'สทนช.' ป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนสร้างอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนป่าสักฯ – ลำตะคอง
"สทนช." ปูความพร้อมก่อนตั้งไข่โครงการเจาะอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนป่าสักฯ -ลำตะคอง หวังแก้วิกฤติการขาดแคลนน้ำ โคราชระยะยาว เร่งคลอดผลการศึกษาความเหมาะสมและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกมิติ หวังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นบรรทัดฐานก่อนเริ่มแผนงานก่อสร้าง
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ณ กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 กรมการสัตว์ทหารบก ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจุดปลายอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไปยังเขื่อนลำตะคองและเป็นพื้นที่จัดการวัสดุขุดจากอุโมงค์ว่า รัฐบาลมีความพยายามในการเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติอย่างรอบด้านก่อนเริ่มการก่อสร้างโครงการ
เช่นเดียวกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคองซึ่งเป็นการผันน้ำจากลุ่มน้ำข้างเคียง (ลุ่มน้ำป่าสัก) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะยาวในจังหวัดนครราชสีมา คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจาก 336 เป็น 367 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยการศึกษาที่ผ่านมาได้วิเคราะห์ปริมาณน้ำต้นทุน ความต้องการใช้น้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำลำตะคอง รวมทั้งเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายในการผันน้ำหรือจุดคุ้มทุนพบว่าทางเลือกการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำป่าสักฯ ไปยังอ่างเก็บน้ำลำตะคองมีความเป็นไปได้มากที่สุด
ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคองมีความครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม สทนช.ได้เร่งรัดการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ ซึ่งใกล้แล้วเสร็จไม่เกินเดือนกันยายนนี้ ก่อนส่งมอบให้กรมชลประทานใช้เป็นกรอบแนวทางเตรียมความพร้อมเพื่อสำรวจออกแบบ และนำมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปใช้ก่อนจะมีการก่อสร้างโครงการต่อไป
มาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หรือผลกระทบต่อป่าไม้และสัตว์ป่าในเขตป่าสงวน โดยการดำเนินการพื้นที่ดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และขอผ่อนผันในการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ตามแนวอุโมงค์ผันน้ำถึงแม้ว่าเป็นงานขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินก็ตาม เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จต้องติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ป่าไม้ และสภาพนิเวศวิทยาป่าไม้โดยรอบพื้นที่โครงการและตามแนวอุโมงค์ผันน้ำที่ลอดผ่านป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ที่ต้องสูญเสียไปในระหว่างการก่อสร้างฯ พร้อมทั้งมีแนวทางจัดการวัสดุขุดจากอุโมงค์ผันน้ำให้มีความชัดเจน เช่น ระบบระบายน้ำและบ่อดักตะกอน รอบๆ พื้นที่ทิ้งวัสดุขุดจากอุโมงค์ พร้อมทั้งการจัดทำระบบป้องกันแผ่นดินไหวตามมาตรฐานสากล การควบคุมคุณภาพน้ำผิวดินและใต้ดิน การชดเชยที่ดินและทรัพย์สินที่เหมาะสมเป็นธรรม เป็นต้น
นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำผันเพิ่มขึ้น 60 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค เพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อการทำเกษตรครอบคลุมพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง 154,195 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 77,600 ครัวเรือน และรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 14,400 บาท/ปี ซึ่งการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี จะทำในช่วงฤดูน้ำหลาก (ก.ค. – ต.ค.) เท่านั้น และผันน้ำส่วนเกินของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไปยังเขื่อนลำตะคอง 60 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยมีเกณฑ์กำหนดว่าหากปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักมีระดับลดลงเกิน 1 เมตรจากจุดสูงสุดของเส้นระดับควบคุมปริมาณน้ำ จะหยุดผันน้ำทันที ซึ่งโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำป่าสักชลสิทธิ์ สถานีสูบน้ำเพิ่มแรงดัน (วัดพุทธานนท์) อุโมงค์ผันน้ำยาวประมาณ 20 กิโลเมตร และระบบท่อผันน้ำจากสถานีสูบน้ำป่าสัก-สถานีสูบน้ำเพิ่มแรงดัน-ปากอุโมงค์ และท่อผันน้ำจากปลายอุโมงค์-อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ความยาวท่อผันน้ำประมาณ 23 กิโลเมตร รวมความยาวการผันน้ำทั้งสิ้น 43 กิโลเมตร
“จ.นครราชสีมา มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง และมีปัญหาปริมาณฝนทิ้งช่วงสูงสุดถึง 21 วัน เมื่อปี 2558 ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเทศบาลนครนครราชสีมาดึงปริมาณน้ำดิบไม่เกิน 35,000 ลบ.ม./วัน จากเขื่อนลำแชะมาใช้ในการผลิตน้ำประปา รวมกับแผนพัฒนาแหล่งน้ำที่มีแผนดำเนินการแบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำกลางและขนาดเล็กที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 43 ล้าน ลบ.ม. แต่แนวทางการผันน้ำจากลุ่มน้ำป่าสักหรือลุ่มน้ำข้างเคียงมาเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนลำตะคองได้เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำลำตะคองอย่างยั่งยืน รวมถึงลดปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำป่าสักได้ด้วยเช่นกัน” ดร.สมเกียรติ กล่าว