'เฉลิมชัย' ระดม 6 พันคลินิก เปิดฮอตไลน์สายด่วนใช้ 'สมุนไพร-ตำรับยาไทย' รักษาโควิด
“เฉลิมชัย” เปิดแนวรุกสมุนไพรฝ่าแนวรบโควิด-19 จับมือกระทรวงสาธารณสุขและสภาการแพทย์แผนไทย ระดม 6 พันคลีนิค พร้อมฮอตไลน์สายด่วนใช้ "สมุนไพร" และ "ตำรับยาไทย" ร่วมรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เตรียมคิกออฟ "เพชรบุรีโมเดล" เดินหน้าการแพทย์ทางร่วม 3 แนวทาง
เมื่อวันที่ 7 ก.ค.64 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร แถลงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงมากขึ้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้เร่งส่งเสริมพืช "สมุนไพร" และ "ตำรับยาไทย" เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19
โดยผนึกความร่วมมือกับสภาการแพทย์แผนไทยและกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จากข้อสั่งการดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดการประชุมหารือโดยประสานกับ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานและมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ นายกสภาการแพทย์แผนไทย พันเอกนายแพทย์ พงศ์ศักดิ์ ตั้งคณา ประธานมูลนิธิจิตเป็นผู้ให้ใจเป็นนิพพาน นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมกสรแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ รศ.ดร.ธัญญะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พท.ภ.บัญชา สุวรรณธาดา ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาการแพทย์ไทนร่วมสมัย ฯลฯ
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า พร้อมดำเนินแนวทางการแพทย์ทางร่วมระหว่าง การแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยโดยใช้ "สมุนไพร" และ "ตำรับยาไทย" ควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน ซึ่งมี 3 แนวทางในการขับเคลื่อน ดังนี้
- แนวทางการป้องกันการติดเชื้อโดยใช้เครื่องยาสมุนไพรและตำรับยาไทย
- แนวทางการรักษาผู้ป่วยด้วยยาแผนปัจจุบัน เครื่องยาสมุนไพรและตำรับยาไทย
- แนวทางการฟื้นฟูผู้ป่วยหลังการรักษาโดยเฉพาะกรณี Long COVID Syndrome
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า สภาการแพทย์แผนไทยแจ้งว่า ปัจจุบันมีคลีนิคแพทย์แผนไทย 6,000 คลินิค และแพทย์แผนไทยกว่า 30,000 คนรวมทั้งศูนย์ฮ็อทไลน์แพทย์แผนไทยที่มีอยู่ทุกภาค นอกจากนี้ยังมีคลีนิคจิตอาสาแพทย์แผนไทยอีก 60 แห่ง และคลังยา "สมุนไพร" และ "ตำรับยาไทย" ของสภาการแพทย์แผนไทยที่พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ขณะที่รองอธิบดีกรมแพทย์แผนไทย แจ้งว่ากระทรวงสาธารสุขมีแพทย์แผนไทยประจำโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และมีการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามเช่น กรุงเทพฯ นครปฐม และเพชรบุรี
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ควรเริ่มทดสอบแนวทางการแพทย์ทางร่วมที่โรงพยาบาลสนามจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีความพร้อมมากที่สุดเป็นแห่งแรกตามข้อเสนอของ พอ.นายแพทย์พงศพศักดิ์ ตั้งคณาโดยให้มีการจัดกลุ่มผู้ป่วยตามกลุ่มยาและให้ตรวจเลือดผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการบำบัดรักษาเพื่อวัดผลลัพธ์หากได้ผลดีจะขยายผลต่อไป
"จากนั้นได้มีการประชุมต่อเนื่องที่จังหวัดเพชรบุรีเมื่อวานนี้ (วันที่ 6 ก.ค.) เป็นการประชุมร่วมระหว่าง ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี สาธารณสุขจังหวัด ทีมแพทย์แผนไทยเพชรบุรี พ.อ.นายแพทย์ พงศ์ศักดิ์ ตั้งคณา โดยนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีเห็นด้วยและพร้อมดำเนินการในการรักษาผู้ป่วยตามแนวทางการแพทย์ทางร่วม ทั้งนี้ ในส่วนสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรียินดีที่จะดำเนินการทันทีที่มีคำสั่งจากกระทรวงสาธารณสุขให้สามารถดำเนินการทดสอบดังกล่าวโดย พ.อ.นายแพทย์ พงศ์ศักดิ์แจ้งว่าพร้อมร่วมดำเนินการทดสอบและจะเป็นผู้สนับสนุนเครื่องยา และตำรับยาไทย เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย เบญจโลกวิเขียร (5ราก) จันทน์ลีลาเป็นต้น" นายอลงกรณ์ กล่าว
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมสมุนไพรไทยอย่างต่อเนื่องภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยขับเคลื่อนนโยบายผ่านแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยประกอบด้วย 5 ด้านคือ
- ด้านยุทธศาสตร์สมุนไพรแห่งชาติ
- ด้านการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพร
- ด้านวัตถุดิบสมุนไพร
- ด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร
- ด้านส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร
ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากการดำเนินการที่ผ่านมาได้สนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพร 64,917 ไร่ จำนวน 80 ชนิด แบ่งเป็น พื้นที่ที่มาตรฐาน GAP จำนวน 54,755 ไร่ พื้นที่ที่มาตรฐาน Organic Thailand จำนวน 13,162 ไร่ พร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 60 กลุ่มและมีการจัดทำมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพรตามกลุ่มของส่วนที่ใช้ของพืช จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่
- ฉบับที่ 1 หัว เหง้า และราก
- ฉบับที่ 2 ใบ ส่วนเหนือดิน และทั้งต้น
- ฉบับที่ 3 ดอก พืช สมุนไพรแห้ง
- ฉบับที่ 4 ผลและเมล็ด
- ฉบับที่ 5 เปลือกและเนื้อไม้
นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังมีการพัฒนาบุคลากรเพื่อตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร รวมทั้งแผนดำเนินการปรับปรุงห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 17025 เพื่อให้บริการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และได้จัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) จำนวน 24 ชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ไพล บัวบก กระชายดำ กระชายเหลือง กระวาน ข่า ขิง คำฝอย ตะไคร้ บุก พริกไทย ว่านชักมดลูก กระเจี๊ยบแดง เก๊กฮวย ดีปลี บอระเพ็ด พญายอ เพชรสังฆาต มะระขี้นก มะลิ มะแว้งเครือ และมะแว้งต้น
รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพร เพื่อให้มีฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกสมุนไพรที่ชัดเจนสามารถส่งเสริมเกษตรกรได้ โดยมีฐานข้อมูลสมุนไพร ประกอบด้วย
- ข้อมูลพื้นที่ปลูกสมุนไพร จากกรมส่งเสริมการเกษตร
- ข้อมูล Land Suitability (แผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร) จากกรมพัฒนาที่ดิน
- ข้อมูลพืชสมุนไพรที่ได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร
- ข้อมูลพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพร ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ทั้งนี้ สมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจ และพืชสุขภาพใช้ประโยชน์หลากหลายทั้งในการประกอบอาหารเป็นยารักษาโรค อาหารเสริมดูแลสุขภาพ และเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ปัจจุบันความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากมูลค่าการบริโภควัตถุดิบสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 43,100 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 52,100 ล้านบาทในปี 2462 ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ และมุ่งเน้นใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมากขึ้นทำให้เกิดแรงหนุนเรื่องธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ รวมถึงโครงสร้างประชากรและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องสังคมผู้สูงอายุ และกระแสค่านิยมการบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้นโดยเฉพาะในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เกษตรกรจะมีรายได้แน่นอนและมั่นคงถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ
นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการส่งเสริมการแปรรูปสมุนไพรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสำหรับตลาดในประเทศและต่างประเทศแทนการส่งออกสมุนไพรในรูปของวัตถุดิบโดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19
“ล่าสุด ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห่วงใยประชาชนจึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนและร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาลโดยใช้ 3 แนวทางป้องกัน-รักษา-ฟื้นฟู ด้วยสมุนไพรและตำรับยาไทยเสริมการแพทย์แผนปัจจุบัน พร้อมกับชี้แนะว่าประเทศจีนคือตัวอย่างของประเทศที่ใช้สมุนไพรและตำรับยาจีนควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบันสู้กับโควิด-19 จนประสบความสำเร็จ ซึ่งสมุนไพรและตำรับยาไทยใช้มาหลายร้อยปีได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยประชาชนคนไทยมาในแต่ละยุคแต่ละสมัยให้อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้ การเสริมการแพทย์แผนปัจจุบันด้วยการแพทย์แผนไทยจะช่วยแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และควรทำพร้อมกันทั่วประเทศ” นายอลงกรณ์ กล่าวในที่สุด