‘ชินวรณ์’ติดตามใกล้ชิดแก้ รธน.วาระ 3-โฆษก ปชป.เชื่อผ่านไร้ปัญหา

‘ชินวรณ์’ติดตามใกล้ชิดแก้ รธน.วาระ 3-โฆษก ปชป.เชื่อผ่านไร้ปัญหา

“โฆษก ปชป.” เผยขั้นตอนการลงมติแก้ไขร่าง รธน. วาระ 3 “ชินวรณ์” ติดตามอย่างใกล้ชิด ยัน “หน.พรรค” ประกาศชัดแต่ต้น แก้ระบบบัตรเลือกตั้ง เพื่อความเป็นประชาธิปไตย เชื่อผ่านได้ไม่น่ามีปัญหา ชี้เป็นสิทธิสมาชิกรัฐสภายื่น “ศาล รธน.” ตีความ

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศชัดตั้งแต่เริ่มต้นในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น จุดเริ่มต้นในการแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้งเพื่อให้สิทธิและเสรีภาพกับประชาชนเพิ่มมากขึ้นในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ให้สามารถเลือกได้ทั้งคนทั้งพรรค โดยผ่านบัตรเลือกตั้งสองใบ

นายราเมศ กล่าวว่า ในส่วนของพรรค มีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 และมาตรา 91 ได้ติดตามและแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าในวาระ 3 สมาชิกรัฐสภาจะให้ความเห็นชอบ ตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ให้ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ต้องมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ในจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งนั้นต้องมี ส.ส.ในส่วนของฝ่ายค้านเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคฝ่ายค้านรวมกัน และต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม คือจำนวน 84 คน ฉะนั้นหลักการในวาระ 3 คือ ต้องมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ในจำนวนนั้นต้องมีร้อยละยี่สิบของฝ่ายค้านและมี ส.ว. 84 คน ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงจะผ่านจากรัฐสภาได้ ขณะนี้มี ส.ส.ที่ยังปฏิบัติหน้าที่มีจำนวน 482 คน และ ส.ว. มีจำนวน 250 คน 
 

นายราเมศ กล่าวอีกว่า หากมองเสียงของ ส.ว.ทั้งในวาระที่ 1 ที่มีมติรับหลักการ ถึง 210 คน  และ วาระที่ 2 มีคะแนนเสียงของ ส.ว.เป็นจำนวนมากเกินกว่า 84 คน ให้ความเห็นชอบ ทั้งสองวาระ ดังนั้นในวาระที่ 3 ที่จะลงมติคาดว่าไม่มีปัญหาใด เพราะ ส.ว.ให้ความเห็นชอบในแต่ละมาตราในวาระ 2 ที่แก้ไขมาแล้ว 

“แต่ท้ายที่สุดก็เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาว่าจะลงมติไปในทิศทางใด และเป็นสิทธิของสมาชิกอีกเช่นกันที่จะเข้าชื่อกันจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของ ส.ส.หรือ ส.ว.หรือหนึ่งในสิบของทั้ง ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน เพื่อยื่นต่อประธานสภา ให้ส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความชอบได้ หากมีการยื่นรัฐธรรมนูญก็กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน” นายราเมศ กล่าว
 

นายราเมศ กล่าวด้วยว่า เจตนารมณ์ของพรรคชัดเจนตั้งแต่ต้น เป็นร่างของพรรคที่ผ่านความเห็นชอบมาแล้วสองวาระ ถือว่าเป็นการนำร่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ให้ประชาชนมีทางเลือก มีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตกับตัดสินใจเลือกพรรค แยกออกจากกันได้ ท้ายที่สุดผลการลงมติออกมาเป็นเช่นไร ก็ต้องเคารพในการตัดสินใจซึ่งกันและกัน ส.ส.แต่ละพรรคการเมือง และวุฒิสมาชิก ก็มีสิทธิที่จะใช้ดุลยพินิจ