รู้จัก 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ช่วยรักษา 'โควิด-19' ไทยกำลังจะผลิตเองได้

รู้จัก 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ช่วยรักษา 'โควิด-19' ไทยกำลังจะผลิตเองได้

ข่าวดี! องค์การเภสัชกรรมอัพเดทกรณีวิจัย "ยาฟาวิพิราเวียร์" ในไทย คาดว่า ก.ค. 64 จะนำขึ้นทะเบียนกับ อย. จากนั้นไทยจะสามารถผลิตยานี้ในราคาที่ถูกกว่านำเข้า ชวนรู้จัก "ยาฟาวิพิราเวียร์" ให้มากขึ้น

หลังจากที่ ครม. ได้แถลงความคืบหน้ากรณีการวิจัยและพัฒนาการผลิต "ยาฟาวิพิราเวียร์" ในประเทศไทย พบว่าล่าสุด.. องค์การเภสัชกรรมวิจัยสำเร็จแล้ว และกำลังจะนำขึ้นทะเบียนกับ อย. จากนั้นไทยจะสามารถผลิตยานี้ในราคาที่ถูกกว่านำเข้า

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคนไทยมารู้จัก "ยาฟาวิพิราเวียร์" ให้มากขึ้น เจาะลึกว่ายาชนิดนี้ มีส่วนช่วยรักษาอาการป่วย "โควิด-19" ได้อย่างไร?

1. "ยาฟาวิพิราเวียร์" คืออะไร? 

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลในบทความวิชาการ (18 พ.ค.64) เอาไว้ว่า ฟาวิพิราเวียร์ถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ แต่เนื่องจากเป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์กว้าง จึงใช้ได้กับโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ ด้วย เช่น ชิคุนกุนยา และ โควิด-19

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ให้คำอธิบายในบทความทวิชาการ (8 ก.ค.64) ในทิศทางเดียวกันว่า ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ใหม่ๆ มีกลุ่มนักวิจัยชาวจีนได้ตรวจหาฤทธิ์ยาและสารอื่นจำนวนกว่า 70,000 ชนิด เพื่อนำมาใช้รักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัสโควิด-19

ในที่สุดก็พบยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งรวมถึงฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir), คลอโรควินฟอสเฟต (chloroquine phosphate) และ เรมเดซิเวียร์ (remdesivir)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

2. "ยาฟาวิพิราเวียร์" ใครวิจัยและค้นพบครั้งแรก?

ฟาวิพิราเวียร์ ถูกค้นพบโดยบริษัท โตยามะเคมิคอล ประเทศญี่ปุ่น ยานี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล

อีกทั้ง มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในแถบอาฟริกาตะวันตกช่วงปี พ.ศ. 2557 ถึง 2559 อีกด้วย

จากข้อมูลในอดีต ผู้ที่ใช้ยานี้ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครสุขภาพดี ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ และผู้ป่วยโรคอีโบลา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คน พบว่ายามีความปลอดภัย ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ยานี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับยาต้านโคโรนาไวรัสชนิดอื่นคือปัญหาเรื่องไวรัสดื้อยา

3. เมื่อโควิดระบาด "ฟาวิพิราเวียร์" ถูกนำมาใช้อีกครั้ง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา "ยาฟาวิพิราเวียร์" ได้รับอนุมัติในประเทศจีนให้ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ และอนุญาตให้นำมาใช้ในการศึกษาทางคลินิกกับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ส่วนในประเทศเกาหลีใต้ ในเวลา ณ ขณะนั้น ก็เร่งพิจารณาขออนุมัติทะเบียนยาแบบเร่งด่วน (fast-track approval) เพื่อใช้รักษาโควิด-19 จนมาถึงปัจจุบัน ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการยอมรับ และมีส่วนช่วยในกระบวนการรักษาโควิด-19 ทั่วโลก

4. รู้ฤทธิ์ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ต้านไวรัสได้ยังไง?

"ยาฟาวิพิราเวียร์" มีฤทธิ์ต้านไวรัสในกลุ่ม RNA virus ได้หลากหลายชนิด เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus), ไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย (foot-and-mouth disease virus), ไวรัสไข้เหลือง (yellow fever virus) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องกับไวรัสที่ก่อโรคในคนอีกหลายชนิด

โดยลักษณะการออกฤทธิ์ของฟาวิพิราเวียร์ คือ ตัวยาจะมีฤทธิ์ในการเข้าไปเปลี่ยนแปลงเอนไซม์ภายในเซลล์ของร่างกาย เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส นอกจากนี้สารสำคัญจากตัวยา ยังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติ และทำให้ไวรัสตาย ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์เมื่อกินเข้าไปแล้วจะไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนและสัตว์

ยานี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีเกือบสมบูรณ์ เกิดระดับยาสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง (ช่วงตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง) จากนั้น ยาจะถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับให้กลายเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์และถูกขับออกทางปัสสาวะได้

5. การใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" กับผู้ป่วยโควิด-19

ผศ.นพ.พิสนธิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า แพทย์จะใช้ฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รับไว้ในสถานพยาบาล โดยกรมควบคุมโรคระบุให้ใช้กับผู้ที่เริ่มมีอาการของโรค ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่ยังไม่มีอาการ หรือใช้เพื่อป้องกันโรค

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะเริ่มใช้ยานี้กับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการบางรายที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น อายุมาก เป็นเบาหวาน หรืออ้วน เป็นต้น หรือมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้น ก็สามารถใช้ยานี้ได้ในทันที แต่ต้องใช้อย่างสมเหตุผล หากนำมาใช้เกินจำเป็นจะทำให้ไวรัสดื้อยาได้

6. ไทยกำลังจะผลิต "ฟาวิพิราเวียร์" ได้แล้ว

ล่าสุด.. (13 ก.ค. 64) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศไทย ระบุว่า

ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 ทางองค์การเภสัชกรรมคาดว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นนั้น จะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจาก อย. และจากนั้นจะเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงยาอย่างเพียงพอ เมื่อทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ประเทศไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในราคาที่ถูกกว่านำเข้าอย่างมาก

โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. อภ. และ บริษัท ปตท. ที่เริ่มการวิจัยมาตั้งแต่การทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ (Laboratory scale) การถ่ายทอดเทคโนโลยี จนถึงระดับอุตสาหกรรม (Industrial scale) ตลอดจนการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Feasibility Study) ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์

---------------------

อ้างอิง : 

chulalongkornhospital

healthydee.moph