัน แต่ยังเป็นสถานที่ที่จะเติมเต็มความสุข ความอุ่นใจระหว่างเดินทาง เพิ่มธุรกิจใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ เป็นจุดนัดพบหรือพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนสามารถเป็นช่องทางเสริมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนใกล้เคียงให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
นางสาวอาวีมาศ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ขับขี่ให้บริการ Delivery หรือ ไรเดอร์ พบว่า ต้องการใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่สามารถรองรับการให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องเพื่อทำรายได้สูงสุด และปัญหาหลักที่ทำให้ยังไม่สามารถเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้ คือแบตเตอรี่ที่ต้องใช้เวลานานในการรอชาร์จ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริง เราจึงเล็งเห็นว่ารูปแบบธุรกิจการให้บริการสลับแบตเตอรี่นี้ สามารถตอบโจทย์การใช้งานให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นออกแบบกระบวนการใช้งานให้ง่าย สะดวก และทันสมัย ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Swap & Go เชื่อมต่อกับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่รองรับการใช้งาน เพื่อตรวจสอบปริมาณแบตเตอรี่ ค้นหาตำแหน่งสถานีสลับแบตเตอรี่ จองแบตเตอรี่ใหม่ล่วงหน้า และมีระบบนำทางไปยังสถานี เมื่อไปถึงสถานีแล้ว สามารถสแกน QR code เพื่อสลับแบตเดิมที่หมดกับแบตใหม่ที่พร้อมใช้งานในตู้ชาร์จด้วยตัวเองได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
โดย Swap & Go มุ่งสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และให้บริการที่เหมาะสมกับสังคมไทย โดยได้นำร่องการพัฒนาตู้แบตเตอรี่ ระบบการชาร์จไฟ และการเชื่อมต่อเครือข่ายกับผู้ผลิตและให้บริการแบตเตอรี่สวอพชั้นนำจากประเทศจีน รวมทั้งจัดหารถมอเตอร์ไฟฟ้าที่สามารถสลับแบตเตอรี่ได้ มาให้บริการในระบบ จากแบรนด์ Molinks รุ่น
ทั้งนี้ B-Swap ของค่าย Xiaomi บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก และอยู่ระหว่างการพัฒนามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานในอนาคต นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับบริษัทใน กลุ่ม ปตท. ในการพัฒนาแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ ให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล เพื่อให้ใช้งานกับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้อีกด้วย