วิศวกรสิ่งแวดล้อม แนะนำ ปชช. พื้นที่ใกล้เคียงจุดเพลิงไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

วิศวกรสิ่งแวดล้อม แนะนำ ปชช. พื้นที่ใกล้เคียงจุดเพลิงไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

วิศวกรสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ แนะนำเรื่องสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุเพลิงไหมโรงงานเม็ดพลาสติก จ.สมุทรปราการ 

รศ.ดร.จีมา ศรลัมพ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืนและสื่อสารองค์กร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานเม็ดพลาสติก ถ.กิ่งแก้ว ซ.21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม พืชผัก แหล่งน้ำ และ ดิน เพื่อใช้ชีวิตกิน – อยู่อย่างไร ให้ปลอดภัย

รศ.ดร.จีมา กล่าวแนะนำว่า ในสัปดาห์แรกของการเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่นอกบ้านหรืออาคาร และควรสวมใส่หน้ากากที่มีการกรองละเอียด เช่น N95 หรือ หน้ากากที่มีตัวกรอง เช่นถ่านกัมมันต์ติดอยู่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า อากาศที่หายใจเข้าไปปราศจากมลพิษ แนะนำให้ใส่เสื้อแขนยาว ดีกว่าแขนสั้นเพื่อผิวหนังจะไม่สัมผัสกับมลสาร (บางคนเกิดอาการแพ้) และฉีดพ่นล้างทำความสะอาดภายนอกตัวบ้านเพื่อชะล้างสารมลพิษต่างๆ   

1626076719100

ในเรื่องสภาพอากาศนั้น เป็นไปตามรัศมีวงรอบ ยิ่งใกล้ก็ยิ่งมีสารมลพิษอยู่ เพราะเวลาไฟไหม้ส่วนที่ใกล้ก็มีความเข้มข้นของสารมลพิษ แต่โลกเราโชคดีที่บรรยากาศมีลมมาช่วยกระจายมลพิษให้กระจายตัว (ทั้งแนวราบ หรือขึ้นด้านบน) รวมทั้งสลายตัวไปเองตามธรรมชาติ หลังจากไฟหยุดไหม้ 2-3 วัน มลพิษก็น่าจะหมดไปจากพื้นที่โปร่งโล่ง สำหรับคำถามเกี่ยวกับพืชผักที่ปลูกในบริเวณใกล้เคียงจุดเกิดเหตุในรัศมี 3 กิโลเมตร นั้นสามารถนำไปบริโภคได้หรือไม่


รศ.ดร.จีมา ให้คำแนะนำว่า ผักและต้นไม้ในบริเวณดังกล่าวได้รับสารมลพิษแบบชั่วคราว ไม่ได้รับตลอดเวลา ดังนั้นจึงซึมเข้าผิวใบหรือลำต้นของพืชผักและต้นไม้น้อยมาก อาจจะมีสารมลพิษเกาะอยู่ที่ใบไม้บ้าง เมื่อมีฝนตกลงมาฝนก็จะชะสารมลพิษลงดิน หรือเวลาเรารดน้ำต้นไม้ ล้างใบไม้ สารมลพิษก็จะหลุดจากใบของพืชผักลงไปที่ดิน ส่วนดิน ก็ไม่ต้องกังวล

เนื่องจาก 1) ปริมาณสารเคมีในดินของเราน้อยมาก เพราะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว 2) สารมลพิษเป็นไฮโดรคาร์บอนที่จุลินทรีย์ในธรรมชาติของดินเองสามารถจะย่อยสลายไปได้โดยธรรมชาติ ไม่ตกค้างมากมาย เมื่อเทียบกับการที่ใช้ปุ๋ยเคมี หากมีความกังวล เวลาเก็บผักมาบริโภคสามารถนำผักไปแช่น้ำเกลือและล้างน้ำแบบผ่านน้ำเป็นเวลานานๆ ได้

ในเรื่องของการดื่ม-ใช้น้ำประปานั้น คนในพื้นที่กทม. และปริมณฑล (รวมสมุทรปราการ) ได้รับน้ำประปาจากคลองประปาสามเสน และการประปามหาสวัสดิ์ ทั้งสองแหล่งน้ำดังกล่าวไม่ได้รับผลกระทบจากควันจากหมิงตี้เพราะอยู่ฝั่งตะวันตกของกทม. (หมิงตี้ อยู่ฝั่งตะวันออก) ไม่มีผลเลย แต่สำหรับแหล่งน้ำในพื้นที่ก็จะมีผลบ้าง แต่เป็นผลชั่วคราวเพราะเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นแค่ 2 วัน แต่เมื่อสารมลพิษลงสู่แหล่งน้ำและดินในพื้นที่ก็มีกระบวนการตามธรรมชาติมาช่วยทำให้สลายไป เช่น การเจือจาง การย่อยสลายของจุลินทรีย์ธรรมชาติในแหล่งน้ำและดิน สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือไม่จับสัตว์น้ำที่ตายผิดธรรมชาติมารับประทานเพราะอาจมีสารพิษตกค้างจากเหตุดังกล่าว