เดลตาพุ่งไม่หยุด! ‘เวียดนาม’จี้อนามัยโลกส่งวัคซีนเพิ่มด่วน
นายกฯ เวียดนามทำหนังสือถึง ผอ.อนามัยโลก เร่งโครงการโคแวกซ์ส่งวัคซีนมาให้ก่อน “อย่างเร็วที่สุดและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้” นักวิชาการชี้เสี่ยงเป็นศูนย์กลางระบาดต่อจากอินโดนีเซีย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันอังคาร (24 ส.ค.) นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ของเวียดนามทำหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เร่งให้โครงการแบ่งปันวัคซีน “โคแวกซ์” ให้ความสำคัญกับเวียดนามก่อน จัดหาวัคซีนมาให้ “โดยเร็วที่สุดและปริมาณมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
เวียดนามสกัดโควิด-19 ได้ประสบความสำเร็จเกือบตลอดปีที่ผ่านมา แต่ตั้งแต่เดือน เม.ย. การระบาดของสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นในโฮจิมินห์ซิตี้ จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมขณะนี้ 370,000 คน เกือบทั้งหมดพบตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นมา เดือนนี้การติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นเหนือระดับ 10,000 คนต่อวันเป็นครั้งแรก ทางภาคใต้ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงทุกขณะ
ส่วนการฉีดวัคซีนคนที่ฉีดครบโดสมีเพียง 2% ของประชากร 98 ล้านคน ต่ำสุดประเทศหนึ่งของเอเชีย เนื่องจากเวียดนามใช้นโยบายสกัดโรคโดยไม่รีบจัดซื้อวัคซีน ที่ดูเหมือนมีความเสี่ยงทางการเงินสูงเนื่องจากทั่วโลกขาดแคลนวัคซีนอย่างรุนแรง
นายเดล ฟิเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติในสิงคโปร์ กล่าวว่า เวียดนามคือตัวอย่างที่ดีของประเทศที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เมื่อประเทศร่ำรวยทั้งหลายในโลกคว้าวัคซีนไปก่อน
“ความเสียเปรียบนี้มีแต่รุนแรงขึ้น เมื่อประเทศเดิมๆ ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ก่อน ขณะที่ประเทศอย่างเวียดนามกำลังดิ้นรนฉีดได้ในอัตราเลขหลักเดียว”
ขณะที่นายโรเจอร์ ลอร์ด อาจารย์อาวุโสด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยคาธอลิกออสเตรเลีย ระบุ
“ถ้าอัตราการฉีดวัคซีนยังคงต่ำเกินไปเช่นนี้ เวียดนามไม่ใช่แค่แซงอินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางการระบาดรายต่อไป แต่ยังเสี่ยงเกิดการกลายพันธุ์ซึ่งเป็นไปได้มากกับคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนด้วย”
เวียดนาม ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในซัพพลายเชนโลกของแบรนด์ดังอย่างซัมซุงและไนกี้ ขณะนี้จึงต้องพยายามหาวัคซีนมาเพิ่ม และเมื่อวัคซีนส่งมอบช้า เวียดนามจึงต้องใช้การล็อกดาวน์และระดมทหารควบคุมประชาชนในโฮจิมินห์ซิตี้ไม่ให้ออกจากบ้าน ซึ่งออสเตรเลียก็ใช้วิธีการแบบเดียวกันถึงขณะนี้ได้ผลไม่มาก
“เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อสูงมาก สันนิษฐานว่าจากสายพันธุ์เดลตา การล็อกดาวน์เข้มงวดจะได้ผลน้อยลงมาก และทำให้ตามรอยโรคได้ยากเช่นกัน” นักวิชาการจากออสเตรเลียกล่าว