ล็อกดาวน์ป่วนตลาดทุน-ตลาดเงิน หุ้นร่วง 33 จุด บาทอ่อนค่าในรอบ 14 เดือน
ดัชนีหุ้นไทยร่วงหนัก 32.93 จุด ผวาล็อกดาวน์ประเทศ โบรกฯ เชื่อไม่หลุด 1,500 จุด แนะถือเงินสดรอช้อนหุ้นช่วงตลาดปรับฐาน แต่ระยะกลางยาว แนะนำซื้อหุ้นอิงเศรษฐกิจต่างประเทศ เหตุแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่า ฝั่งค่าเงินบาทอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน
ตลาดหุ้นไทยวานนี้ (8 ก.ค.) ปรับตัวลงตั้งแต่เปิดตลาดและร่วงแรง 36.04 จุด ในช่วงบ่ายก่อนกลับมาปิดที่ 1,543.67 จุด ลดลง 32.93 จุด หรือ 2.09% มูลค่าการซื้อขายรวม 110,954.67 ล้านบาท จากความกังวลล็อกดาวน์ คุมโควิดหลังผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 1,863.98 ล้านบาท กลุ่มนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 1,016.20 ล้านบาท และนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 4.59 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิ 2,884.77 ล้านบาท
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงจากความกังวลตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งแตะ 7,000 รายเป็นครั้งแรก โดยกว่า 70% ของผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า เช่นเดียวกับ 50% ของผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัด รวมถึงปัจจัยกดดันจากกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงแรงเป็นลำดับที่ 2 ของภูมิภาค เป็นรองเพียงตลาดหุ้นฮ่องกง
ทั้งนี้ หากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศตามรายงานข่าว ที่ออกมาคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2564 จะติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ไม่มีการล็อกดาวน์ และจะส่งผลต่อเนื่องมายังกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ให้ปรับตัวลง หรือฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาดการณ์ จากเดิมถูกผลกระทบจากมาตรการแบ่งโซนสีในเดือน เม.ย. และมาตรการคุมเข้ม 10 จังหวัดล่าสุดในช่วงปลายเดือน มิ.ย. โดยคาดว่าหากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์จะส่งผลให้กำไรบจ.ไตรมาส 3 เป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ และคาดว่าจะเห็นการทยอยปรับประมาณการกำไรของนักวิเคราะห์ในช่วงเดือน ส.ค.
คาดหุ้นร่วงต่อ 2-3 วัน
ขณะที่ ผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นปรับตัวลงราว 2-3 วันทำการ โดยมองแนวรับไม่เกิน 1,510 จุด ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของเส้นค่าเฉลี่ย (EMA) 200 วัน แต่มีโอกาสฟื้นตัวอยู่ภายใต้สมมติฐานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันทยอยลดลงภายหลังการล็อกดาวน์ ส่วนระยะสั้น คาดว่าตลาดหุ้นจะเผชิญความผันผวนจนกว่ามาตรการล็อกดาวน์จะมีความชัดเจน
ดังนั้น การลงทุนจึงแนะนำเลือกลงทุนรายตัว (Selective Buy) ให้มากขึ้น โดยเน้นกลุ่มหุ้นที่มีความปลอดภัยทนทาน (Defensive) ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และกลุ่มโรงไฟฟ้า บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) รวมถึงหุ้นแนวโน้มกำไรครึ่งหลังฟื้นตัว บมจ.เอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS) และ บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) โดยแนะนำถือหุ้นราว 75% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด ส่วนอีก 25% แนะนำถือเงินสดเพื่อเข้าซื้อหุ้นช่วงตลาดย่อตัวใกล้แนวรับ 1,510 จุด
บล.ซีไอเอ็มบีฯ คาดรัฐรับข้อเสนอ สธ.
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า คาดว่ารัฐบาล จะประกาศล็อกดาวน์ตามคำแนะนำของแพทย์และนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำเสนอ ภายหลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศและจำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) และคาดว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลง รับปัจจัยลบมาอยู่ที่ 1,530-1,520 จุด ตามลำดับ หรือปรับลงจากจุดสูงสุดของปีนี้ประมาณ 6.6-7.2% ใกล้เคียงกับการปรับลงของตลาดหุ้นในภูมิภาคที่เผชิญสถานการณ์เดียวกัน
อย่างไรก็ดี คาดว่าดัชนีจะปรับลงเพียง 1 วันทำการ และคาดหวังการฟื้นตัวในวัดถัดไป เพราะตลาดหุ้นทยอยตอบรับปัจจัยลบไปบ้างแล้ว สะท้อนจากการปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมา (7-8 ก.ค.) แต่การฟื้นตัวอยู่ภายใต้สมมติฐานจำนวนผู้ติดเชื้อจะทยอยลดลงในช่วง 14 วันที่ล็อกดาวน์ ขณะที่การลงทุนมองการปรับตัวลงตอบรับข่าวล็อกดาวน์เป็นโอกาสเข้าซื้อลงทุน โดยแนะนำซื้อเก็งกำไรกลุ่มหุ้นที่ราคาถูกผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อรับการฟื้นตัวในระยะถัดไป เช่น กลุ่มโรงแรม กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มห้างสรรพสินค้า
แต่การลงทุนระยะกลาง-ยาว แนะนำซื้อกลุ่มหุ้นที่อิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจต่างประเทศ (Global Play) เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวจากการทยอยเปิดประเทศ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มโรงกลั่น และกลุ่มปิโตรเคมี ส่วนหุ้นอิงกับเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Play) คาดว่าจะต้องใช้เวลากว่าที่จะฟื้นตัว เพราะคาดว่ารัฐบาลจะไม่สามารถเปิดประเทศได้ภายใน 90 วันที่เหลือจากเป้าหมายที่ประกาศเอาไว้ภายใน 120 วัน
"หยวนต้า" ชี้ล็อกดาวน์หุ้นปรับฐานวันเดียวจบ
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทประเมินผลกระทบจากต่อตลาดหุ้น 3 กรณี ได้แก่ 1. กรณีล็อกดาวน์ในพื้นที่วงกว้างขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด (ยังเปิดภาคการผลิตตามปกติ) คาดว่าแนวรับดัชนีที่บริเวณ 1,550 จุดจะยังทำงานได้ดี 2. กรณีล็อกดาวน์ทั้งประเทศ คาดว่าดัชนีจะอ่อนตัวลงทดสอบแนวรับถัดไปที่กรอบ 1,540-1,530 จุด ตามลำดับ ก่อนจะฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง และ 3. กรณียังไม่มีการยกระดับมาตรการควบคุม คาดว่าดัชนีจะแกว่งออกด้านข้างในกรอบกว้าง 1,550-1,600 จุด โดยจะขึ้นลงรายวันตามรายงานยอดผู้ติดเชื้อ-19
"หากล็อกดาวน์เราคาดว่าตลาดหุ้นจะปรับฐานลงในวันเดียวแล้วจบ แต่มีเงื่อนไหวว่าจำนวนผู้ติดเชื้อต้องลดลงในช่วงที่ล็อกดาวน์ แม้ในช่วง 1 สัปดาห์หลังล็อกดาวน์ตัวเลขจะยังพุ่งสูง คาดว่านักลงทุนยังพอรับได้ ส่วนการลงทุนคาดว่าครั้งนี้จะล็อกดาวน์ใหญ่กว่าทุกๆ ครั้ง เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูง และฐานะการเงินของประเทศแย่ลงจากกว่าตอนล็อกดาวน์ในปีก่อน ดังนั้น การลงทุนจึงแนะนำซื้อหุ้นที่งบการเงินดีจริงๆ อย่างหุ้น Global Play ในกลุ่มส่งออก กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มเดินเรือ"
"ไทยพาณิชย์" คาดไม่หลุด 1,500 จุด
นายศรชัย สุเนต์ตา กรรมการผู้จัดการ SCBS Chief Investment Office (SCB CIO) กล่าวว่า หากรัฐบาลมีการประกาศล็อกดาวน์ คาดว่าจะมีผลกระทบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยให้มีการปรับฐานลงระยะสั้น ซึ่งเชื่อว่าดัชนีจะไม่หลุด 1,500 จุด โดยมองว่าดัชนีที่ปรับลดลงมาเป็นโอกาสในการเข้าซื้อหุ้นที่ผลดำเนินงกานมีการเติบโตเนื่องจากเชื่อว่าสุดท้ายโควิดจะคลี่คลายจากการเร่งฉีดวัคซีน และถึงแม้โควิด-19 จะกลายพันธุ์แต่เชื่อว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนขึ้นมากได้ สำหรับขณะนี้คนไทยพร้อมที่จะมีการฉีดวัคซีน เพียงรอวัคซีนที่สั่งซื้อมาส่งมอบ ดังนั้นเชื่อว่าหากมีความชัดเจนวัคซีนมากขึ้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีการฟื้นตัวที่แรงและเร็ว
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังสูงในประเทศเกิดใหม่ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้า เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวได้ดี จึงแนะนำนักลงทุนเน้นลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเลือกลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่หากไทยมีความชัดเจนเปิดประเทศ ก็ค่อยปรับพอร์ตทยอยสะสมหุ้นไทยเพิ่ม
"การจัดพอร์ตแนะลงทุนหุ้น 60-65% เน้นหุ้นต่างประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะอเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น ที่เหลือกระจายลงทุนตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือกโดยยกเว้นทองคำ"
เงินบาท "อ่อนค่า" สุดรอบ 14 เดือน
เงินบาทปิดตลาดวานนี้ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ แตะระดับอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือนครั้งใหม่ อ่อนค่าลงจากเปิดตลาดที่ระดับ 32.36 บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวันแข็งค่าสุดที่ 32.35 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 32.57 บาทต่อดอลลาร์ โดยนักลงทุนเทขายเงินบาทและตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลสถานการณ์โควิดที่ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพิ่มมากขึ้น และกระแสข่าวยกการระดับคุมโควิดด้วยมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศรอบใหม่ จับตาที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศคบ.) ในวันนี้
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ควรระวังเงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามความกังวลของความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ลากยาวในปีนี้ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ต่ำ ประกอบกับความผันผวนของตลาดทุนตามการถอนมาตรการซื้อพันธบัตรเพื่อฉีดสภถาพคล่องเข้าเศรษฐกิจ (QE) ในสหรัฐ
อย่างไรก็ดี เงินบาทน่าจะกลับมาแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า ตามการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่มากขึ้นและตลาดทุนเริ่มรับรู้ข่าวและคลายความกังวลต่อมาตรการถอน QE ของสหรัฐ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กว่าที่สถานการณ์การระบาดโควิด-19 จะควบคุมได้อาจใช้เวลานานกว่า 1 เดือน จึงประเมินว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง และเสี่ยงที่จะอ่อนค่าได้ถึง ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากสถานการณ์มีแนวโน้มเลวร้ายกว่าคาดพร้อมปรับประมาณการณ์เงินบาทปลายปีอ่อนค่า กว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 30.25-31.50 บาทต่อดอลลาร์