KWM ตั้งบริษัทย่อยต่อยอดธุรกิจพืชสมุนไพรไทยประเดิม "สเปย์ฟ้าทะลายโจร"
KWM ตั้งบริษัทย่อยจับมือ "เฮมพ์บิซ" ลุยธุรกิจสกัดพืชสมุนไพรไทย แบบครบวงจร ทั้ง กระท่อม- ฟ้าทะลายโจร- มะขามป้อม และ มะม่วงหาวมะนาวโห่ พร้อมเปิดตัวสินค้าแรก “สเปรย์สมุนไพรจากฟ้าทะลายโจร” เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
นายเอกพันธ์ วนโกสุม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เค.ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM เปิดเผยว่า มติคณะกรรมการอนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท เคดับบลิวเอชบี จำกัด ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โดย KWM ถือหุ้น 51 % นอกจากนี้ยังมีพันธมิตร ภายใต้บริษัท เฮมพ์บิซ จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจ อาทิ กลุ่มแพทย์แผนไทย กลุ่มเภสัชกร กลุ่มนักวิจัย ร่วมถือหุ้นรวม 40 % และพันธมิตร อื่นๆ 9 % เพื่อดำเนินธุรกิจสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพร รวมถึงการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าจากพืชสมุนไพร อาทิ ฟ้าทะลายโจร พืชกระท่อม มะขามป้อม มะม่วงหาวมะนาวโห่ เป็นต้น สอดรับกับความเชี่ยวชาญทางด้านการผลิตเครื่องสกัดด้วยระบบ SUPERCRITICAL FLUID CO2 EXTRACTION ที่มุ่งเน้นสารสกัดที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรไทยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ภายหลังจากที่จัดตั้งบริษัทย่อยแล้วเสร็จ บริษัทฯพร้อมเดินหน้าผลิตผลิตภัณฑ์ตัวแรกจำหน่ายสู่ตลาดภายในไตรมาส 4/2564 คือ “สเปรย์สมุนไพรจากฟ้าทะลายโจร” เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนสำหรับลงทุนกว่า 20 ล้านบาท เพื่อเช่าพื้นที่โรงงานและติดตั้งเครื่องจักร ในการสกัดสารจากพืชสมุนไพรไทย โดยโรงงานดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จและผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1/2565 ซึ่งเบื้องต้นบริษัทฯมีแผนในการผลิตผลิตภัณฑ์สินค้าจากพืชสมุนไพรเพื่อจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 2 ผลิตภัณฑ์ต่อปี ส่งผลให้ในปี2565 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้จากการสกัด ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรไทยกว่า 100 ล้านบาท จากปี 2564 ที่ตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 20-30 ล้านบาท
กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศปลดล็อกพืชกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯว่า บริษัทฯได้มีการศึกษาประโยชน์จากพืชกระท่อมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯ มีความพร้อมในการนำพืชกระท่อมมาสกัดสารสำคัญมาแปรรูปแบบต่างๆ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ ยา อาหารเสริมและเครื่องดื่ม เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงยังเป็นการต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ ในอนาคต โดยเบื้องต้นบริษัทฯ เตรียมนำพืชกระท่อมมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา(R&D) ทั้งนี้คาดว่าจะผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2565
“ KWM ดำเนินธุรกิจในแวดวงการเกษตรอยู่แล้ว ดังนั้นการต่อยอดธุรกิจในครั้งนี้จะยิ่งเป็นการยกระดับสมุนไพรไทย รวมถึงยกระดับพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย และยังเป็นการช่วยส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นหัวใจหลักของบริษัทฯ และของประเทศไทย ขณะเดียวกันล่าสุดการบริษัทฯมีกลุ่มพันธมิตร ซึ่งเป็นกลุ่มแพทย์แผนไทย กลุ่มนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรโดยตรง ยิ่งเป็นการันตีความน่าเชื่อถือ และตอกย้ำให้ KMW ก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำด้านความเชี่ยวชาญการสกัดและผลิตพืชสมุนไพรไทย แบบ one stop service ระดับต้นๆ ของประเทศ ”
ด้าน นายประกอบ วงศ์ผลวัต หนึ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นบริษัท เฮมพ์บิซ จำกัด กล่าวว่า บริษัท เฮมพ์บิซ จำกัด เป็นองค์กรธุรกิจที่ก่อตั้งโดย กลุ่มแพทย์แผนไทย กลุ่มเภสัชกร นักวิจัย รวมทั้งทีมงานที่ปรึกษาเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสมุนไพรไทย มากกว่า 20 ปี ที่มุ่งเน้นให้บริการที่ปรึกษา เสนอแนะ แนวทางสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ต้องการประกอบกิจการ เกี่ยวกับพืชสมุนไพรไทย กัญชา กัญชง และ กระท่อม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ โดยสาเหตุที่กลุ่มพันธมิตร เข้ามาร่วมลงทุนในสัดส่วน 40% ภายใต้บริษัท เคดับบลิวเอชบี จำกัด นั้น เนื่องจากมั่นใจในศักยภาพของ KWM ที่มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยี วิธีการทางเทคนิค และ Know-How ในการผลิตเครื่องจักรทางด้านเกษตร สู่การผลิตเครื่องสกัดด้วยระบบ SUPERCRITICAL FLUID CO2 EXTRACTION เพื่อสกัดสารจากพืชกัญชาและสมุนไพรไทย ซึ่งสอดคล้องและตอบโจทย์กลุ่มองค์กรทางธุรกิจ
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อดำเนินธุรกิจสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพรไทย รวมถึงการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าจากพืชสมุนไพรไทย โดยเบื้องต้นจะเป็นร่วมกันวิจัยและพัฒนาสารสกัดที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรไทย อาทิ พืชกระท่อม ฟ้าทะลายโจร มะขามป้อม เพื่อนำสารสกัดสำคัญจากพืชดังกล่าว มาวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นสูตรเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ อาทิ เครื่องสำอาง ยา อาหารเสริม และเครื่องดื่ม ดังนั้นโดยส่วนตัวมองว่าการผนึกกำลังในครั้งนี้ เป็นการสร้าง Strategic Partner ร่วมกัน โดยนำจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาต่อยอดทางธุรกิจ โดยนำพืชเศรษฐกิจไทยมาสร้างมูลค่าเพิ่มสร้างรายได้ให้ประเทศสู่การส่งออกไปยังตลาดสากล และยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรไทยอีกด้วย