4 วิธีขจัด 'ความเครียด' สะสม ในช่วงโควิด 19
'คลินิกเวชกรรม สจล.' เปิดให้คำปรึกษา 'สุขภาพใจออนไลน์' พร้อมแนะ 4 วิธีขจัดและบรรเทา 'ความเครียดสะสม'ช่วงโควิด
ท่ามกลางวิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนและการทำงานเป็นอย่างมาก ทั้งยังก่อให้เกิดความเครียด สะสมแบบที่ไม่ควรมองข้าม จนในบางครั้งอาจจะทำให้บางรายเลือกเส้นทางชีวิตที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความสูญเสียได้
ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล. นอกจากจะให้ความสำคัญกับสุขภาพทางกายของนักศึกษาและบุคลากร ผ่านการจัดตั้ง “ศูนย์บริการวัคซีนโควิด-19 พระจอมเกล้าลาดกระบัง” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว
ยังได้ตระหนักถึงปัญหา สุขภาพจิต ด้วยการให้บริการรับฟัง-ให้คำปรึกษาแบบออนไลน์ผ่าน คลินิกเวชกรรม สจล. ภายใต้การกำกับดูแลโดยคณะแพทยศาสตร์ โดยมี จิตแพทย์และนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษา เพื่อเป็นกองหนุนทางด้านจิตใจนักศึกษาและบุคลากรในช่วงปิดสถาบัน และเรียนออนไลน์ 100% จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย
- แนะ 4 วิธีขจัด 'ความเครียด' ดูแลสุขภาพจิต
ด้าน ดร.ปุณณดา จิระอานนท์ อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ และนักจิตวิทยาประจำคลินิกเวชกรรม สจล. กล่าวต่อว่า คลินิกเวชกรรม สจล. ได้เปิดให้บริการทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์มานานกว่า 4 ปี โดยพบว่า เฉพาะช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีทั้งนักศึกษา บุคลากรรายบุคคลและรายกลุ่ม ติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาจำนวนมากกว่า 570 ครั้ง
ปัญหาที่พบโดยส่วนใหญ่ คือ ปัญหาทางด้านการเรียน ความสัมพันธ์กับเพื่อน ปัญหาภายในครอบครัว ฯลฯ ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการขจัดหรือลดทอนความเครียดสะสม
ข้อแนะนำการใช้ชีวิตใน 4 แนวทาง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
Time Management: จัดสรรเวลาให้แมชต์กับไลฟ์สไตล์
การจัดสรรเวลาสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับตนเอง จะช่วยสร้างความผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดของตนเองได้เป็นอย่างดี เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง หรือเป็นงานอดิเรกอื่น ๆ
Explore Activities: ค้นหาประสบการณ์ใหม่
ด้วยการลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยทำ เพราะในช่วงนี้เป็นจังหวะดีที่นักศึกษาจะมีเวลาในการทำสิ่งใหม่ ที่อาจจะทำให้ค้นพบทักษะใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีหรือไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ฝึกตกแต่งภาพ/ตัดต่อวิดีโอ หรือลองผันตัวเขียนบล็อกเกอร์รีวิวสถานที่เที่ยว ฯลฯ
- แนะขอคำปรึกษาเชิง 'จิตวิทยา' ได้เพียงสแกนQR Code
Helping & Sharing: ปันเวลาช่วยเหลือผู้อื่น
เชื่อว่าการให้ไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งการแบ่งปันเวลาไปช่วยเหลือผู้อื่นในทางที่ตนเองถนัด ผ่านการกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่น เช่น การอ่านหนังสือเสียง เพื่อคนตาบอด ที่นอกจากจะได้ฝึกทักษะการพูด การใช้เสียงแล้ว ช่วยสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง หรือเลือกต่อยอดไปสู่การพูดจัดรายการวิทยุออนไลน์ อย่าง ‘พอดแคสต์’ (Podcast) หรือคลับเฮ้าส์ (Clubhouse) ฯลฯ
Positive Thinking: ปรับมุมคิดเชิงบวก
สำหรับปัญหา ความเครียด สิ่งที่จะแก้ไขได้ดีที่สุดคือ ตนเอง การปรับความคิดให้มองถึงข้อดีในสถานการณ์ดังกล่าว สิ่งที่ได้มากขึ้นคือ “เวลา” ที่สามารถใช้ในการทำประโยชน์ต่างๆเพื่อตนเองและคนรอบข้างได้ ดังนั้น ในช่วงวิกฤตที่นักศึกษาต้องอยู่ที่บ้านเป็นเวลาหลายเดือน ให้มองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้มีเวลาให้ตนเองและครอบครัว มีเวลา พักผ่อน ได้อย่างเต็มที่ ก่อนกลับมาทำให้ที่เรียนหนังสือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ นักศึกษาหรือบุคลากรที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเพื่อนัดหมายหรือขอรับให้คำปรึกษาเชิง จิตวิทยาได้ที่ www.facebook.com/GrowthMindCentre หรือสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่ https://office.kmitl.ac.th/osda/consulting-service สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกเวชกรรม สจล. คณะแพทยศาสตร์ โทรศัพท์ 02 329 8143 หรือ 02 329 8000 ต่อ 3633