‘พิพัฒน์’ จ่ออ้อน ‘คลัง’ ขอซอฟท์โลนหมื่นล้าน รีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยวรับทัวริสต์คัมแบ็ค!
“พิพัฒน์” เตรียมนัดถก “อาคม” อ้อนขอเงินกู้ซอฟท์โลนจาก “คลัง” 1 หมื่นล้านบาท หนุนธุรกิจท่องเที่ยวกดปุ่มรีสตาร์ทรับเปิดประเทศ หลังหลายรายต้องปิดกิจการชั่วคราว เหตุไร้เงานักท่องเที่ยวต่างชาติ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งข่าวถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว เกี่ยวกับการจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน วางกรอบวงเงินเบื้องต้นที่ 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 จนถึงระลอก 4 ในปัจจุบันซึ่งยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ได้
แม้ยังไม่ได้มีการหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการกับนายอาคม รมว.คลัง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาตนอยู่ในช่วงกักตัว ส่วนนายอาคมติดภารกิจทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 โดยหลังจากการประชุมคณะกรรมาธิการฯงบประมาณแล้วเสร็จ ตนวางแผนเพื่อขอนัดหารือร่วมกับนายอาคม โดยเฉพาะประเด็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันให้สามารถเข้าถึงซอฟต์โลน อาจเป็นการกู้เงินผ่านการค้ำประกันแบบไขว้ระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง หรือค้ำไขว้ระหว่างบริษัทต่อบริษัท
“สิ่งที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯอยากหารือกับกระทรวงการคลังคือการขอซอฟท์โลนให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงได้จริง นำมาเป็นทุนในการรีสตาร์ทหรือเริ่มต้นธุรกิจอีกครั้ง หลังหลายรายต้องปิดกิจการชั่วคราวในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในช่วงที่วิกฤติโควิด-19 ระบาด ขณะที่ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศต้องหยุดการเดินทางเช่นกัน การมีเงินทุนสักก้อนจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับผู้ประกอบการในการรีสตาร์ทธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินมาใช้หมุนเวียน หรือปรับปรุงสินค้าและบริการท่องเที่ยวให้มีความพร้อมมากที่สุดในการต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง”
อย่างไรก็ตาม วงเงินที่จะปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการคงไม่ได้สูงมากนัก โดยต้องประเมินความเหมาะสมของผู้ประกอบการแต่ละบริษัทว่ามีความเหมาะสมที่จะได้รับเงินกู้ในจำนวนเท่าใด
นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการช่วยเหลือด้านสินเชื่ออื่นๆ ที่รัฐบาลออกมาตรการมาแล้ว อาทิ โครงการโกดังพักหนี้ และซอฟท์โลนเพื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมามีค่อนข้างมาก ซึ่งก็เข้าใจว่าทางธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินต่างๆ ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อออกมามากนัก เพราะกังวลว่าหากสินเชื่อที่ปล่อยออกมากลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย (NPL) ขึ้น ก็จะเป็นภาระของธนาคาร ทำให้ต้องตั้งสำรองหนี้เสียในระดับสูงอีก
“ขณะนี้มองว่ามีทางออกเดียวคือ หาวิธีเจรจากับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการรับประกันโครงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูสูงสุดที่ 40% เพิ่มเป็น 50-60% ได้หรือไม่ ซึ่งหากสามารถช่วยค้ำประกันในระดับดังกล่าวได้ คาดว่าการช่วยเหลือด้านการเงินของโครงการหรือมาตรการต่างๆ เหล่านี้ จะสามารถขับเคลื่อนได้เร็วมากขึ้น” รมว.การท่องเที่ยวฯกล่าว