พลิกโฉมสกินแคร์ไทย! วิศวะฯ มธ.ปรับตัวขานรับกม.ห้ามใช้ 'ครีมกันแดด'

พลิกโฉมสกินแคร์ไทย! วิศวะฯ มธ.ปรับตัวขานรับกม.ห้ามใช้ 'ครีมกันแดด'

พลิกโฉมสกินแคร์ไทย! วิศวะฯ มธ. เปิดมุมมองสะท้อนบทบาทของวิศวกรเคมี ปรับตัวขานรับ กม. ห้ามใช้ครีมกันแดดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

เมื่อ ‘ครีมกันแดด’ ตกเป็นจำเลยทางสังคม เพราะมีหลักฐานทางวิชาการชี้ชัดว่า สารเคมีบางชนิดก่อให้เกิดปัญหา ‘ปะการังฟอกขาว’ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ประเทศไทยได้ออกกฎหมายใหม่ ที่ห้ามนำเข้าและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ
เรียกได้ว่า ‘พลิกโฉมอุตสาหกรรมสกินแคร์ทั้งระบบ’ ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค โดย รศ.ดร.ภณิดา ซ้ายขวัญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ได้สะท้อนมุมมองของ ‘วิศวกรเคมี’ ที่มีต่อการบังคับใช้กฎหมายนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เพราะมีหลายองค์ประกอบที่ต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งก่อนลงมือทำ
162954995742
  • สารเคมีกับปัญหา ‘ปะการังฟอกขาว'

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยจากหลายประเทศที่ระบุว่าสารเคมีบางชนิด ก่อให้เกิดปัญหา ‘ปะการังฟอกขาว’ ซึ่งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์กันแดดอยู่ 4 ชนิด ดังนี้

  1. Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3)
  2. Octinoxate (Ethylhexyl Methoxycinnamate)
  3. 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC)
  4. Butylparaben

162954998656

งานวิจัยในประเทศไทยส่วนใหญ่ระบุตรงกันค่อนข้างชัดเจนว่า Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) และ Octinoxate (Ethylhexyl Methoxycinnamate) ส่งผลกระทบต่อสารคุมรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือ ดีเอ็นเอ (DNA) ของปะการัง
โดยไปยับยั้งการสร้างเซลล์ใหม่ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโต และก่อให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง ส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับ 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ถึงแม้จะไม่ได้ระบุสาเหตุที่ชัดเจนนัก แต่ในสาระสำคัญในประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ออกมาล่าสุด ถือว่าครอบคลุมสารเคมีทุกชนิดที่ส่งผลให้เกิด ‘ปะการังฟอกขาว’ แล้ว

          

 

  • บทบาท ‘วิศวกรเคมี’ พลิกโฉมอุตสาหกรรมสกินแคร์
               

จากการตรวจสอบย้อนหลังเกี่ยวกับข้อกฎหมายห้ามใช้ครีมกันแดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ‘ประเทศไทย’ ถือเป็นชาติแรกๆ ของโลกที่ออกกฎหมายนี้ ต่อจากรัฐฮาวาย (สหรัฐอเมริกา) และสาธารณรัฐปาเลา ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ

โดย TSE มองการเคลื่อนไหวทางกฎหมายนี้เป็น ‘ปรากฏการณ์’ ครั้งสำคัญของมนุษยชาติและการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรทางทะเล โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่การคิดค้นผลิตภัณฑ์ 

 ‘วิศวกรเคมี’ ถือเป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพลิกโฉม อุตสาหกรรมสกินแคร์ (Skincare) ด้วยการขานรับข้อกฎหมาย และช่วยหาทางแก้ไขตั้งแต่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

162955040043

  • 'TSE' ชวนผู้หลงใหลกิจกรรมทางทะเลใช้สารกันแดดรุ่นเก่า

การเติบโตของ อุตสาหกรรมสกินแคร์ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการนำสารเคมีทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้ผลลัพธ์จากการใช้งานดูเป็นธรรมชาติ แทนสารเคมีรุ่นเก่าที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสง แต่ทำให้ผิวดูขาววอกไม่เป็นธรรมชาติ

เมื่อมีกฎหมายใหม่ที่ห้ามใช้สารเคมีรุ่นใหม่เช่นนี้ ซึ่งทางออกที่ TSE มองว่าเหมาะสำหรับผู้ที่หลงใหลกิจกรรมทางทะเลที่ง่ายและใช้ได้ทันที คือการเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่ส่วนผสมของสารเคมีรุ่นบุกเบิกอย่าง ‘ไทเทเนียมไดออกไซด์’ (Titanium dioxide TiO2) และ ‘ซิงค์ออกไซด์’ Zinc Oxide โดยสังเกตได้จากฉลากที่กำกับข้างผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารเคมีรุ่นบุกเบิกทั้ง 2 ชนิด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างแน่นอน

เมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า จะพบว่ายังมีสารเคมีที่เป็นส่วนผสมจำนวนมากที่ส่งผลต่อการฟอกขาวของปะการัง อาทิ ส่วนผสมในสบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า เป็นต้น ซึ่งไม่รวมปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางสังคมอีกมากมาย

   162955042276

  • 'TSE' หนุนออกเครื่องหมายกำกับผลิตภัณฑ์

การมีกฎหมายห้ามใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีบางชนิดในพื้นที่อุทยาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องควบคู่กับการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการตรวจสอบว่าผู้ใดใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีต้องห้ามในพื้นที่อุทยาน เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก TSE จึงมีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันการออกเครื่องหมายกำกับที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้งานได้มากขึ้น

โดยไม่ส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตที่เคร่งครัดมากนัก นั่นหมายถึง การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดทั่วไปยังสามารถเลือกใช้สารเคมีที่มีขายทั่วไปได้อยู่ แต่เมื่อไหร่ที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่อุทยาน ต้องควบคุมให้ใช้งานได้เฉพาะผลิตภัณฑ์กันแดดที่ระบุว่า ‘ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล’ ซึ่งจะช่วยยกระดับการบังคับใช้กฎหมายใช้เป็นรูปธรรมและจับต้องได้มากขึ้น

162955045064

  •  ‘วิศวกรเคมี’ โอกาสของคนรุ่นใหม่

“เพราะเรื่องเคมีไม่ได้จำกัดเฉพาะในห้องแลป แต่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ซึ่งในโอกาสที่ฉลองครบรอบ 32 ปี เนื่องในวันคล้ายวันสภาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TSE (19 สิงหาคมของทุกปี) TSE มีความมุ่งมั่นที่จะส่งต่ออนาคตทางการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจด้านวิศวกรรมเคมี ให้พร้อมเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆรอบตัวและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายที่มีผลต่ออุตสาหกรรมสกินแคร์ ‘วิศวกรเคมี’ ต้องพร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน” รศ.ดร.ภณิดา ซ้ายขวัญ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับหลักสูตรวิศวกรรมเคมี พร้อมเงื่อนไขการเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ของ TSE รวมทั้งกิจกรรมครบรอบ 32 ปีเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสภาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TSE สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook Fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT